คอลัมนิสต์

“ศาล (ไม่พิทักษ์) รัฐธรรมนูญ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว ต่อ อายุ ป.ป.ช. โดยยกเว้นคุณสมบัติต้องห้ามที่เขียนไว้ใน รธน. 2560 คำถามถึงย้อนกลับมาว่า หน้าที่ "พิทักษ์" ีรัฐธรรมนูญยังมีอยู่หรือไม่

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อ "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ"  ที่ระบุว่าการแก้ไขร่างกฎหมายของ สนช. ที่ให้ กรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิมอยู่ต่อได้แม้คุณสมบัติจะไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวคือ ไม่นำส่วนคุณสมบัติต้องห้ามเรื่องการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งไม่พ้นกำหนด 10 ปี มาบังคับใช้ กับกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิม ที่ดำรงตำแหน่งอยู่

ผลของการวินิจฉัยดังกล่าวทำให้เมื่อกฎหมายประกาศใช้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันสองคนที่ขาดคุณสมบัติข้อดังกล่าวจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ หนึ่งคือ “วิทยา อาคมพิทักษ์” และอีกหนึ่งคือ “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช.  

แน่นอนว่าตอนที่ สนช.แก้ไขร่างที่ส่งมาจาก กรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปเช่นว่า ย่อมถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปตามใบสั่งจากใครหรือไม่ เพราะหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์นั้นคือ “วัชรพล” และขาดคุณสมบัติจากการเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และด้วยตำแหน่งที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายใหม่นี้ทำให้คนมองว่าเป็นบารมีจาก “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” หรือไม่ 

หลายคนตั้งคำถามว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จะส่งผลให้กฎหมายลูกอย่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. มีผลลบล้างการบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศหรือไม่ 

“สุพจน์ ไข่มุกด์” กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยมีตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงกับฉุนขาด และตั้งชื่อกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมายลูกทรพี” เพราะมีผล “ฆ่าแม่” ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ  อันจะส่งผลต่อหลักนิติรัฐ และหลักการความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

หรือ “วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ก็ออกมาวิจารณ์ว่า การวินิจฉัยเช่นนี้เป็นการวินิจฉัยที่อาจทำให้เกิดข้อถกเถียง และแน่นอนเมื่อเกิดข้อถกเถียงก็ย่อมนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อตัวองค์กรที่จะไปตัดสินเรื่องการทุจริต 

แต่สิ่งที่ดูน่าจะเป็นห่วงที่สุดคือหลักการเรื่องความเป็นกฎหมายสูงสุดที่กฎหมายอื่นจะมาขัดหรือแย้งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากฟังคำชี้แจงจาก “จรัญ ภักดีธนากุล” หนึ่งในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  เขาระบุถึงเหตุผลว่า เป็นเพราะ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมาตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยถูกต้อง และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติเช่นว่า  ดังนั้นการจะไปตัดสิทธิจากข้อบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่จึงไม่น่าที่จะถูกต้อง

“รัฐธรรมนูญใหม่ไปเพิ่มคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามและไม่เขียนให้ชัดว่าให้ใช้บังคับทันที” 

“รัฐธรรมนูญเองไปเขียนยกเว้นไว้ว่าการดำรงตำแหน่งของคนเดิม จะเป็นอย่างไรให้เป็นไปตามกฎหมายลูก ไม่ควรเอาลักษณะต้องห้ามใหม่ๆไปตัดสิทธิที่ได้รับโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญเดิม"

หากฟังเช่นนี้จะสรุปความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ 2560 มีจุดบกพร่องที่ไม่ได้ปิดช่องโหว่เอาไว้ และคล้ายกับเปิดทางให้ สนช.บัญญัติอะไรก็ได้ แม้จะไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญก็ตาม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างความชอบธรรมและสิทธิที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2550  ที่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงอดีตรัฐธรรมนูญ 

เหล่านี้เองจึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ จริงอยู่ที่ สนช.ก็ถูกตั้งคำถาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าที่ผ่านมานั้น สนช.ก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่แสดงลักษณะของความเป็นอิสระ แต่หลายครั้งตอบสนองต่ออำนาจ ดังนั้นความคาดหวังต่อเรื่องหลักการจึงมีไม่มากนัก ต่างจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นองค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการ และถูกมองเป็นองค์กรสูงสุดอันอิสระ และอยู่เหนือการครอบงำ เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการการปกครองด้วยระบบ“นิติรัฐ”

หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความว่ากฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้มีกฎหมายฉบับใดมาหักล้าง หรืออยู่เหนือได้

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องปกป้องมีเพียงฉบับเดียว  คือฉบับปัจจุบัน เพราะฉบับอื่นแม้จะเคยบังคับใช้ก็จะเป็นเพียง “อดีตรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น ไม่ได้อยู่ในสถานะการเป็นรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และอยู่ในสถานะข้ออ้างอิงเท่านั้น มิใช่หลักการสำคัญอันต้องปกป้อง

การเลือกตีความเช่นนี้จึงทำให้มองได้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” กำลังทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ และหลักการของรัฐธรรมนูญ 2560 เล่า จะวางอยู่ที่ใด

ไม่แปลกที่จากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกตั้งคำถามว่ากำลังทำหน้าที่ “พิทักษ์” รัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อคำถามเรื่องการเลือก “พิทักษ์” หรือไม่ “พิทักษ์” แล้วแต่กรณีแน่นอนว่าจะนำมาสู่เหตุการณ์อันเรียกว่า “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” 

พึงระลึกว่ากฎหมายก็เหมือนเสาค้ำยันบ้านเรือน เมื่อไหร่เสาค้ำยันอยู่ไม่ได้ เมื่อนั้นบ้านก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้เช่นกัน

--------

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ