คอลัมนิสต์

 เปิดแผนพัฒนาอยู่อาศัย"ผู้สูงวัย"ปี64

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดแผนอยู่อาศัย"ผู้สูงวัย"ปี64 จากบ้านพักคนชราสู่"ศพอส.ทต."          

 

  จากการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.ค. 2561) ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น จำนวน 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน คาดว่าภายในปี 2568 ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยผู้สูงอายุจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เฉลี่ยผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากรทุกๆ 5 คน 

ขณะที่สหประชาชาติ ระบุชัดว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว 

 

 เปิดแผนพัฒนาอยู่อาศัย"ผู้สูงวัย"ปี64

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้สัมภาษณ์แก่ “คม ชัด ลึก” ถึงแผนการเตรียมความพร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในส่วนของรัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการจัดทำแผนผู้อายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2564 โดยมีการปรับปรุงใหม่ไปเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

“ประเทศไทยทำเรื่องผู้สูงอายุมานาน เรามีแผนฉบับแรกเมื่อปี 2525 ปัจจุบันเราใช้ฉบับที่ 2 เพิ่งรีวิวไปเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2564 เนื้อหาเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการแบบบูรณาการ การหาความรู้ใหม่ๆ การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่จริงเราทำให้แก่ผู้สูงอายุเยอะมาก เช่น เบี้ยผู้อายุ เรื่องที่อยู่อาศัย การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ การเงิน สิ่งแวดล้อม เช่นการออกกำลังกาย ปีนี้เราทำร่วมกับหลายหน่วยงานเช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความรู้ด้านการเงินการออมเพื่อการเกษียณ โครงการประชารัฐเพื่อสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ก็ร่วมกับหอการค้าฯ และสสส.”  

 

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยต่อว่า ในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุขณะนี้เรามี 12 หน่วยงาน ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์คนชราเดิมที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นแม่ข่ายหลักให้แก่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและส่งเสริมอาชีพระดับตำบล หรือศพอส.ทต. จำนวน 778 แห่งทั่วประเทศ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอาชีพและทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงวัยในระดับชุมชน โดยศูนย์แห่งนี้มีการคัดเลือกมาจากอำเภอ อำเภอละ 1 แห่งจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบที่จะขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ หรือตำบลอื่นๆ ต่อไป ส่วนสถานสงคราะห์จำนวน 13 แห่งเดิมที่อยู่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ขณะนี้ได้ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว เนื่องจากเขามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยกรมจะมีหน้าที่เพียงคอยกำกับดูแลให้การดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น

“ในอนาคตเราจะไม่มีสถานสงเคราะห์คนชรา แต่จะยกระดับเป็นซีเนียร์คอมเพล็กซ์ จะมีการดูแลแบบครบวงจร ส่วนหน่วยงานในภูมิภาค บางแห่งเราจะยกให้ท้องถิ่นเขาไป เพราะเราอยากให้ท้องถิ่นทำเอง ดูแลกันเอง เขาจะรู้ดีที่สุด อย่างบ้านบางแคที่เราดูแล ผู้สูงอายุมาจากทั่วสารทิศ ซึ่งๆ จริงแล้ว เขาห่างไกลกับญาตินะ ที่เราถ่ายโอนไปแล้ว 13 แห่ง ก็อยากให้เป็นตัวต้นแบบให้แต่ละอบต.ในพื้นที่นั้นไปคิด ไปทำกันเอง ไม่ว่าจะเป็นที่นครปฐม  กาญจนบุรี หรือที่อื่นๆ สถานที่อยู่ที่ไหนก็ควรจะรับแต่คนจังหวัดนั้น ผู้สูงอายุจะได้ไม่ห่างไกลลูกหลานหรือญาติๆ ที่จริงทุกจังหวัดสามารถทำเองได้นะ โดยยึดศูนย์เราเป็นต้นแบบ”

ธนาภรณ์ ระบุอีกว่า สำหรับในปี 2561 กรมมีเป้าหมายตั้งศพอส.ทต.เพิ่มอีก 400 แห่ง จากเดิม 778 แห่ง รวมเป็น 1,178 แห่ง ถึงวันนี้เป็นที่น่ายินดีที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือเวียนไปให้แต่ละอบต.สร้างศูนย์ศพอส.ต้นแบบอีก 878 แห่ง โดยห้ามซ้ำกับของเดิมก็จะทำให้มีการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ศพอส.ทต.นอกจากจะมีกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับผู้สูงวัยทั้งกิจกรรมบริหารสมอง การฝึกอาชีพแล้ว ในอนาคตทำเป็นเดย์แคร์ ให้ลูกหลานสามารถพาพ่อแม่ฝากไว้ให้อยู่กับเพื่อนๆ ตอนเย็นก็มารับกลับบ้าน จะได้ไม่ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว และหากผู้สูงอายุรายใดถูกทอดทิ้งหรือลูกหลานอยู่ห่างไกลก็สามารถขยายทำเป็นที่พักอย่างถาวรได้ในอนาคต

ในส่วนหน่วยงานในสังกัดของกรม 12 แห่ง นอกจากจะพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบของ ศพอส.ทต.ทั่วประเทศแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมฝึกอาชีพที่เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยจะผลักดันให้แต่ละศูนย์หาผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นผลงานของผู้สูงอายุให้ได้อย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ต่อ 1 ศูนย์ และหากทำได้ครบทุกศูนย์ก็จะได้ 12 ผลิตภัณฑ์ จากนั้นจะร่วมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสถาบันการศึกษาในภูมิภาคร่วมกันสร้างแบรนด์และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูสวยงาม ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “โอลดี้" (oldy) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้สูงอายุและภูมิปัญญา นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกภูมิใจในผลงานตัวเองแล้วยังมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย 

“ตอนนี้ได้ตั้งโจทย์ไป 1 ศูนย์ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ของเรามี 12 ศูนย์ก็ต้องมี 12 ผลิตภัณฑ์ ตอนนี้กำลังทำแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นช่องทางการขาย ปลายปีน่าจะได้ คือเราพยายามทำให้เห็นทั้งระบบ ทำตลาดทั้งพาณิชย์และอีมาร์เก็ต” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ย้ำทิ้งท้าย  

 เปิดแผนพัฒนาอยู่อาศัย"ผู้สูงวัย"ปี64

ผนึกกคช.ผุด“ซีเนียร์คอมเพล็กซ์”

 สำหรับโครงการ “ซีเนียร์คอมเพล็กซ์” หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2559 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครนายก และชลบุรี โดยกระทรวงการคลังมอบให้กรมธนารักษ์รับไปดำเนินการ 3 แห่งคือ เชียงใหม่ เชียงราย และนครนายก ส่วน จ.ชลบุรี ได้มอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นผู้ดำเนินการโดยผ่านกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน ใช้ในส่วนราชการห้ามนำไปพัฒนาในเชิงธุรกิจ

“ที่ อ.บางละมุง ที่ตรงนี้มีทั้งหมดประมาณ 800 ไร่ แต่ขอไป 48 ไร่ เป็นที่สีน้ำเงินคือใช้ในราชการเท่านั้นให้เอกชนทำประโยชน์ไม่ได้ มติครม.เดิมจะให้ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  เพราะในคอนเซ็ปต์ซีเนียร์คอมเพล็กซ์นั้นคือให้เอกชนมาลงทุน ตอนนี้คงต้องรอกระบวนการอีกประมาณ 5-6 เดือนกว่าจะประกาศให้ทำอะไรได้ คงต้องทำแบบพีพีพีคือร่วมภาครัฐกับเอกชน ตามที่ศึกษาไว้มี 10 อาคาร อาคารละ 5 ชั้น ประมาณ 500 ยูนิต ใช้งบประมาณ 900 ล้าน”

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่ง พม.มอบหมายให้กรมกิจการผู้สุงอายุดำเนินการวางรูปแบบโครงการและมาตรการการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการศึกษาในเรื่องความคุ้มทุน หลังศึึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ จากนั้นร่างทีโออาร์ให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล และดำเนินการก่อสร้างพร้อมกับการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนกรมก็จะเข้าไปคุมมาตรฐานการจัดสถานที่ การดูแลการให้บริการจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เรากำหนด โดยบริษัทจะมีรายได้จากค่าบริหาร ส่วนรัฐจะมีรายได้ตามที่กำหนดไว้ในร่างทีโออาร์ ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปีนี้คงจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

“ในหลักการเดิมคือการซื้อสิทธิ์ 1 เจเนอเรชั่น หรือจนกว่าผู้ถือสิทธิ์เสียชีวิตลงแล้ว สิทธิ์ก็จะกลับมาเป็นของกรม ถ้าเราทำจะต้องไม่แพงมากเมื่อเทียบกับของเอกชน ครั้งแรกมีการจ่ายเงินแรกเข้าก่อน ที่คิดไว้เบื้องต้นประมาณ 1.8 ล้านต่อยูนิต ยูนิตละ 45 ตารางเมตร จากนั้นก็จะจ่ายเป็นรายเดือน  โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัว คือไม่แต่งงานกับแต่งงานแล้วไม่มีลูก หรืออยู่กับลูกไม่ได้ แต่คนกลุ่มนี้พอมีสตางค์ก็มาอยู่ตรงนี้ได้ ซีเนียร์คอมเพล็กซ์เราพยายามทำรองรับชนชั้นกลาง ถือเป็นโมเดลแรก”

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยต่อไปว่า นอกจากโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังมีแผนที่อยู่อาศัยในส่วนผู้อายุที่เรารับผิดชอบทำอยู่แล้ว โดยไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ปีละ 1,500 หลังทั่วประเทศ โดยได้รับข้อมูลจากการมาลงทะเบียนคนจน อีกส่วนหนึ่งเป็นคนยากจนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่ได้มาลงทะเบียน โดยได้ดำเนินการซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรมร่วมกับภาคเอกชนทำซีเอสอาร์ร่วมกัน เช่น ธ.อาคารสงเคราะห์ การเคหะแห่งชาติ(กคช.) เอสซีจี เป็นต้น 

“จุดที่เราไปสร้างไปปรับปรุงโดยได้ข้อมูลมาจากอปท.มี 3 ส่วนด้วยกันคือ บ้านคนจน บ้านพอเพียง และบ้านคนพิการ โดยปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ส่วนอีกโครงการคือบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 4 หน่วยงานร่วมกันทำและประสานข้อมูลทำเพื่อแก้ปัญหา” ธนาภรณ์เผยและย้ำว่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติในการนำโครงการที่มีปัญหาขายไม่ได้มาปรับเป็นซีเนียร์ คอมเพล็กซ์สำหรับผู้สูงอายุ อย่างเช่นโครงการท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่ขณะนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก มียอดจองเต็มตั้งแต่ยังไม่เปิดให้บริการ โดยจะใช้เป็นโครงการนี้เป็นต้นแบบให้แก่โครงการอื่นๆ ต่อไป 

“ท่าตำหนักเริ่มสมัยท่านสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ก็คือว่า ปกติ กคช.ขออนุมัติทำโครงการ หาดีมานด์ได้แล้วใช้เวลาสร้าง 2 ปี ต่อมาดีมานด์เปลี่ยนก็จะมีตึกที่ยังไม่ได้ขาย ยังร้าง ที่ท่าตำหนักนครชัยศรีมีว่างอยู่ประมาณ 10 ตึก ขายไม่อออก การเคหะฯ ก็ใช้วิกฤติเป็นโอกาสนำมาทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบของซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ โดยเราเข้าไปดูแลเรื่องมาตรฐาน เอกชนเข้ามาดูแลทำเนิร์สซิ่งโฮม มีพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวย้ำ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ