คอลัมนิสต์

เยี่ยมกองประดาน้ำลูกประดู่ กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เยี่ยมกองประดาน้ำลูกประดู่ กว่าจะเป็นนักกู้ระเบิดใต้น้ำ โดย อัญชลี อริยกิจเจริญ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22

 

               มีทหารเรือหน่วยหนึ่งที่ทำงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” ไม่เป็นข่าว ไม่โด่งดัง และไม่ค่อยมีใครเห็น แต่งานของพวกเขาไม่ใช่ง่ายๆ ทุกวินาทีที่ปฏิบัติหน้าที่หมายถึงความเสี่ยง เพราะชีวิตต้องดำอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน

 

               พวกเขาคือ “เจ้าหน้าที่จากกองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์” ซึ่ง “อมภัณฑ์” ก็คือวัตถุที่มีระเบิดเป็นส่วนประกอบนั่นเอง

 

               “กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์” ขึ้นตรงกับกรมสรรพาวุธทหารเรือ มีหน้าที่วางแผน ประสานงาน ควบคุม และดำเนินการเกี่ยวกับงานใต้น้ำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ซ่อมทำ ดัดแปลง แก้ไข ทำลาย กู้ รื้อ ติดตั้ง ถอดถอน ค้นหา สำรวจ การรักษาความปลอดภัยทางน้ำ การกู้ภัยใต้น้ำ และเชื่อมตัดโลหะป้องกันความเสียหายของตัวเรือใต้แนวน้ำ

 

               นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ EOD คือค้นหา เก็บกู้ ถอดแยก พิสูจน์ทราบ รักษาความปลอดภัยและทำลายอาวุธอมภัณฑ์ หรือวัตถุที่มีระเบิดเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงเคมีสงครามที่ใช้ในกิจการทหารทั้งบนบกและใต้น้ำ อีกทั้งยังบริการงานคลัง ซ่อมบำรุง ทดสอบทดลองและสนับสนุนอุปกรณ์การดำน้ำ รวมทั้งอากาศที่ใช้ปฏิบัติงานใต้น้ำ

 

               สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็เหมือนมนุษย์กบ เพียงแต่ว่าหน่วยนี้จะดำน้ำลึกกว่า และดำนานกว่า

 

               เจ้าหน้าที่ EOD กองทัพเรือ จะต่างจาก EOD ของเหล่าทัพอื่น ตรงที่ก่อนจะเรียนและฝึกเป็น EOD ได้ ทุกคนต้องผ่านหลักสูตรประดาน้ำ 22 สัปดาห์มาก่อน พวกเขาจึงมีความสามารถในการปฏิบัติงานทั้งบนบกและใต้น้ำ ปัจจุบันหน่วยได้ทยอยผลิตบุคลากรเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจทั้งหมดให้ครอบคลุม       

 

               น.ต.อดิเรก ศรีทองคำ หัวหน้าหมวดประดาน้ำ 1 กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาจะมีการเปิดรับสมัครบุคลากรของกองทัพเรือ หรือบุคลากรในส่วนอื่น เพื่อผลิตออกมาเป็นนักประดาน้ำของกองทัพเรือ โดยเปิดรับสมัครเป็นรายปี หรือช่วงปีไหนที่ขาดแคลนก็จะเปิดถี่ขึ้น

 

               “ใครมีขีดความสามารถ หรือใครมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาอยู่ในหน่วยนี้ก็ต้องผ่านบททดสอบของนักประดาน้ำกองทัพเรือว่ามีความอดทนอดกลั้น มีความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดำน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ใช้เวลาฝึก 22 สัปดาห์ ส่วนมากตอนเปิดรับสมัครจะมีคนสมัครเข้ามากว่า 100 คน ผ่านการตรวจสุขภาพจนถึงเข้าเรียน 50-80 คน จบมาเป็นนักประดาน้ำ 20-25 คน” น.ต.อดิเรก ระบุ

 

               สำหรับการดำน้ำในภารกิจของ “นักประดาน้ำ” เป็นการดำน้ำลึก หรือที่เรียกว่า “scuba” อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีสำหรับการดำน้ำลึก เริ่มจากถังอากาศหรือขวดอากาศ เป็นอุปกรณ์ช่วยหายใจ ภายในบรรจุอากาศชนิดเดียวกับที่เราหายใจปกติ ไม่ใช่ออกซิเจนบริสุทธิ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ มีขีดความสามารถการดำน้ำอยู่ที่ 190 ฟุต หรือ 57 เมตร และอากาศที่หายใจออกมา จะปล่อยทิ้งไปหมด เราเรียก open circuit

 

               แต่ก็มีอุปกรณ์ดำน้ำที่ใช้งานในขั้นสูงกว่า สามารถนำอากาศที่หายใจออกมากลับไปกรองใหม่แล้วใช้ได้อีก โดยส่วนที่เกินจะย่อยเป็นฟองเล็กๆ เรียกว่า semi close circuit นอกจากนั้นยังมีอีกระบบหนึ่ง ที่เมื่อหายใจออกแล้วไม่มีฟองอากาศให้เห็นเลย เราเรียก close circuit สามารถดำน้ำได้ลึกและนานกว่า ซึ่งตากล้องที่ถ่ายสารคดี ส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้ ในทางทหาร เหมาะสำหรับการเข้าแทรกซึมหาข่าว เพราะฝ่ายตรงข้ามตรวจจับยาก

 
               ถัดมาคือ “เรกกูเลเตอร์” เป็นสายที่ดึงอากาศจากถังอากาศมาใช้หายใจ และยังมี “ฟิน” หรือ “ตีนกบ” ช่วยลดแรงในการแหวกว่ายไปที่ต่างๆ “เวทเบลท์” หรือเข็มขัดใส่ตะกั่ว ใช้ถ่วงน้ำหนัก เพื่อความเหมาะสมในการดำน้ำ “เสื้อชูชีพสำหรับนักดำน้ำ” สามารถปรับลมเข้า-ออกได้ตามต้องการ เสื้อชูชีพมีความจำเป็นมาก เพราะทั้งเรกกูเลเตอร์ ถังอากาศ และอุปกรณ์อื่นจะติดอยู่ที่เจ้าเสื้อตัวนี้

 

               ขณะที่อุปกรณ์สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือ “หน้ากากดำน้ำ” ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ โดยทั่วไปมีหลายแบบ บางรุ่นมีชุดติดต่อสื่อสาร เราจึงสามารถพุดคุยกับคนที่อยู่บนบกได้ นอกจากอุปกรณ์พื้นฐานแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นที่น่าสนใจ และช่วยให้ปฏิบัติภารกิจได้รวดเร็วขึ้น


 
               เดิมที “หน้ากากดำน้ำ” หรือ “แมสก์” ที่ใช้กันทั่วไปจะปิดแค่ตากับจมูก เพื่อป้องกันน้ำเข้าอวัยวะสำคัญ 2 อย่างนี้ แต่วิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ทำให้ “หน้ากากดำน้ำ” ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ หน้าตาของมันจึงเหมือนหมวกกันน็อกอย่างที่เห็น เรียกกันว่า “หัวครอบดำน้ำ” ถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้นักประดาน้ำทำงานอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น โดยไม่ต้องคอยพะวงว่าอากาศจะหมด หรือว่าอีกกี่นาทีจะต้องรีบขึ้นมาแล้ว

 

               “หัวครอบดำน้ำ” รุ่น KM 37 มีน้ำหนักราว 15 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ใช้ในภารกิจดำน้ำลึก 300 ฟุต หรือ 100 เมตรขึ้นไป สามารถหายใจทางจมูกได้ตามปกติ เพราะมีชุดควบคุมอากาศอยู่บนบก และควบคุมนักดำน้ำได้พร้อมกันถึง 3 คน ที่สำคัญนักประดาน้ำยังสื่อสารระหว่างกันได้แบบ real time เพราะในหัวครอบ มีชุดสื่อสารติดตั้งอยู่ด้วย อีกทั้งมีกล้องถ่ายภาพที่ถ่ายได้อย่างคมชัด ทำให้สามารถปฏิบัติงานใต้น้ำได้จนเสร็จภารกิจ โดยมี Dive Sup คอยควบคุม สั่งการ และสอบถามรายละเอียดได้ตลอดเวลา แต่อุปกรณ์พิเศษนี้ไม่เหมาะแก่ภารกิจลับ เพราะเมื่อเราหายใจออก ฟองอากาศจะลอยขึ้นบนผิวน้ำอย่างชัดเจน

 

               ถัดมาเป็น “ยานขับเคลื่อนใต้น้ำ” การใช้งานคล้ายกับการขี่มอเตอร์ไซค์ คือแตะที่คันเร่ง แล้วมันจะพาเราไปตามจุดต่างๆ ช่วยผ่อนกำลังหรือลดการใช้พลังงานของนักดำน้ำเมื่อต้องว่ายน้ำหรือดำน้ำในระยะไกล

 

               นอกจากนั้นยัง “สายเชื่อมและสายตัด” ใช้ในการซ่อมบำรุงตัวเรือใต้แนวน้ำ หรือ “เชื่อมตัดใต้น้ำ” การทำงานในส่วนนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องไฟดูด เพราะใช้ไฟคนละระบบกับบนบก โดยจะวิ่งตรงจากปลายลวดเชื่อมไปยังวัตถุที่ต้องการเชื่อมหรือตัดโดยตรง จึงไม่มีผลต่อนักดำน้ำ

 

               ส่วนภารกิจค้นหาทุ่นระเบิดใต้น้ำ จะใช้เครื่อง “โซนาร์” แบบมือถือ เรียกว่า “โซนาร์ค้นหาใต้น้ำ” ใช้ค้นหาวัตถุหรือทุ่นระเบิดต่างๆ โดยใช้คลื่นเสียง ผู้ใช้งานต้องใส่หูฟัง เพื่อฟังว่าคลื่นเสียงที่ส่งออกไปแล้ว สะท้อนกลับมาจากทิศทางใด จะได้เข้าหาวัตถุได้ถูกต้อง หลักการทำงานคล้ายๆ เรดาร์ เพียงแต่เรดาร์ใช้ในอากาศ และเมื่อใช้งานโซนาร์ ควรใช้กับชุดดำน้ำแบบ non-magnetic คือไม่มีคลื่นแม่เหล็ก เพื่อความปลอดภัยจากอมภัณฑ์ที่อยู่ใต้น้ำ

 

               นอกจากนี้ยังมีโซนาร์แบบจอแสดงภาพ คือ ยิงคลื่นเสียงออกไป แล้วภาพจะปรากฏ เหมาะแก่สภาวะน้ำขุ่น เห็นไม่ชัด หลักการทำงานเหมือนกล้อง night vision ที่สามารถมองเห็นในที่มืดนั่นเอง
 


               น.ต.อดิเรก ย้ำว่า เรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการดำน้ำของหน่วย ต้องมีการค้นหาอุปกรณ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และเผยแพร่กระจายความรู้ให้กำลังพลของหน่วยทุกนาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ดำน้ำได้มากขึ้น นานขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น สานต่อภารกิจให้ประสบความสำเร็จ

 

               สำหรับภารกิจที่หน่วยได้รับมอบหมายมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สนับสนุนราชการภายใน ทั้งการค้นหาสิ่งของ การซ่อมเรือก่อนออกปฏิบัติราชการ การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน โดยหน่วยเคยส่งนักประดาน้ำไปช่วยค้นหาและกู้ซากจากเหตุเครื่องบินตกในแม่น้ำโขงมาแล้ว นอกจากนั้นยังสนับสนุนการทำงานของตำรวจในการดำน้ำค้นหาวัตถุพยานต่างๆ รวมไปถึงสนับสนุนงานของเอกชน เช่น การกู้ภัยและกู้เรือล่ม

 

               “ประเทศไทยไม่ค่อยเจอเคสที่เป็นแบบเรือใหญ่แล้วจม ส่วนมากพอจมแล้วผู้ประสบภัยสามารถออกมาได้ก่อน หน่วยอื่นก็จะช่วยก่อน ทางด้านของทีมประดาน้ำก็จะเคลียร์พื้นที่มากกว่าว่าหมดคนแล้วหรือยัง เป็นการกู้ภัยของเรือ เอาเรือขึ้นมา เคลื่อนย้ายไปกู้ซ่อมต่างๆ เรือที่จะต้องออกปฏิบัติราชการในพื้นที่ในทะเล ส่วนของงานประดาน้ำเราก็จะเตรียมความพร้อมในด้านของใต้แนวน้ำ มีท่อดูดน้ำเข้าน้ำออกต่างๆ ของเรือมีความพร้อมไหม ใบจักรพร้อมไหม มีเชือกหรือมีสิ่งอุปกรณ์อื่นๆติดพันอยู่กับใบจักร ทำให้เรือไม่สามารถออกปฏิบัติราชการเป็นระยะเวลานานๆ ได้ไหม ถ้าเป็นปัญหาที่ไม่หนักมากถึงขั้นต้องเข้าซ่อม ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประดาน้ำ แต่ถ้าเกินความสามารถก็จะแนะนำให้เรือเข้าอู่ซ่อม” น.ต.อดิเรก ระบุ

 

               “การดำน้ำ” ย่อมทำให้เกิดความกดอากาศในร่างกาย นำมาซึ่งโรคใต้น้ำได้ หากสภาพร่างกายไม่พร้อม หรืออยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานเกินไป บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นทุกครั้งที่ออกปฏิบัติภารกิจ ทางหน่วยจะนำ “ห้องปรับบรรยากาศกำลังดันสูง” หรือ hyperbaric chamber ไปด้วย สำหรับคนทั่วไปที่รักษาแบบนี้ บอกได้คำเดียวว่า ค่าใช้จ่ายสูงมาก และ chamber ก็ไม่ได้มีทุกโรงพยาบาล

 

               นี่คืออุปกรณ์คู่กายของนักประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฆ์ในภารกิจ “ปิดทองหลังพระ” ของลูกประดู่ กองทัพเรือ!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ