คอลัมนิสต์

แม้ หมอกบังเลือกตั้งจางลง แต่ “โรดแม็พ” ต้องวัดกันยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้ หมอกบังเลือกตั้งจางลง แต่ “โรดแม็พ” ต้องวัดกันยาว  โดย... ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น


 
          ในที่สุดข้อกังวลที่ ฝ่ายการเมืองคาดการณ์ว่า สนช. จะคว่ำร่างกฎหมายลูกที่เป็นปัจจัยชี้ปฏิทินเลือกตั้ง ก็คลี่คลาย หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กดโหวตผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่กรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่ายร่วมแก้ไข 

          และวาระเห็นชอบแบบฉลุยนั้น เรียกได้ว่าเป็นไปตามสัญญาณ ที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" แจ้งต่อสาธารณะไปเมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างการแถลงถึงโรดแม็พเลือกตั้ง ที่ต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 

          นับเวลาตามขั้นตอนที่เริ่มจาก ร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับถูกส่งไปถึงมือ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว ต้องพักคอย 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีผู้ใดมีความเห็นแย้งและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความหรือไม่ ก่อนเข้ากระบวนการประกาศใช้กฎหมาย 

          โดยสัญญาณที่จับได้ คือ ข้อห่วงใยจาก "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ที่สนับสนุนให้ ตัวแทน สนช. เข้าชื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความการแยกประเภทผู้สมัคร ส.ว. ตามร่าง พ.ร.ป. ส่วนบทเฉพาะกาลซึ่งกำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ว.ในวาระเริ่มแรก มาจากการสมัครโดยอิสระ หรือสมัครผ่านการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่ใช่องค์กรที่ทำกิจกรรมทางการเมืองว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงเจตนารมณ์ตามมาตรา 107 ให้สิทธิประชาชนที่มีคุณสมบัติลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อย่างอิสระหรือไม่ ?

          แม้เรื่องนี้ "สมคิด เลิศไพฑูรย์ สนช. ฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ว." และ "อัชพร จารุจินดา กมธ. จาก กรธ. และในฐานะมือทำงานของ อ.มีชัย" จะการันตีร่วมกันว่า การแยกประเภทสมัครส.ว. ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะโจทย์หลักที่ยกมาพิจารณาคือ วาระพิเศษของ ส.ว.ชุดแรก ที่มาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ให้ คสช.แต่งตั้งและคัดเลือก เต็มจำนวน 250 คน เพื่อสานต่อภารกิจพิเศษ คือ ติดตาม สานต่อ และกำกับการปฏิรูป ดังนั้นข้อกำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ว. จากประเภทองค์กรเสนอชื่อ จึงเป็นความเหมาะสม 

          อย่างไรก็ดี ในประเด็นดังกล่าว ยังมี สนช.ที่คาใจ และกังวลไม่แพ้ “ประธาน กรธ.” ที่ห่วงว่าในภายภาคหน้าอาจมีผู้ยกประเด็นสร้างทางสะดุดของการได้มาซึ่ง ส.ว. แม้จะเป็นโควตา 50 คนก็ตาม 

          หากประเด็นนี้มี สนช. ที่กล้าหาญและสร้างความกระจ่างต่อเรื่องนี้ แน่นอนว่า การประกาศใช้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจต้องชะลอการประกาศและบังคับใช้ออกไป และต้องส่งผลต่อปฏิทินเลือกตั้งตามที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้คำมั่นไว้ ไม่มากก็น้อย  

          ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวดเร็วอย่างที่สาธารณะคาดหวัง ดูได้จากการวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่สนช.ส่งให้ตีความ การเว้นลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่พ้น 10 ปี ได้สิทธิเป็นกรรมการได้ ซึ่งนับเวลาที่รับเรื่อง กว่า 1 เดือนแล้ว แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ประชุมเพื่อวินิจฉัยให้ความกระจ่าง 

          แต่หากเรื่องนี้ถูกมองข้ามไป เพื่อช่วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รั้งรอการวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ป.ปราบทุจริต ซึ่งผลของการวินิจฉัยนั้น อาจคาบเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน แน่นอนว่าอาจมีผู้ที่เสียประโยชน์จากได้ตำแหน่ง ส.ว. ยกประเด็นสร้างปัญหาทางข้อกฎหมาย และอาจถูกยกระดับไปสู่ความบาดหมางของสมาชิกวุฒิสภา เหมือนอย่าง ส.ว.ชุดที่ผ่านมา ที่มาจากการเลือกตั้งและลากตั้ง มีความขัดแย้งจนถึงขั้นไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ 

          ขณะที่ สาระของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านวาระเห็นชอบ แม้เสียงสนช.ข้างมาก 218 เสียงจะรับรอง ใช่ว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะจากการอภิปราย โดยเฉพาะมาตรา 35 ว่าด้วยการจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งส.ส. โดยไม่แจ้งเหตุผลหรือแจ้งเหตุผลที่ไม่สมควร ตามการแก้ไขของกรรมาธิการ ส่วนของตำแหน่งข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภา และข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่น ปรับเนื้อหาจากการสร้างเงื่อนไขที่เป็นคุณสมบัติไม่ได้รับแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่ง เป็น การตัดสิทธิดำรงตำแหน่ง 

          ในคำอธิบายของกรรมาธิการ ระบุไว้ว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่นต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างกับคนทั่วไป ดังนั้นแม้จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง แล้วไม่ไปใช้สิทธิ์ หรือแจ้งเหตุผลอันไม่สมควร ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยทันที 

          ซึ่งถือเป็นบทโหด ที่เขียนเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะข้าราชการการเมือง ที่ว่านั้น หมายรวมถึง ฝ่ายบริหาร 20 ตำแหน่ง อาทิ นายกฯ, รองนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการ, รัฐมนตรีช่วย, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นต้น ส่วนข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้มี 24 ตำแหน่ง อาทิ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา, ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา, ที่ปรึกษาสภา, ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา, โฆษกประธานสภา, ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน เป็นต้น

          และตำแหน่งดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมาทราบโดยทั่วไปว่า มีบทบาท และความสำคัญต่อเกมในรัฐสภา และเกมบริหารบ้านเมืองมากเพียงใด 

          แม้ สนช.พยายามให้ความเห็น ขอแก้ไขให้กลับไปเป็นถ้อยคำเดิม คือ เป็นเพียงเงื่อนไขของการพิจารณาเข้ารับตำแหน่ง แทนการใช้ตำแหน่งหน้าที่เป็นเดิมพัน เพราะมองเห็นปัญหาที่อาจตามมาภายหลังได้ แต่เรื่องนี้กลับไม่มีคำตอบหรือเสียงตอบรับใดๆ จากกรรมาธิการที่ยืนยันแบบกระต่ายขาเดียวว่า ข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และข้าราชการท้องถิ่นฝ่ายการเมือง ต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างของคนทั่วไป

          ดังนั้น เรื่องเล็กน้อยที่ถูกมองข้ามจากเซียนกฎหมายในฝ่ายนิติบัญญัติ วันหนึ่งอาจถูกยกไปเป็นเงื่อนไขที่ใช้ทำลายล้างกันทางการเมืองได้ 

          อย่างไรก็ดี เมื่อชั้นนี้ พ.ร.ป.ที่ใช้เป็นเกณฑ์เรื่องเลือกตั้ง ผ่านความเห็นชอบ ฝ่ายการเมืองน่าจะเบาใจไประดับหนึ่ง ว่า สัญญาณเลือกตั้งน่าจะเป็นจริงได้ เพียงแต่จะเป็นเมื่อไร ??

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ