คอลัมนิสต์

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก" : รายงาน   โดย... ทีมข่าวรายงานพิศษ

 

          หลังจากนักวิจัยเปิดข้อมูลหลักฐานการถ่ายทอดพิษจากยาฆ่าหญ้าผ่านสายสะดือแม่ไปสู่ทารกน้อย ทำให้วงการแพทย์สาธารณสุขและนักวิชาการออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารพิษเหล่านี้ เพราะ 50 กว่าประเทศทั่วโลกประกาศห้ามใช้แล้ว...

          “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” มี “มติ” เมื่อเดือนเมษายน 2560 ขอให้ “ยกเลิก” การใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ “พาราควอต”ยาฆ่าหญ้า กับ “คลอร์ไพริฟอส” ยาฆ่าแมลง และต้องไม่ให้ขึ้นทะเบียนหรือต่ออายุทะเบียน ที่สำคัญคือขอให้ยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ประเภท ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เพราะปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ ที่สำคัญคือประเทศเกษตรกรรม 53 ประเทศห้ามใช้เด็ดขาดแล้ว และอีก 15 ประเทศควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          แต่ผลปรากฏว่า “มติ” ข้างต้น ถูกเพิกเฉยจากผู้บริหารกลุ่มหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอำนาจในดูแลสารเคมีพิษร้ายเหล่านี้ ด้วยการพยายามทำให้ขั้นตอนยืดเยื้อออกไป พร้อมอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เช่น งานวิจัยไม่หนักแน่นพอ ไม่มีสารเคมีตัวอื่นทดแทนในราคาเดียวกัน ฯลฯ บวกกับกระแสข่าวพลังภายในของกลุ่มธุรกิจค้าสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาผลักดันไม่ให้ “ยกเลิก” ...เพราะหมายถึงเม็ดเงินกำไรมหาศาลจะหดหายไป

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"


          ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ปี 2559 ไทยนำเข้าสารพิษ 2 ตัวข้างต้น 33 ล้านกิโลกรัม มูลค่าเกือบ 2.5 พันล้านบาท ส่วนปี 2560 พุ่งเป็น 35 ล้านกิโลกรัม

          เมื่อมติ “ยกเลิก” หรือสั่งให้ “แบน” ไม่ได้รับการตอบสนอง กลุ่มนักวิชาการเริ่มทนไม่ไหว จัดเวทีงัดข้อมูลงานวิจัยหลายชิ้นออกมากดดันขอให้รีบยกเลิกอย่าหมกเม็ดใดๆ ทั้งสิ้น

          เพราะถ้าคนไทยยังใช้สารพิษในแปลงผัก ไร่อ้อย ไร่ยางพารา ฯลฯ จะเกิดสารพิษสะสมในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ สารพิษเหล่านี้อาจไปตกค้างในอาหารและกระจายลงสู่สิ่งแวดล้อมในชุมชน ส่งผลให้สุขภาพชาวบ้านย่ำแย่เจ็บป่วยเรื้อรัง...

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          สอดคล้องกับข้อมูลจาก “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” หรือ ไทยแพน(Thai-PAN) รายงานผลปนเปื้อนของสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้ของประเทศไทย ปี 2559 พบตกค้างเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 51 สอดคล้องกับข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าผักผลไม้ในท้องตลาดมีสารพิษตกค้างสูงตั้งแต่ร้อยละ 90-100

          โดยเฉพาะสารพิษที่นิยมใช้เป็นยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” ชื่อการค้าของสารตัวนี้มีหลายยี่ห้อมากกว่า 200 ชื่อ แต่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยได้ยินบ่อย เช่น กรัมม็อกโซน, แอคชั่น, อะโกรควอท, อะโกรโซน, เฮอโบโซน, เฮอบิคิว ฯลฯ

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          ในแต่ละปีกลุ่มธุรกิจค้าขายสารเคมีเกษตรสั่งออเดอร์นำเข้า “พาราควอต” เป็นอันดับ 2 และเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของสารเคมีทั้งหมดที่ประเทศไทยนำเข้า

          ตัวอย่างประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้พาราควอตแล้ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป เพราะรู้ดีว่าพิษที่เข้าไปสะสมในร่างกายนั้น อาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน โรคระบบประสาท ผิวหนังเน่า ฯลฯ นอกจากเกษตรกรผู้ใช้สารพิษจะได้รับเข้าร่างกายโดยตรงแล้ว สารเคมีพิษยังเล็ดลอดไปตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดิน แม่น้ำลำคลอง สัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ ฯลฯ

          ล่าสุดกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการที่ร่วมกันต่อต้านสารเคมีอันตราย จัดเวทีวิชาการให้ข้อมูลประชาชนขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 หัวข้อเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต(Paraquat) ไกลโฟเซต(Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส(Chlorpyrifos)”

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์โลเวลล์ของอเมริกา พบว่าพาราควอตเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง เมื่อเกษตรกรนิยมฉีดพ่นด้วยอุปกรณ์สะพายหลัง ทำให้สัมผัสเข้าร่างกายจนถึงระดับเป็นอันตรายได้ และยังพบการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก โดยพบการตกค้าง “พาราควอต” ในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาร้อยละ 17-20 ส่วนยาฆ่าหญ้าอีกตัวคือ “ไกลโฟเซต” พบร้อย 49-54

          “หญิงตั้งท้องพบความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 6 เท่า ส่วนสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า สำหรับสารคลอร์ไพริฟอสที่ใช้ฉีดพ่นฆ่าแมลง ผลวิจัยพบเกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอสจากการหายใจสูงกว่าค่าระดับความปลอดภัยและถ่ายทอดให้ลูกผ่านทางน้ำนม ผลสำรวจแม่ 51 คน พบคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมแม่ร้อยละ 41.2 และมีทารกน้อยร้อยละ 4.8 ที่รับสารตัวนี้ผ่านทางน้ำนมแม่” ศ.ดร.พรพิมลกล่าวเตือน

          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ กล่าวถึงหลักฐานงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันพิษร้ายของพาราควอตและไกลโฟเซต มีส่วนทำให้เกิดโรคทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โรคเกี่ยวพันกับมะเร็ง

          “เจอคนไข้ที่ตายอย่างทรมานหลายรายแล้ว เพราะผิวหนังไปสัมผัส หรือกินเข้าไปโดยอุบัติเหตุ บางคนตายเพราะเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย ไตวาย และช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าโรคพาร์กินสันมีความเชื่อมโยงกับลำไส้ อาจเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษสารเคมี ไปเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ แล้วสารพิษสามารถทะลักผ่านเข้าไปทางเส้นประสาทที่อยู่ที่ลำไส้ ก่อนส่งต่อไปสมองส่วนอื่น จนเกิดโรคทางสมอง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องคัดค้านการใช้สารพิษเหล่านี้

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          และปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการกระจายสารเคมีพิษร้ายสู่สิ่งแวดล้อม

          รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ยกตัวอย่างการสำรวจพบพาราควอตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหลายพื้นที่ เช่น น่าน พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพราะพาราควอตและไกลโฟเซตดูดซับได้ดีในดิน เมื่อใช้สารเคมีสะสมต่อเนื่องซ้ำๆ หลายปี หรือใช้ปริมาณมาก ทำให้ดินสะสมสารเคมีจนอิ่มตัวแล้วคายออกมา สารเคมีเหล่านี้ถูกชะล้างออกจากดินไปสู่น้ำใต้ดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศวิทยาก็สะสมสารพิษเหล่านี้เข้าไปด้วย เช่น พืชดูดซับเข้าไปสะสมในลำต้น ผลสำรวจสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศวิทยาพื้นที่ จ.น่าน เพชรบูรณ์ และหนองบัวลำภู พบการตกค้างของสารเคมีในผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนในต่างประเทศมีรายงานพบพาราควอตตกค้างในอาหาร เช่น แป้ง เบียร์ อาหารเด็ก

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          ส่วนสารพิษ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นกลุ่ม “ยาฆ่าแมลง” ชื่อยี่ห้อยอดนิยมที่วางขายในท้องตลาด เช่น ลอร์สแบน คลอร์ไพริฟอส40 คลอริดิน40 ไดแอน40 ฯลฯ พิษร้ายของสารตัวนี้ตกค้างมากสุดในผักและผลไม้ ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า คลอร์ไพริฟอสส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กอย่างถาวร ทำให้เป็นโรคความจำสั้น ไอคิวต่ำ ฯลฯ หลายประเทศทั่วโลกประกาศเลิกใช้แล้วเช่น จีน อเมริกา สหภาพยุโรป ฯลฯ

          เมื่อสารพิษทั้ง 3 ตัวนี้มีหลักฐานงานวิจัยและงานวิชาการยืนยันแน่ชัดถึงอันตรายต่อคนใช้ คนกินและสิ่งแวดล้อม ทำไมหน่วยงานรัฐหรือผู้มีอำนาจจึงเพิกเฉย ?

          “สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงให้สื่อมวลชนฟังว่าการออกคำสั่งห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” มีมติชี้ขาด

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          หากมีมติให้ “ยกเลิก” ก็ไม่สามารถนำเข้า ซื้อขายหรือใช้ในแปลงเกษตรได้อีกต่อไป และจะหาสารเคมีตัวอื่นมาแนะนำให้เกษตรกรใช้ทดแทน

          แต่ถ้ามีมติ “ไม่ยกเลิก” กรมวิชาการเกษตรเตรียมมาตรการควบคุมดูแลไว้แล้ว 5 แนวทาง คือ 1.ขายได้เฉพาะร้านที่กำหนดและได้รับการรับรองคุณภาพ 2.เกษตรกรหรือผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ต้องผ่านการฝึกอบรมเท่านั้น 3.ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องให้ความรู้เพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี 4.กำหนดให้มีฉลากชัดเจน เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทาอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และ 5.การทบทวนให้ลดความเข้มข้นของสารเคมีลง

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          ระหว่างที่ “ฝ่ายนักวิชาการและฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ” กำลังถกเถียงกันนั้น ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง คือเกษตรกรชาวไทยที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ประจำและใช้มาเนิ่นนานหลายสิบปี ชาวนาชาวไร่รู้สึกกังวลใจกับพิษร้ายที่ตนสัมผัสอยู่เกือบทุกวันแต่ก็ปวดหัวเมื่อคิดถึงการห้ามใช้พาราควอต เพราะไม่รู้ว่าต้นทุนฆ่าหญ้าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกกี่บาท

 

คนไทยเอาไงดี ? พิษยาฆ่าหญ้า "จากแม่สู่ทารก"

 

          ตอนนี้สิ่งที่คนไทยอยากได้ยินจากทั้ง 2 ฝ่ายคือ “ทางเลือกใหม่” ว่าจะมีสารเคมีหรือสารธรรมชาติตัวใด มาช่วยกำจัดหญ้าและฆ่าแมลงได้

          โดยขอเงื่อนไขเพียง 3 ประการ คือ ปลอดภัยกว่า ประสิทธิภาพดีกว่า และราคาถูกกว่า...

          ไทยนำเข้าสารเคมีพิษร้ายมากแค่ไหน ? (ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรปี 2559)
          อันดับ 1“ไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนีย” 62 ล้านกิโลกรัม
          มูลค่า 2,944 ล้านบาท
          อันดับ 2 “พาราควอตไดคลอไรด์” มี 32 ล้านกิโลกรัม
          มูลค่า 2,110 ล้านบาท
          อันดับ 8 “คลอร์ไพริฟอส” 2 ล้านกิโลกรัม
          มูลค่า 274 ล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ