คอลัมนิสต์

เบื้องลึกปลดผู้ว่าฯกยท.“ธีธัช สุขสะอาด” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบื้องลึกปลดผู้ว่าฯกยท.“ธีธัช สุขสะอาด” “บริหารงานพลาด”เข้าล็อกท่านผู้นำโกยแต้ม 

 

              เปรี้ยง! ฟ้าผ่าลงกลางหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ชื่อ “การยางแห่งประเทศไทย" (กยท.) เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สะบัดปลายปากกาลงนามในคำสั่ง ม.44 ที่ 4/2561 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2561 เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและหน้าที่รับผิดชอบให้เกิดประสิทธิภาพของงานและแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของการยางแห่งประเทศไทย โดยมีคำสั่งให้ “ธีธัช สุขสะอาด” ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จาก กยท. และยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นประการอื่น

                การปลดนายธีธัชครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน แต่มีกระแสข่าวการถูกปลดมาเป็นระยะตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จนก้าวผ่านมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบัน ที่ชื่อ “กฤษฎา บุญราช” ได้ไม่ถึงไตรมาสก็ถูกเด้งตามความคาดหมาย หลังกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม่พอใจการบริหารงานของนายธีธัชในหลายเรื่อง พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจปลดออกจากตำแหน่งมาเป็นระยะ หลังผลงานไม่เข้าตา บริหารงานผิดพลาด ส่งผลให้ราคายางตกต่ำลงเรื่อยๆ และยังไม่มีทีท่าดีจะดีขึ้น อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลรับปากไว้กับชาวสวนยางหลังปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่แล้วว่าหลังจากนี้ 3 เดือนราคายางจะต้องไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นไปตามที่รับปากไว้

             “ที่จริงผู้ว่าฯ จะโดนตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัย แล้ว แต่ดวงท่านยังแข็ง ทั้งๆ ที่ผลสอบของคณะกรรมการพบความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง ไปเข้าข้างเอกชนไม่สนใจเกษตรกร ที่สำคัญเป็นคนไม่รู้เรื่องยางแล้วมาบริหารจัดการองค์การยางได้อย่างไร” แหล่งข่าววงในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายหนึ่งเผย

            หลังเปิดศักราชใหม่ 2561 กระแสข่าวปลดผู้ว่าฯ กยท. ก็ออกมาเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่คนในกยท.เองก็เกิดการระส่ำ ไม่เป็นอันทำงาน แบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะไม่แน่ใจว่าหัวเรือใหญ่จะกระเด็นหลุดจากเก้าอี้ในวันไหน ขณะที่รัฐบาลก็เร่งรัดนโยบายยางด้านต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำอย่างเร่งด่วน  ยิ่งเร่งก็ยิ่งมีปัญหาเมื่อนายท้ายเรือผู้กุมหางเสือเดินสวนทางกับนโยบาย

                เป็นปัญหาที่ทับถมมานานในหลายเรื่อง และยิ่งถลำลึกลงไปเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา “อุทัย สอนหลักทรัพย์” ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) และคณะ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผ่านทาง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ปลดผู้ว่าฯ กยท.ออกจากตำแหน่ง และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(บอร์ด)ยกชุดในทันที หลังบริหารงานผิดพลาดในหลายเรื่อง 

               ไม่ว่าการจ้างภาคเอกชนเข้ามาบริหารเงินเซส จากการที่นายธีธัช อาศัยอำนาจผู้ว่าฯ กยท. ลงนามในประกาศ กยท. เรื่องประกวดราคาจัดหาผู้รับจ้างบริหารการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (เซส) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 โดยให้เหตุผลว่าหากให้เอกชนไปดำเนินการจัดเก็บ จะทำให้จัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางได้อีกประมาณ 1 แสนตัน จากปัจจุบันที่ส่งออกประมาณ 4.1 ล้านตัน แต่พบว่ามีการแชร์รายได้ให้เอกชน 5% ของเงินที่เก็บได้ปีละ 8,000-9,000 ล้าน

          ประเด็นการประมูลจัดซื้อปุ๋ยของกยท.แทนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร ที่เป็นปัญหา แม้ข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ระบุไว้ชัดว่า การให้ทุนเพื่อปลูกแทน ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไปจัดหาปัจจัยการผลิตเท่านั้น ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ได้รับเงินไปแล้วอาจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่ กยท.จัดหาได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร สามารถตรวจสอบได้ 

          ขณะที่สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สยยท. ก็ได้มีการตรวจสอบซึ่งพบว่าส่อไปในการฮั้วประมูล เพราะมีปัญหาร้องเรียนจากการประกาศประมูลใช้ระยะเวลาเพียง 5 วัน โดยคร่อมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เหลือวันทำการเพียง 3 วัน จึงทำให้มีผู้ประมูลน้อย และผ่านคุณสมบัติปุ๋ยเคมี 5 ราย ปุ๋ยอินทรีย์ 6 ราย โดยผู้เข้าประมูลทั้งหมด ชนะการประมูลทุกราย

             “สยยท.มีความเคลือบแคลงว่าอาจจะเข้าข่ายมีการฮั้วประมูลกัน นอกจากนั้น ปุ๋ยเคมีที่ประมูลได้มีราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ มีราคาแพงผิดปกติกว่าการซื้อขายทั่วไป เหตุเพราะ กยท.ตั้งราคากลางไว้สูงมาก ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประมูล ทำไมปุ๋ยที่ กยท.ประมูลลอตใหญ่ จึงมีราคาแพงกว่าปุ๋ยที่ขายในท้องตลาดถึงกิโลกรัมละ 3 บาท แต่ไม่ได้รับคำตอบจาก ผู้ว่าฯ การยาง” อุทัยเคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว

             ส่วนประเด็นที่สร้างความปั่นป่วนให้แก่ราคายางคือ การลงขันกับ 5 เสือการยางจัดตั้งบริษัทร่วมทุนรับซื้อยางจากเกษตรกรด้วยเม็ดเงินจำนวน 1,200 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่นำเงินงบประมาณของประเทศไปถลุงเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน แล้ววิธีการรับซื้อยางก็ไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส เพราะเป็นการประมูลซื้อยางเฉพาะกลุ่มตนเองและซื้อในพื้นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลทำให้ตลาดยางพาราพังทั้งระบบ อย่างเช่นบริษัทรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคา 56-57 บาท แต่เมื่อนำไปขายให้แก่ผู้ส่งออกราคา 61 บาท ทำให้มีส่วนต่าง 4-5 บาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทร่วมทุน  5 เสือการยางที่ถือหุ้นอยู่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง 

               สุดท้ายการประกาศปิดสำนักงานตลาดกลางยางพารา 3 แห่ง ของการยางแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจผู้ว่าฯ กยท. ประกาศหยุดให้บริการซื้อ-ขายยางเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ได้แก่ ตลาดกลางฯ จ.สงขลา (หยุด 19-20 ต.ค.), ตลาดกลางฯ สุราษฎร์ธานี (หยุด 19-24 ต.ค. เสาร์-อาทิตย์ ปกติตลาดปิด) และตลาดกลางฯ จ.บุรีรัมย์ (หยุดตั้งแต่ 18 ต.ค. ยังไม่มีกำหนดเปิด) เหตุผลพื้นที่เก็บยางไม่เพียงพอกับปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาด และต้องบริหารจัดการยางคงค้างของบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด โดยอ้างว่ายางล้นตลาดจนสร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดยางในพื้นที่ 

             ในประเด็นนี้ “ชัยพจน์ เรืองอรุณวัฒนา” นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย มองว่า จากการปิด 3 ตลาดกลาง มีผลกระทบทำให้เกษตรกรที่ทำยางแผ่นดิบหันมาขายน้ำยางสดกันมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถช่วยทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ เพราะราคายางแผ่นดิบอ่อนตัวลงมาก แต่คาดการณ์ราคายางน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แนวโน้มสถานการณ์ราคาน่าจะดีขึ้น ส่วนการร่วมลงทุนของ กยท. กับ 5 บริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ เพื่อซื้อขายยางรักษาเสถียรภาพราคาในตลาดนั้น มองว่า ล้มเหลว และกระทบกับเกษตรกรที่จะนำยางไปขายในตลาดซื้อขายจริง ขณะที่ มนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) ย้ำสั้นๆ ว่าการปิดตลาดกลางเป็นการซ้ำเติมราคาของเกษตรกร

              ทว่า การเด้งฟ้าผ่าผู้ว่าฯ กยท.ครั้งนี้ เปรียบเสมือนรัฐบาลยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ตัวแรกมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีใครกังขา ยอมรับได้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางทั่วทุกภาคจัดทัพชุมนุมโห่ไล่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนที่สอง มีหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลได้คะแนนนิยมจากเกษตรกรกลุ่มนี้ไปเต็มๆ หรืออาจเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลเริ่มเก็บแต้มต่อกลุ่มคนฐานรากก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในปีหน้า !

                                                                   .......................................................

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ