คอลัมนิสต์

อนาคตของสันติภาพคาบสมุทรเกาหลี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬา

 

การพบกันระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ อิน เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ณ หมู่บ้านปันมุนจอม เขตปลอดทหารบริเวณชายแดนสองประเทศ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีการประกาศแถลงการณ์ร่วมในชื่อ “ปฏิญญาปันมุนจอม” เพื่อปูทางสู่สันติภาพระหว่างสองชาติ และหาทางสู่การยุติสงครามเกาหลีอย่างถาวร 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก และศึกษาเหตุการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมากว่า 30 ปี ได้อธิบายไว้หลังจากเกาหลีเหนือประกาศยุติโครงการระเบิดนิวเคลียร์เมื่ออาทิตย์ก่อน ว่าการพบกันในวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการพบกันครั้งที่ 3 ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและใต้

“แต่การพบกันคราวนี้ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะปีที่แล้วมีความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีถ้าเราจำได้ เทียบกับ 2 ครั้งก่อนในสมัยคิมจอง อิล จะมีความเป็นทางการ และชาวโลกไม่ค่อยได้เห็นเหมือนคราวนี้” อาจารย์ไชยวัฒน์ระบุ พร้อมบอกอีกว่า ท่าทีของผู้นำสองชาติเมื่อวันที่ 27 เมษายน ทำให้เห็นว่าทั้งสองชาติต้องการปรองดองอย่างจริงจัง

รูปถ่ายที่ปรากฏเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ในหมู่บ้านปันมุนจอม สะท้อนให้เห็นภาพของผู้นำเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่มีท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส จูงไม้จูงมือกะหนุงกะหนิง ราวกับเป็นญาติพี่น้องที่ห่างเหินมาเจอกัน คือหลักฐานที่ชี้ว่าทั้งสองชาติต้องการปรองดองและอยู่ร่วมกัน และพร้อมที่จะแก้ปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี

แต่ตัวปฏิญญาปันมุนจอมเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แถลงการณ์ดังกล่าวมีการระบุว่าคาบสมุทรเกาหลีต้องปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับแถลงการณ์เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ต้องการให้มีการ Denuclearization ในคาบสมุทรเกาหลี

“นับตั้งแต่หยุดยิงเมื่อปี ค.ศ.1953 เกาหลีเหนือตกอยู่ภายใต้การข่มขู่ของสหรัฐมา 33 ปี เพราะสหรัฐเอาอาวุธนิวเคลียร์เขาไปตั้งในเกาหลีใต้ ซึ่งละเมิดข้อตกลงปี 1953 พอปี 91 (ค.ศ1991) ถึงได้เปลี่ยนไปติดตั้งอาวุธอย่างอื่นแทน ถัดจากนั้นถึงได้มี Denuclearization ออกมา”

อาจารย์ไชยวัฒน์กล่าวดังเดิมว่า สิ่งที่เกาหลีเหนือกระทำ ทำเพราะอ้างถึงความรู้สึกไม่มั่นคงในชาติที่ถูกสหรัฐคุกคาม ทำให้ต้องมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ขณะเดียวกันในเกาหลีเหนือเองก็มีคำกล่าวว่า “เขาเหมือนกุ้งฝอย ชาติมหาอำนาจเหมือนปลาวาฬ ถ้าเขาสู้กัน เราก็เหมือนถูกบดขยี้”

การเพิกเฉยและการละเมิดข้อตกลงหลายต่อหลายครั้งของสหรัฐ นำมาซึ่งการพัฒนาระบบนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือก็ยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่าชาติตนเองพร้อมที่จะเจรจาและพร้อมที่จะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ได้ทุกเมื่อหากชาติมหาอำนาจให้คำมั่นสัญญาและปฏิบัติอย่างจริงจัง

“น่าเชื่อได้ไหมที่ผู้นำเกาหลีอ้างว่าต้องทำเพราะความมั่นคง เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากคุณ Donald Gregg เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเกาหลีใต้ช่วงปี 1989–1993 ไปเยือนเกาหลีเหนือหลังเกษียณ ถามผู้นำเกาหลีเหนือว่าทำไมต้องทดสอบนิวเคลียร์ คำตอบที่ได้คือเกาหลีพร้อมเสมอที่จะทำลายถ้าสหรัฐทำตามข้อตกลง ส่วนคุณ William Perry รมต. กลาโหมสหรัฐช่วงปี 1994–1997 ก็เคยถามและก็ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน” 

 

อาจารย์ไชยวัฒน์กล่าวต่อว่าลำดับต่อไปที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะพบประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นเรื่องน่าสนใจว่าจะตกลงกันอย่างไร คาดว่าน่าจะมีการเสนอข้อเรียกร้องให้ยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ที่ป้องกันเกาหลีใต้ ยกเลิกการเป็นพันธมิตรทางการทหารระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้ หรือยกเลิกการตั้งฐานทัพสหรัฐในเกาหลีใต้ แต่จะเริ่มจากตรงไหนให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันยังต้องติดตามต่อไป

ส่วนการทำสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเกาหลีที่ยืดเยื้อมากว่า 65 ปี และเป็นฉบับถาวร ซึ่งตามข่าวระบุว่าจะให้มีการเสร็จสิ้นในปีนี้ อาจารย์ไชยวัฒน์มองว่าเป็นสนธิสัญญาที่ทำได้ง่ายถ้าหากเป็นสนธิสัญญาคู่กันระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ ไม่ให้สหรัฐ จีน รัสเซียเข้ามาร่วมด้วย ก็ถือว่าสามารถกระทำได้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ

อาจารย์ไชยวัฒน์เสริมอีกว่าเกาหลีเหนือและใต้เคยมีความฝันที่จะรวมชาติมาตั้งแต่ปี 1972 มีข้อตกลงว่าทั้งสองประเทศจะรวมโดยเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจ โดยรวมกันเป็นหนึ่งอย่างสันติ ไม่คำนึงถึงความเชื่ออุดมการณ์ แต่ในปัจจุบันอนาคตของการรวมประเทศยังคงอีกยาวนาน เพราะทั้งสองชาติมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมไม่สอดคล้องกันแล้วหลังจากแยกกันมา 65 ปี

อย่างไรก็ดีการประกาศหยุดโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ มีประกาศเสริมซึ่งสื่อต่างชาติไม่ค่อยให้ความสนใจ ใจความว่าที่ตนเองยุตินิวเคลียร์เพราะว่าต้องการลดนิวเคลียร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าตนเองพร้อมกับประชาคมโลกตามสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ซึ่งระบุว่าต้องไม่เผยแพร่ ลด และยกเลิกใช้

  “เป็นการส่งสัญญาณจากเกาหลีเหนือ โดยวิจารณ์ประเทศมหาอำนาจว่าทำไมไม่ทำตาม NPT ทำไมประเทศมหาอำนาจถึงมีนิวเคลียร์ได้ และกดดันไม่ให้ชาติอื่นมี แต่ตัวเองดันมีเพื่ออ้างว่าต้องป้องกันตัว” อาจารย์ไชยวัฒน์กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ