คอลัมนิสต์

คลิปลับ "ล้มกระดาน"  กสทช.  อย่าให้ใครอ้าง "นายกฯ" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลิปลับ "ล้มกระดาน"  กสทช.  อย่าให้ใครอ้าง "นายกฯ"  : คอลัมน์... ขยายปมร้อน  โดย... อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

          ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะล้มกระดาน 14 ว่าที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เพราะถือเป็นอำนาจที่มีตามกฎหมายของ สนช. ที่จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบจะทำได้  เนื่องจากตอนนี้พวกเขาทำหน้าที่แทนรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

          การล้มกระดานหรือการไม่เห็นชอบผู้ที่ได้รับการสรรหามานั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะพวกเขาก็เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งเลือก 5 ว่าที่ กกต. เพราะการคว่ำหรือไม่เห็นชอบล้วนแล้วแต่มีเหตุผล เช่น สนช.อาจจะไม่เชื่อในความเป็นกลาง ไม่เชื่อในความสามารถ หรือเห็นสิ่งผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น
     
          แต่กลายเป็นเรื่องแปลกขึ้นมาทันที เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนเชื่อไปในทำนองว่าการล้มกระดานครั้งนี้มี “ใบสั่ง” จาก “ฝ่ายการเมือง”

          และ “ฝ่ายการเมือง” ที่ถูกระบุนั้นคือ “นายกรัฐมนตรี” เราต้องทำความเข้าใจกันว่าแม้รัฐบาลจะพยายามบอกว่าพวกเขาไม่ใช่นักการเมือง เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราวเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารประเทศ พวกเขาก็เป็น “ฝ่ายการเมือง” โดยสภาพแม้จะไม่อยากยอมรับก็ตาม

          ส่วน กสทช.นั้นถือเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการกำหนด กำกับทิศทาง การใช้คลื่นความถี่ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของรัฐของประชาชนทุกคน โดยมีฐานคิดที่ว่าที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และฝ่ายการเมืองมักใช้คลื่นความถี่ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารมวลชน หรือการโทรคมนาคม ไปในทางที่หาประโยชน์ แต่มิได้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กลับมีเรื่องเข้าพกเข้าห่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเมื่อภาคการเมือง และภาครัฐ กำหนดการใช้คลื่นความถี่เองก็ทำให้เม็ดเงินที่ควรจะเข้าประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับตกหล่นสูญหาย

          ดังนั้น รัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้รวมถึง ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกํากับ การดําเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่”

          และยังตอกย้ำเจตนารมณ์ความเป็นอิสระ โดยกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องมาจากการสรรหา และรับรองโดย “วุฒิสภา” มิใช่รัฐบาล ที่เป็นฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร

          แต่ “คลิปลับ” ที่เผยแพร่โดยมิได้มีการระบุถึงที่มาที่ไปนั้น อ้างว่าเป็นการประชุมกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) และมีเสียงเสียงหนึ่งบอกว่า  “ผมได้รับการประสานในวันหยุดว่า ท่านนายกฯ ท่านไม่แฮปปี้กับผู้ที่สรรหามาทั้งหมดทั้ง 14 คน ท่านต้องการใช้อำนาจที่ท่านมีอยู่ ยกเลิกพวกนี้ทั้งหมด”

          การอ้างถึงนายกฯ เช่นนี้ถือว่าเป็นการ “บังอาจ” ยิ่งนัก เพราะนั่นจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่า นายกฯ กำลังใช้อำนาจที่ไม่มีตามกฎหมายเข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญอันควรจะเป็นอิสระ

          ยังดีที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกมาปฏิเสธโดยบอกว่า  “ไม่รู้ เสียงใครไม่รู้ ไม่ต้องชี้แจง” เพราะเรื่องอย่างนี้จะให้เชื่อก็แสนจะยาก เพราะคนระดับผู้นำประเทศซึ่งประกาศตัวเข้ามาปฏิรูปและรังเกียจการแทรกแซงกระบวนการอันไม่ถูกต้องจะมากระทำการที่ไร้วุฒิภาวะอย่างนี้ได้อย่างไร  หากใครไม่รู้หรือหลงเชื่อก็จะทำให้เสียหายต่อผลประโยชน์ชาติและเศรษฐกิจของประเทศ 

          นอกจากนี้ถ้าบังเอิญเทปลับดังกล่าวเป็นเสียงจริงในการประชุมยิ่งแล้วไปใหญ่ เพราะอาจมี สนช.หลงเชื่อและไม่ลงมติรับรองว่าที่ กสทช. เพราะเห็นว่า “ท่านนายกฯ” ยังไม่เห็นชอบและยังอยากใช้อำนาจยกเลิกเลย  ต่อให้เลือกเข้าไปก็อาจจะยกเลิกการสรรหาและการคัดเลือกครั้งนี้ได้  ทำให้ผลโหวตไปในทางที่ออกมา เรื่องเช่นนี้นอกจากทำให้ผู้ได้รับคัดเลือกเสียผลประโยชน์ประเทศอาจจะเสียประโยชน์จากการได้คนดีๆ เพราะการแอบอ้าง

          ดังนั้น การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับตัว “ท่านนายกฯ” อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องหาตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาด้วย  ทั้งในแง่ที่มีการพูดอย่างนั้นในที่ประชุมจริงหรือไม่   เพราะหากไม่มีแล้วอ้างว่ามีก็ทำให้ “นายกฯ”  เสื่อมเสีย เป็นการจงใจทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นโดยตรง ทำให้คนมองว่าผู้นำมีนอกมีในกับเรื่องนี้ ทำให้เกิดความแปดเปื้อน

          แต่หากเป็นจริงยิ่งต้องหาตัวผู้ที่แอบอ้างว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พูดเช่นนี้ เพราะชัดเจนว่าเมื่อท่านไม่ได้พูด ผู้ที่แอบอ้างย่อมต้องหวังผลบางประการ ทั้งต่อส่วนตน หรือาจหวังผลดิสเครดิตผู้นำประเทศ 

          ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนให้ดำเนินการถึงที่สุด เพราะเรื่องนี้มิใช่เพียงเรื่องของบุคคล หรือเป็นเพียงเรื่องแค่การไม่เห็นชอบองค์กรอิสระ  แต่เป็นเรื่องการทำให้คนทั่วไปเชื่อว่ามีความพยายาม “จงใจแทรกแซง” จากฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจ ซึ่งกระทบกับหลักการกฎหมาย หลักการของรัฐธรรมนูญ  อาจถึงขั้นทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ

          ไม่ควรเก็บเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ