ข่าว

สนช.ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ว. แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พรเพชร" เผยส่งศาลรธน.ตีความร่างกม.ส.ว.แล้ว ปัดตอบข้อเสนอให้นักการเมืองทำสัตยาบรรณเลื่อนเลือกตั้ง ชี้ไม่เกี่ยว-มั่นใจไม่กระทบรัฐบาล พร้อมร่อนจม.แจงทำกม.รอบคอบ

 

          19 มี.ค. 61 - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าตนได้ลงนามหนังสือเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่มีสนช. เข้าชื่อ จำนวน 30 คน นำโดยนายกิตติ วะสีนนท์ สนช. ร้องขอให้ส่งเรื่องแล้ว ดังนั้นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องขอให้ติดตามจากศาลรัฐธรรมนูญ

          ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอจากสมาชิก สนช. ต่อกรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้เงื่อนไขที่พรรคการเมืองต้องทำสัตยาบรรณยินยอมเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3 เดือน นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตน ซึ่งตนมองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ควรพูด ส่วนกรณีดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนไม่มีความเห็นและเชื่อว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีรายละเอียดต่อข้อกฎหมายและความคิดเห็นตนขอชี้แจงผ่านเอกสารบันทึกความเห็นกรณีส่งร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ งส.ส. ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเอกสารบันทึกความเห็นดังกล่าวเป็นรายละเอียดเดียวกันที่นายพรเพชร ได้แถลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยอ้างความเห็นจากสมาชิกสนช. พร้อมยืนยันเจตนาของ สนช. ที่พิจารณาร่างกฎหมายภายใต้ความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

 

 

 

          ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์โดยสนับสนุนฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนเข้ากระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งในภายหลัง แม้ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่าหากยื่นตีความในขั้นตอนช่วงนี้อาจกระทบโรดแม็พเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562  เป็นความกังวลของกรธ.เช่นกัน แต่ทางออกที่ดีที่สุด ควรวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการสร้างความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งหรือไม่  

          " เรื่องกระทบโรดแม็พเลือกตั้ง กังวลใจเช่นกัน และสนช. คงพิจารณาในประเด็นนี้ แต่หากปล่อยให้กฎหมายใช้บังคับ แล้วมีผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีเลือกตั้งที่เกิดจากการใช้สิทธิแทนผู้พิการ ว่าไม่เป็นการออกเสียงทางตรงและลับ ผมไม่ทราบว่าจะมีคนที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็น และเมื่อเกิดกรณีเช่นว่าจะทำให้การเลือกตั้งเสียไปหรือไม่" นายอุดม กล่าว

          นายอุดม กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข้อพิจารณาว่าให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2 ประเด็นหลังร่างกฎหมายส.ส. ประกาศใช้ หรือ มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน อาจจะเป็นปัญหาว่าการเสียสิทธิ หรือ การลงคะแนนแทนนั้น ใครคือ ผู้ได้รับผลกระทบเพราะเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิด แม้จะมีช่องทางประชาชนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้ อาจเกิดคำว่า บุคคลที่ยื่นนั้นได้รับผลกระทบแท้จริงและชัดเจนหรือไม่.

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ