คอลัมนิสต์

"ลูกท็อป"เตรียมรีแบรนด์ "ชาติไทยพัฒนา" ลุยสนามเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ลูกท็อป" เตรียมรีแบรนด์ "ชาติไทยพัฒนา" ลุยสนามเลือกตั้ง : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย...  ขนิษฐา เทพจร

 

          เมื่อกติกาการเมือง ผ่อนผันให้ “พรรคการเมือง” ทำกิจกรรม แต่งตัวลงสนามเลือกตั้งได้ แน่นอนว่า สนามเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

          เพราะจากภาพที่ กลุ่มการเมืองหน้าใหม่ หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ประกาศตัวยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง และชูนโยบายปรับโฉมการเมืองไทย ให้เป็นไปตามสมัยนิยม ทำให้ภาพของสีสันการเมืองก่อนคิกออฟสู่สนามเลือกตั้งนั้นทำท่าออกรสออกชาติมากกว่าครั้งไหน

          แม้แต่พรรคการเมืองในระบบ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองมานาน ต้องปรับเปลี่ยนตามกาลสมัย อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา ก็เช่นกัน นาทีนี้ “วราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค” ที่มีบทบาทโดดเด่น และถูกคาดหมายว่าอาจได้รับการชูให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยอมรับกับ “ทีมข่าวคมชัดลึก” ว่า เขาต้องรีแบรนดิ้งพรรคชาติไทยพัฒนาให้เป็นพรรคการเมืองรูปโฉมใหม่เช่นกัน

          “หลังจากที่พ่อ(บรรหาร ศิลปอาชา) เสียชีวิต ผู้ใหญ่ในพรรคได้หารือกันและยอมรับว่าต้องปรับโฉมกันใหม่ โดยให้คนหนุ่มสาวขึ้นมาอยู่แถวหน้า หากเทียบบทบาท คือ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในพรรค ขยับขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหาร ขณะที่คนหนุ่มสาว วัย 30-45 ปี ก้าวมาเป็นซีอีโอ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เป็นต้น และทั้งสองส่วนนั้นต้องทำงานประสานและร่วมกัน เพราะผู้อาวุโสของพรรคนั้นคือ ศูนย์ข้อมูลที่สำคัญของงานการเมือง ที่ล้วนมีประสบการณ์ ที่คนรุ่นใหม่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อสังเคราะห์ไปสู่นโยบาย และการสร้างสิ่งใหม่ ที่ไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา”

 

 

 

          ดังนั้น โฉมใหม่ที่ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย จะมีความใหม่ ผสมกับความเก๋าเกมการเมือง

          เขายอมรับว่า คนหนุ่มสาวที่จะก้าวมาเป็นซีอีโอ ของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น คือ ลูก-หลาน ของนักการเมืองอาวุโสของพรรค อย่างตัวเขาเอง ที่เป็นบุตรชายของบรรหาร, ภราดร-กรวีร์ ปริศนานันทกุล บุตรชายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำอาวุโสที่สำคัญของพรรค, เสมอกัน เที่ยงธรรม บุตรชาย จองชัย เที่ยงธรรม ผู้ที่เคยเป็นมือวางอันดับต้นๆ ที่ช่วยงานการเมืองของบรรหารผสมผสานกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง อาทิ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สิริมงคลพร๊อพเพอร์ตี้ และอดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ของพรรค

          แต่นั่นไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจการเมืองในพื้นที่ไว้กับตระกูลใด !! เพราะเชื่อว่า ลูก-หลานนักการเมืองคือ บุคคลที่จะมาสานต่องานในพื้นที่ พ่วงกับมีความเข้าใจระบบการเมืองผ่านการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น

          และ “วราวุธ” ยังมองว่า ความเป็นลูก-หลานนักการเมืองในพื้นที่นั่นแหละ คือแต้มต่อที่จะได้คะแนนนิยมจากคนในพื้นที่ เมื่อถึงวันที่สนามการเมืองเปิด และเวทีเลือกตั้งอุบัติขึ้น

          “คนรุ่นใหม่ของพรรค แม้จะจบจากโรงเรียนเมืองนอก แต่ด้วยความที่มีพ่อเป็นส.ส.ในพื้นที่ เขาจะดึงเท้าให้มาติดดิน อยู่กับชาวบ้าน ลองคิดดูว่าในการส่งใครลงสมัครในพื้นที่ โดยเฉพาะต่างจังหวัด เขาไม่มองหรอกว่าคุณเก่งแค่ไหน มีดีกรีจบจากเมืองนอก หรือพูด อภิปรายเก่งระดับเซียน เขาจะมองว่า งานบุญคุณมาช่วยไหม งานศพ งานแต่ง งานบวช เคยมาให้เห็นหน้าหรือไม่ หากคุณไม่เคยทำงานในพื้นที่เลย โอกาสจะได้รับเลือกก็น้อย เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในพื้นที่ แม้เขาจะไม่เก่ง แต่เขาอยู่กับชาวบ้าน ยังมีสิทธิถูกเลือกมากกว่า ซึ่งวิธีนี้คือการเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน”

 

 

 

          กับอีกสถานการณ์ในพรรคชาติไทยพัฒนา กับการเปลี่ยนแปลง คณะผู้บริหารพรรค “วราวุธ” ยอมรับว่าเมื่อจัดประชุมพรรคได้ ต้องเฟ้นหาตัวหัวหน้าพรรคใหม่ ซึ่งเขาตอบไม่ได้ว่า มติของที่ประชุมจะเลือกใครให้เป็นผู้นำ เพราะเขาเอง ไม่ใช่คนเก่งที่สุดในพรรค

          แต่ปัจจัยที่จะนำพา “พรรคชาติไทยพัฒนา” ไปสู่หนทางที่อยู่รอดได้ “วราวุธ” ให้ความเห็นว่า อาจต้องพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม พร้อมยกตัวอย่าง ในวันที่เขตเลือกตั้ง จ.สุพรรณบุรี เพิ่มขึ้นและทับซ้อนบนพื้นที่ของ 2 แกนนำพรรค จนกลายเป็นภาพขัดแย้งแต่วิธีที่แก้ไขความขัดแย้งได้ คือ การส่งตัวแทนของ “บรรหาร” คือ “กัญจนา ศิลปอาชา” ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนจะเลือกบุคคลของ 2 ขั้วแกนนำ

          “พี่หนูนา แม้ไม่ใช่คนเก่งในทางการเมือง แต่สถานการณ์นั้นถือเป็นคนที่เหมาะสม รอบนี้ก็เช่นกัน หากคนในพรรคเสนอชื่อผม ผมก็ยอมรับ และหากผมได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อยุติปัญหา ผมก็พร้อมที่จะนำพาบ้านที่ชื่อชาติไทยพัฒนาเดินไปข้างหน้าร่วมกัน โดยผมจะไม่มีคำว่า วันแมนโชว์ หรือถือเอาการตัดสินใจแบบทุบโต๊ะเด็ดขาด แต่ผมจะให้ทุกๆ คนมีส่วนร่วมตัดสินใจ เพราะความอาวุโสในพรรค คือความเก๋าที่เราต้องเรียนรู้”

          และเมื่อถึงวันนั้นจริง “วราวุธ” ตัดสินใจแล้วว่า เขาจะถือธงนำ ในพรรค ฐานะ ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เหมือนทุกครั้งที่เป็นมา

          กับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวในการเลือกตั้งที่จะมาถึง “วราวุธ” วิเคราะห์ว่า เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับผู้สมัครแบบเขตเลือกตั้ง ขณะเดียวกันคะแนนนิยมที่ผู้สมัครแบบเขตเลือกตั้ง จะได้รับ คือจุดตัดสินสำคัญของการได้ยอด ส.ส.ในสภาหินอ่อน

          “การเลือกตั้งที่จะมาถึง ต้องส่งครบทุกเขตเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. แต่พรรคไม่ขาดทุน เพราะคะแนนนิยมที่ได้ จะนำไปคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นเชื่อว่าผู้สมัครแถวสอง ไปจนถึงแถวสุดท้ายคือส่วนสำคัญที่สุด ดังนั้นแผนของพรรคคือ ต้องเน้นทุกเขตเพื่อให้ได้คะแนนนิยมมาให้มากที่สุด”

 

 

 

          สำหรับ จำนวน ส.ส.ที่ “วราวุธ” ตั้งเป้าไว้คือ 30 ที่นั่ง ผ่านแนวคิดชูคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง พร้อมผลักดันนโยบายที่ทำได้จริง ให้ประชาชนได้ตัดสินใจ

          กับอีกคำถาม ต่อการชูบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนเป็นนายกฯ “วราวุธ” บอกว่าหากกติกากำหนดว่า คนที่เป็นหัวหน้าพรรค ต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ ที่พรรคสนับสนุน เขามีความพร้อม แต่ไม่ใช่ว่าต้องการอยากจะเป็น แต่เมื่อกติกากำหนดต้องยอมรับในกติกานั้น

          ขณะที่จุดยืนต่อการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เป็นนายกฯ เหมือนกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มชูเป็นประเด็นสำคัญนั้น เขาให้คำตอบไม่ได้ เพราะด้วยเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจนว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะยอมให้พรรคการเมืองใดเสนอชื่อเป็นนายกฯ หรือไม่ หรือถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้ “บิ๊กตู่” เข้าสู่อำนาจผ่านนายกฯ คนนอกได้ แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจน จึงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ

         ต่อคำถามที่ว่าถ้าเกิดวันหนึ่งต้องถูกเลือกให้ประกาศจุดยืนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง จะประกาศหรือไม่    

          "ก็ต้องดูสถานการณ์การเมืองว่าตอนนั้นจะเป็นอย่างไร ชาติไทยพัฒนาที่ผ่านมาไม่เคยประกาศจุดยืนเรื่องนายกฯ คนนอก ดังนั้นคำตอบนี้ก็เหมือนกัน หลักการเลือกตั้งต้องพินิจพิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เหมาะสม”

          แต่หากสถานการณ์การเมืองไม่มีทางไป คนของพรรคเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับการยอมรับในรัฐสภา จนนำไปสู่การหานายกฯ คนนอก วราวุธบอกว่า “ต้องพิจารณาจากสถานการณ์และปัจจัยที่เหมาะสมเช่นกัน”

          เมื่อถูกถามว่าหากคนที่ถูกเสนอชื่อ เป็นชนวนของการสร้างความขัดแย้งทางการเมือง “วราวุธ” บอกว่าต้องไปอภิปรายในรัฐสภา เพราะเขาเองไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ