คอลัมนิสต์

อภินิหารกฎหมาย !! “ล็อคซ้อนล็อค” เพื่อไม่ให้เสียของ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ “เลื่อน” แต่อาจถึงขั้น “ล้ม” โรดแม็พเลือกตั้ง !!

 

                ในขณะที่ด้านหนึ่งมีการทยอยไปจดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ล่าสุดมีมาถึงประมาณ 60 พรรคแล้ว ซึ่งเป็นไปตามการผ่อนปรนของ คสช. แต่อีกด้าน กระแส “เลื่อนโรดแม็พเลือกตั้ง” ก็วนกลับมาอีกครั้ง

                กระแสเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือเรียกสั้นๆว่า “กฎหมาย ส.ว.” ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สนช.มีมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้แบบท่วมท้นเกือบจะเอกฉันท์ คือ เห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และ งดออกเสียง 13 เสียง

                ประเด็นคำถามที่ตามมา ทำไม สนช.เลือกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงฉบับเดียว ไหนๆจะยื่นแล้วทำไมไม่ยื่นทั้งสองฉบับ เพราะร่างกฎหมาย ส.ส.ก็มีประเด็นถกเถียงว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เป็นแผนเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งอีกหรือไม่?

                สนช.โดย “ประธานพรเพชร วิชิตชลชัย” อธิบายระหว่างการมาแถลงข่าวด้วยตัวเอง ว่า จริงๆ สนช.เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ที่ยื่น และยื่นแค่ฉบับเดียวเพราะ 1. เห็นว่าการยื่นวินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ว.จะไม่กระทบกับโรดแม็พเลือกตั้ง เพราะถึงอย่างไรศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. สุดท้ายร่างกฎหมาย ส.ว.ก็น่าออกมาทันช่วงที่กฎหมาย ส.ส.มีผลบังคับใช้

                2.เนื้อหาของร่างกฎหมาย ส.ว.ที่สงสัย เป็นส่วนสำคัญที่กระทบกับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.

                3. ส่วนที่ไม่ยื่นร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไปด้วยนั้น เพราะเห็นว่าถ้ายื่นไปจะกระทบโรดแม็พเลือกตั้ง เพราะจะทำให้กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯล่าช้าออกไป นอกจากนี้ยังเห็นว่า หากไม่ยื่นตอนนี้ ยังสามารถยื่นได้ในช่วง 90 วันที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและมีข้อสงสัย คือ กกต.สามารถยื่นได้เอง

อภินิหารกฎหมาย !! “ล็อคซ้อนล็อค” เพื่อไม่ให้เสียของ

                นั่นคือเหตุผลที่ “พรเพชร” พยายามอธิบาย แต่จุดสำคัญ อยู่ที่แนวทางคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นอย่างไร

                พิจารณาแล้ว คำวินิจฉัยของศาลน่าจะอยู่ใน 3 ทางนี้ คือ 1.แรงสุด ศาลฯวินิจฉัยว่าขัดรธน.และร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ 2.กลางๆ ขัดรัฐธรรมนูญและตกเฉพาะข้อความที่ขัด 3.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

                “พรเพชร” ไม่ได้พูดชัดๆว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประเด็นนี้ขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลถึงขนาดทำให้ร่างกฎหมาย  ส.ว.ตกไปทั้งฉบับหรือไม่ แต่สิ่งที่ “พรเพชร” ย้ำหลายครั้งระหว่างการแถลงข่าวคือ “ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะเป็นประเด็นสำคัญ...มีความซีเรียสกว่าประเด็นของกฎหมาย ส.ส. ที่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ตกไปเฉพาะประเด็นนั้น”

                ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 เขียนไว้ชัดเจนว่า หากข้อความที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญเป็นข้อความที่เป็นสาระสำคัญ ให้ร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญก็ให้ตกไปเฉพาะข้อความนั้น

อภินิหารกฎหมาย !! “ล็อคซ้อนล็อค” เพื่อไม่ให้เสียของ

                ตรงนี้แหละ ที่ทำให้มีการมองว่า นี่คือแผนที่จะ “คว่ำ” ร่างกฎหมาย ส.ว.

                หากกฎหมาย ส.ว.ถูกคว่ำโดยศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่โรดแม็พเลือกตั้งขยับ แต่หมายถึงโรดแม็พถูกล้ม ต้องเขียนกันใหม่อีกรอบ ไม่ต่างอะไรกับตอนที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เมื่อปี 2558

                เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนบอกเอาไว้ว่าจะให้ใครมาทำต่อ ก็เหมือนตอนที่ห่วงกันว่า สนช.จะคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง ที่สุดท้าย สนช.ไม่คว่ำ

                ถ้าคว่ำก็ต้อง แก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อกำหนดว่าจะให้ใครจะทำหน้าที่นี้ แต่ต้องแก้รัฐธรรมนูญภายในกี่วัน หรือจะกำหนดเวลาในการทำกฎหมาย ส.ว.ให้เสร็จภายในกี่วัน ฯลฯ ทุกอย่างคือ “เช็คเปล่า” คสช.อยากได้เท่าไร กรอกตัวเลขได้เลย

                นี่คือ แนวทางที่ 1 แรงสุด

                อย่าลืมว่าตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับต้องมีผลบังคับใช้ จึงจะเริ่มนับหนึ่งไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วัน ถ้าขาดฉบับใดฉบับหนึ่งไปก็นับหนึ่งไม่ได้

                ส่วนแนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 นัยสำคัญอยู่ที่เนื้อหาที่มีการแก้ไข ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ฝ่าย คสช.ต้องการ มีการมองกันว่า มันคือ “การล็อคซ้อนล็อคของบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง”

                คือ หลังจากที่บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ กำหนดสารพัดความพิเศษของ ส.ว.ชุดแรกไว้แล้ว คือ 1.จากปกติ ส.ว.มี 200 คน ครั้งแรกก็ให้มี 250 คน คือ ครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยเวลาที่ต้องโหวตประเด็นต่างๆร่วมกับ ส.ส. 2.ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯในครั้งแรก 3.ให้ ส.ว.มาจากการเลือกโดย คสช. 200 คน ส่วนอีก 50 คนให้มาตามวิธีที่กำหนดไว้ในบทหลักของรัฐธรรมนูญ คือ มาจากกระบวนการเลือกกันเองของ 20 สาขาอาชีพ ฯลฯ

                แต่ปรากฏว่า ขนาดล็อคไว้แบบนั้นแล้ว ล่าสุดฝ่าย คสช.ยังมีความกังวลกันอีกว่า ถ้าเกิด 50 คนที่เลือกกันเองเข้ามาไม่โหวตให้ “บิ๊กตู่” ถ้าคุมไม่ได้จะทำยังไง

อภินิหารกฎหมาย !! “ล็อคซ้อนล็อค” เพื่อไม่ให้เสียของ

                ฉะนั้นจึงนำมาสู่การล็อคไว้อีกชั้น คือกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลอีกทีถึงรายละเอียดวิธีการได้มาของ ส.ว.50 คนนี้ เพื่อให้มั่นใจได้มากขึ้นมาว่า จะได้คนที่พร้อมจะโหวตหนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งจริงๆ ทั้งเรื่องการลดสัดส่วนอาชีพจาก 20 เหลือ 10 อาชีพ การกำหนดให้มีทั้ง ส.ว.อิสระ และ ส.ว.ที่ผ่านการเสนอของนิติบุคคล จากเดิมไม่มีเรื่องนิติบุคคล

                จะจริงตามนี้หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่วินิจฉัยว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” หรือ “คว่ำ” ร่างกฎหมายนี้ไปซะก่อน ต่อไปเราก็คงจะได้เห็นกัน

                ทั้งหมดก็วนอยู่เรื่องเดิม “อภินิหารกฎหมาย”

                แต่ต้องบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่แค่ “เลื่อน” แต่อาจถึงขั้น “ล้ม” โรดแม็พเลือกตั้ง !!

                นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่า การที่ยังไม่ยื่นร่างกฎหมาย ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนนี้ด้วย เพราะมีเจตนาจะทิ้งไว้ให้เป็นปมปัญหาในวันข้างหน้าอีกหรือไม่

                อย่างที่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" บอกไว้ ถ้าไม่ยื่นตอนนี้แล้วมีการไปยื่นทีหลัง อาจจะเกิดสภาพ "ล้มทั้งยืน" ต้องเริ่มต้นใหม่หมด

               ทั้งหมด ดูเหมือนฝั่ง คสช.ยังคงทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามเป้า “ไม่ให้เสียของ” !!

 

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์

 

***เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อภินิหารกฎหมาย !! “ล็อคซ้อนล็อค” เพื่อไม่ให้เสียของ

เลื่อนเลือกตั้ง (อีกครั้ง) !! ด้วย "อภินิหารกฎหมาย"

"สนช."ยื่นศาลรธน.ตีความร่างพ.ร.ป.ส.ว.ฉบับเดียว (ชมคลิป)

 

สนช.ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ว. แล้ว

 

               

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ