คอลัมนิสต์

ยึดทรัพย์ 'ยิ่งลักษณ์' กรรม ?..ต้องชดใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทางรอดของ“ยิ่งลักษณ์”เหลือแต่เพียงศาลปกครอง ว่า สุดท้ายจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้“ยิ่งลักษณ์”ชดใช้ค่าเสียหายตามคดีหลักที่ได้ยื่นฟ้องหรือไม่

               มีข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการ ยึด- อายัด ทรัพย์ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯมากขึ้น หลังจากที่วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางยกคำร้องของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ขอทุเลาบังคับคดีตามคำสั่งของกระทรวงคลัง ลงวันที่ 13 ต.ค.2559  ที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 35,717.27 ล้านบาท ในฐานะนายกฯและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น

             กับการยึดทรัพย์สิน 37 รายการซึ่งมีทั้งบ้านของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ซอยนวมินทร์ 111 กทม.,ที่ดินใน กทม.และต่างจังหวัดประมาณสิบแปลง, คอนโดห้องชุด และอายัดบัญชีเงินฝาก ประมาณ 12-13 บัญชี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดทั้งสิ้น  176.25 ล้านบาท

            สำหรับเหตุผลหนึ่งที่ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชีเงินฝาก 16 บัญชีซึ่งตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินฯของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี มีจำนวนเงิน 24.90 ล้านบาท แต่เมื่อกรมบังคับคดีเข้าทำการอายัดมีเงินเหลือเพียง 1.96 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 22.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.09

          ที่จริงแล้ว การยึด-อายัดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการได้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว  

           เพราะคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครอง มีผลบังคับใช้ได้ตราบใดที่ศาลปกครองไม่ได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทรัพย์สิน 37 รายการ รวมทั้งสิ้น  176. 25 ล้านบาทที่กรมบังคับคดีได้ยึดนั้น ได้ดำเนินการอย่างเงียบๆตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน 

        และต่อไปกรมบังคับคดี ก็คงจะดำเนินการยึด-อายัดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีก ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสียหาย ต้องเป็นผู้สืบเสาะทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่ามีอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อกรมบังคับคดีจะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป  

        และแนวทางอันหนึ่งที่กระทรวงการคลังและกรมบังคับคดี ใช้ในการสืบหาทรัพย์สิน “ยิ่งลักษณ์ ” เพื่อดำเนินการยึดอายัด ก็คือ บัญชีทรัพย์สินฯที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ( ป.ป.ช.)

         สำหรับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ในโอกาสพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2558 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 579.30 ล้านบาท  

          โดยมีรายละเอียดรายการทรัพย์สิน อาทิ เงินฝาก 16 บัญชี รวมจำนวน 24.90 ล้านบาท , ที่ดิน จำนวน 14 แปลง ใน กทม. เชียงใหม่ เชียงราย  รวมจำนวน 117.18 ล้านบาท ,โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 36 แห่ง รวมจำนวน 162.36 ล้านบาท,รถยนต์ 9 คัน รวมจำนวนเงิน 21.99 ล้านบาท ,ทรัพย์สินอื่น เช่น นาฬิกา กระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ รวมจำนวนเงิน 45.69 ล้านบาท

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 56/ 2559 จะให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการบังคับทางปกครอง ด้วยการยึดทรัพย์ผู้ต้องรับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าว ออกขายทอดตลาดได้ก็ตาม 

          แต่ขณะนี้ทรัพย์สินทั้งหมดของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ที่ถูกยึด-อายัด ยังไม่ได้มีการนำออกขายทอดตลาด  เนื่องจากกรมบังคับคดียังต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องที่มีอยู่หลายราย ,ปิดประกาศยึดทรัพย์  ณ ที่ตั้งทรัพย์ ซึ่งมีทั้ง กทม.และต่างจังหวัดให้ครบถ้วน 

        อีกทั้งยังมีตัวคดีหลักที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้เงิน จำนวน  35,717.27 ล้านบาท  ยังไม่จบ โดยอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลปกครอง ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมา

          นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ยังสามารถร้องขอทุเลาการบังคับคดีเข้ามาใหม่ได้อีก ซึ่งล่าสุดทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาเปิดเผยว่า จะยื่นขอทุเลาการบังคับคดีอีกครั้งในเร็วๆนี้เนื่องจากมีทรัพย์สินหลายรายการที่จำเป็นต้องขอทุเลาการบังคับคดี โดยเฉพาะบ้านพักของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ในซอยนวมินทร์ 111  ที่ขณะนี้สามีและบุตรชายของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังคงพักอาศัยอยู่ หากมีการขายทอดตลาดออกไป ทั้งสองคนก็ไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป

         ทั้งนี้ตามกฎหมาย ตราบใดที่กรมบังคับคดี ยังไม่มีการนำทรัพย์สินขายทอดตลอด บุคคลในบ้านที่ถูกยึดก็ยังอยู่อาศัยได้ต่อไปแต่ต้องขออนุญาตหรือขอเช่าจากทางการเพราะไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าของบ้านอีกต่อไปแล้ว แต่อยู่ในฐานะผู้อาศัย

        “ยืนยันว่าทุกฝ่ายทำอย่างพอสมควร ไม่ใช่จะเอาเป็นเอาตาย”วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายรัฐบาล ระบุ 

         แต่สุดท้ายก็ต้องรอดูว่า เอาเข้าจริง จะมีอะไรเหลือติดมือ“ยิ่งลักษณ์” บ้าง  ...เป็นกรรม ? ที่ต้องชดใช้หรือไม่

        และทางรอดของ“ยิ่งลักษณ์” คงเหลือแต่เพียงศาลปกครองเท่านั้น ว่า สุดท้ายจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้“ยิ่งลักษณ์”ชดใช้ค่าเสียหายตามคดีหลักที่ได้ยื่นฟ้องหรือไม่

           ชมคลิป .. เดินหน้ายึดทรัพย์ 'ยิ่งลักษณ์'

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ