คอลัมนิสต์

 รัฐเตรียมออกกฎเหล็กคุ้มครอง "สมาชิก"สหกรณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เตรียมออกกฎเหล็กคุ้มครอง "สมาชิก" ป้องเงินสหกรณ์1.8แสนล.ในตลาดทุน                   

  

    แม้ธนาคารหลายแห่งต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกออนไลน์ หวังสร้างรายได้ตามเป้าในขณะสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวนไม่น้อยกลับมีเงินล้น จำต้องหาที่ฝากไว้เพื่อทำกำไรให้สมาชิก การซื้อหุ้นในตลาดทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลุ่มบรรดาสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินเย็นด้วยการนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งมีทั้งซื้อเองโดยตรงและซื้อผ่านกองทุนส่วนบุคคลซึ่งสามารถทำได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด โดยหุ้นที่จะซื้อนั้นจะต้องไม่ต่ำกว่าระดับ A-

    “ลงทุนได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเอลบ (A-)  ถามว่าเสี่ยงมั้ย ความเสี่ยงก็คือถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดผันผวนนั่นแหละเป็นความเสี่ยง  คุมได้ก็คือคุมให้เขาลงตามประกาศของคณะกรรมการต่ำกว่านี้ไม่ได้  ตอนนี้เรายังไม่จำกัดตัวเงินว่าลงได้เท่าไหร่ แต่เราคุมคุณภาพหุ้นต้องไม่ต่ำกว่าเอลบ แต่เงินเราไม่ได้คุม เพราะว่าแต่เดิมปัญหาพวกนี้ไม่มีเพิ่งมามี 3-4 ปีนี่เอง หลังที่เงินในระบบสหกรณ์มันล้นมาก” 

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการนำเงินในสหกรณ์มาลงในตลาดทุน จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดเกณฑ์ออกมาให้คุมสหกรณ์ที่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่าไม่ให้เกินร้อยละ 20 ของทุนเรือนหุ้นหรือทุนสำรอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณายังไม่ได้ประกาศออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 10 กว่าสหกรณ์ที่ได้นำเงินไปลงทุนในส่วนนี้เกินเกณฑ์ที่กำหนด 

  “เกณฑ์กำกับแต่ยังไม่ได้ออกไปเพราะว่ามีอยู่ประมาณ 10 กว่าสหกรณ์ที่เขาลงไว้ในหุ้นพวกนี้เกินกว่าร้อยละ 20 ของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองไปแล้ว  หากเราประกาศออกไปสหกรณ์จะต้องดึงเงินกลับออกมาเป็นแสนล้านเลยนะ แล้วไม่รู้ว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปไว้ตรงไหน ปัญหาก็จะเกิดทันที ถ้าเอาไปปล่อยให้สหกรณ์ตามบ้านนอกกู้ก็เหมือนสามล้อถูกหวย พวกนั้นพอได้เงินไปก็เอาไปปล่อยกู้ต่อ ตอนนี้หนี้ครัวเรือนของสมาชิกแต่ละคนตามบ้านนอกมันก็หนักอยู่แล้ว เหมือนไปซ้ำเติมเขาโดยไม่รู้ตัว”

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยต่อว่าถ้าจะบังคับให้เขาไปฝากธนาคารดอกเบี้ยก็ถูก  หากเกิดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยก็จะมีปัญหาตามอีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาว่าถ้าให้ได้มากที่สุดจะต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นหรือทุนสำรองของสหกรณ์ แต่จะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่่ให้ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกก่อนจึงจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนได้ เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่าถ้าเอาไปลงทุนแล้วเกิดความเสียหายจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน 

    “ทางออกคือเราจะให้ระยะเวลาสหกรณ์ที่ลงทุนในตลาดทุนไว้เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ปรับตัวคือให้ลดลงมาปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ จนกว่าจะลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด” วิศิษฐ์เผยและยอมรับว่า ก่อนมีพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ยังไม่มีเรื่องนี้ แต่หลังจากมีพ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้นและเปิดให้มีการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นได้ ทำให้สหกรณ์จำนวนมากแห่นำเงินไปลงทุนในตลาดดังกล่าว เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูง โดยก่อนหน้านี้สหกรณ์ส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ก็สลากธ.ก.ส. หรือสลากออมสิน  

   ปัจจุบันเม็ดเงินของสหกรณ์ที่นำไปลงทุนในตลาดทุนมีอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้าน  ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามกฎหมายกำหนดจะไม่เป็นปัญหา อย่างไรก็ตามการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ใช้ว่าจะไม่มีความเสี่ยง เพราะหากเศรษฐกิจมีปัญหาเงินลงทุนในส่วนนี้ก็จะมีผลกระทบไปด้วย 

  “สหกรณ์บางแห่งเขาลงเอง บางแห่งก็ลงผ่านกองทุน แต่ต้องดูเศรษฐกิจภาพรวมด้วย ถ้าตลาดโต เศรษฐกิจของประเทศดี หุ้นก็ขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่เศรษฐกิจซบเซา หุ้นลง ที่ลงทุนแทนที่จะได้ 5-6 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้เพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์แล้วความคาดหวังของสมาชิกว่าจะได้เงินปันผลเท่านั้นเท่านี้ มันก็อันตราย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าก.ล.ต.เขายังคุมตลาดของเขาได้จึงไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำ 

 ผวาทุจริตทำ“สหกรณ์”แห่ซบตลาดหุ้น

   สหกรณ์ออมทรัพย์แห่ลงทุนตลาดหุ้นหวังผลตอบแทนสูงขึ้น ขณะบลจ.กสิกรไทย เผยเม็ดเงินใหม่จากสหกรณ์เพิ่มต่อเนื่อง แต่ละรายลงทุนหลัก 100-1,000 ล้าน แม้จะมีข้อจำกัดการลงทุนสูง โดยลงได้เฉพาะหุ้นรัฐวิสาหกิจ-แบงก์เท่านั้น

   กิตติคม สุทธิวงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการให้บริการในส่วนของกองทุนส่วนบุคคลพบว่า ช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเพื่อต้องการหาผลตอบแทนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น โดยในระยะหลังพบว่าสหกรณ์เข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นและยิ่งชัดเจนมากหลังจากที่เกิดปัญหาสหกรณ์ขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา ทำให้การหาผลตอบแทนในระดับที่สูงจึงทำได้ยากมากขึ้น กลุ่มสหกรณ์จึงมาหาผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยเป็นการทดแทน 

    “การลงทุนของสหกรณ์นั้น นักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่มากกว่า 4-5%  ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนได้ประมาณ 5-6% ทำให้สหกรณ์ที่ลงทุนสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามสหกรณ์ยังมีข้อจำกัดการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่มากเช่นกัน”

สอดคล้องกับข้อมูล "เกษตร ชัยวันเพ็ญ" รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย จำกัด ที่ระบุว่าในปี 2561 นี้ พบว่าพอร์ตกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทในส่วนของลูกค้าสหกรณ์ออมทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนลูกค้าก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่มีเงินฝากจำนวนมาก ซึ่งเงินที่เหลือจากการปล่อยกู้แล้วส่วนใหญ่จะนำไปบริหารเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งก็มีมาลงทุนผ่านกองทุนรวมส่วนบุคคลเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ระดับต่ำ

      สำหรับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์จะมีเงินลงทุนบริหารในกองทุนรวมส่วนบุคคล เฉลี่ยตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท ตามขนาดสหกรณ์ โดยเงินลงทุนของสหกรณ์จะลงทุนในหุ้นไทย 100% มีหลักเกณฑ์สามารถลงทุนในหุ้นได้เฉพาะกลุ่มหุ้นรัฐวิสาหกิจและธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หรือมีจำนวนหุ้นที่สามารถลงทุนได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวเพียง 10-12 ตัว จากหุ้นในตลาดทั้งหมด 400 กว่าตัว 

    ทั้งนี้บริษัทมีกลยุทธ์ในการลงทุนดังกล่าวหาจังหวะเข้าออกให้ตามภาวะตลาดขึ้นลง ซื้อตอนราคาปรับลดลง และขายเมื่อราคาปรับขึ้น พยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าที่สหกรณ์ต้องจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่ 4-6% ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทยังสามารถสร้างผลตอบแทนคาดหวังได้ 4-6% หรือมากกว่า ซึ่งในภาวะตลาดผันผวนปีนี้ มองว่าน่าจะสามารถหาจังหวะเข้าออกทำผลตอบแทนได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

    ขณะที่ เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าการลงทุนของกลุ่มสหกรณ์ในตลาดหลักทรัพย์มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนโดยตรงของสหกรณ์อาจทำได้ยากกว่า เนื่องจากติดข้อกำหนดในเรื่องของผู้สอบบัญชีในบางด้าน แต่จะให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเข้ามาช่วย ถือเป็นการจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดการลงทุนของสหกรณ์ยังไม่ได้มูลค่าที่สูงมากนัก 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ