คอลัมนิสต์

"อดีต ปัจจุบัน อนาคต อาจารย์มหาวิทยาลัย"ยุค Thailand 4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อดีต ปัจจุบัน อนาคต อาจารย์มหาวิทยาลัย” ยุค Thailand 4.0” ...โดย ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษา ทปสท.

 

         หากมองย้อนไปในอดีต หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยของรัฐ เพียง 20 กว่าแห่งสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐบาลในขณะนั้น มีนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 

         นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 36 ระบุ “ให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคลและอาจเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐให้ดำเนินการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ”

        นี่คือที่มาของมหาวิทยาลัยของรัฐ 2 แบบ แม้ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีพระราชบัญญัติการจัดตั้งที่แตกต่างกัน แต่มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดก็จัดอยู่ในสองแบบนี้คือ มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งทุกแห่งจะระบุ “ให้มหาวิทยาลัย...เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณกรรมการการอุดมศึกษา”

        ส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พระราชบัญญัติแต่ละแห่งจะระบุ “ให้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายอื่น” 

         ซึ่งสรุปผลจากมาตรา 36 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 และพระราชบัญญัติจัดตั้ง จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างดังนี้ 

           ความเหมือนคือการเป็นอิสระด้านการบริหารจัดการ มีเสรีภาพทางวิชาการ โดยมีสภาสถาบันเป็นผู้กำกับดูแล แต่ความต่างคือ การบริหารบุคคลและการบริหารงบประมาณ ที่มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการยังต้องบริหารคน และเงินตามระเบียบราชการ ส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับได้รับการยกเว้นไม่ต้องบริหารคนและเงินตามระเบียบราชการ และสามารถออกระเบียบ ข้อบังคับขึ้นมาใช้เองได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถก้าวไกล ไปสู่การแข่งขันได้ในระดับโลก

        ทว่า เกือบ 20 ปีไม่มีมหาวิทยาลัยไทย ติดอันดับ 1 ใน 200 มหาวิทยาลัยยอดนิยมของโลก  ซ้ำร้ายกลับเกิดปัญหามากมาย ทั้งการไร้คุณภาพของบัณฑิต การทุจริต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การกลั่นแกล้งบุคลากร ไม่มีธรรมาภิบาล ฯลฯ

         ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจาก”อธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย”โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการ “เงินและอำนาจ” ที่ปราศจากการควบคุม เรียกรวม ๆ ว่า “ปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษา” แม้ว่าคสช.จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 มาแก้ไขถึงสองฉบับแล้ว คือคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 ที่มุ่งแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และคำสั่งคสช.ที่ 37/2560 ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการโดยให้สามารถแต่งตั้งคนเกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีได้ 

          แต่ดูเหมือนทั้งสองคำสั่งจะไร้ผลในการแก้ไขปัญหา คำสั่งแรก(39/2559)ใช้เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหา 4 มหาวิทยาลัย แต่ผ่านไปเข้าสู่ปีที่ 2 ยังไร้วี่แววทั้งที่เคยประกาศก่อนหน้านั้นว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ซ้ำร้ายบางแห่งคณะกรรมการที่ตั้งเข้าไปแก้ไขปัญหาทำท่าอยากอยู่ต่อเสียเองอีก รวมทั้งหลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเป็นกรรมการสภาสถาบัน และเป็นคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) 

         ส่วนคำสั่งคสช.ที่ 37/2560 คือเป็นคำสั่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในอุดมศึกษาไทย เพราะเป็นการ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ผิดให้เป็นถูก แทรกแฃงกระบวนการยุติธรรม ก้าวล่วงลงไปในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และพระราชบัญญัติของอีกหลายสถาบัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการในระยะยาวแน่นอน

        ย้อนกลับมาดูชีวิตความเป็นอยู่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง หลังจากมีการยุบทบวงมหาวิทยาลัยมารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยรวมมหาวิทยาลัยเดิมและมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่คือราชภัฏ ราชมงคล มาไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งในห้าแท่งของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา”(สกอ.) 

        จากการที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่ มีหน่วยงานและบุคลากรเยอะ รวมทั้งมีบริบทโครงสร้าง วัฒนธรรม ความแตกต่างระหว่างหน่วยงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทำให้แม้แต่คนในกระทรวงเดียวกันยังแทบไม่เข้าใจบริบทของกันและกัน จึงไม่แปลกที่รัฐมนตรีไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง 

        โดยเฉพาะอุดมศึกษาที่ต้องการ “ความเป็นอิสระและเสรีภาพทางวิชาการ” จนเป็นเหตให้รัฐมนตรีไม่อยากเข้าไปยุ่ง ทั้งที่ในมหาวิทยาลัยเองมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคล เนื่องจากปัจจุบันในแต่ละสถาบันมีบุคลากรอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ ข้าราชการ(ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยลงทุกที) กับพนักงาน(ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) 

         ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 ที่ต้องการลดจำนวนข้าราชการ และให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหมดภายในปี 2545 เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ โดยให้มหาวิทยาลัยบรรจุพนักงานแทนข้าราชการ และให้ได้รับอัตราเงินเดือน 1.5 และ 1.7 เท่าของข้าราชการสายสนับสนุน และสายวิชาการตามลำดับ (โดยไม่มีสวัสดิการ ใดๆ ทั้งการรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ) 

          แต่สุดท้าย มีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถออกนอกระบบได้ แถมในปี 2547 ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเกิดขึ้นใหม่อีก 40 แห่ง (เปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยครู) และปี 2548 มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเกิดขึ้นอีก 9 แห่ง (เปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา) โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยเดิมอาจารย์สังกัดพระราชบัญญัติเดียวกับครูทั้งหมดในกระทรวงศึกษาธิการ 

           ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย นั้นก็เป็นไปตามมติครม.ปี 2542 แต่ในทางปฏิบัติแทบไม่มีมหาวิทยาลัยใดสามารถจ่ายเงินเดือนได้ตามมติครม. เนื่องจากบางแห่งเอางบประมาณไปจ้างคนเพิ่ม หลายแห่งอ้างว่าหักเอาไปจัดเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน จนเป็นเหตุให้พนักงานมีการออกมาเรียกร้อง ถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองก็มี 

         นอกจากนี้ ล่าสุดงบประมาณที่ใช้เลื่อนเงินเดือนประจำปีร้อยละ 6 เหมือนข้าราชการก็ถูกสำนักงบประมาณเหลือเพียงร้อยละ 4 ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยยิ่งได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน ถึงขั้นต้องออกมาเรียกร้อง ดังที่ปรากฏเป็นข่าว 

        ในส่วนของข้าราชการนั้นในปี 2554 คณะกรรมการข้าราชครูและบคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้เสนอให้ครม.ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการครู สายผู้สอน ในวันที่ 31 มีนาคม 2554 ร้อยละ 8 และในวันที่ 1 เมษายน 2554 ครม.มีมติให้ปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบร้อยละ 5 ทำให้ในปีเดียวกันข้าราชการครู ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มร้อยละ 13 ซึ่งสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่บรรจุเข้าทำงานพร้อมกัน มีเงินเดือนเท่ากันอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2554 อยู่ร้อยละ 8 

        ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัย เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเงินเดือนให้เทียบเท่าครู เนื่องจากเป็นวิชาชีพเดียวกัน หลายคนเป็นข้าราชการครูมาก่อน โดยในตอนแรกได้เรียกร้องให้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด(รวมสายสนับสนุนด้วย) แต่เมื่อเรื่องถูกนำเสนอเข้าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ) ก.พ.อ.แย้งว่าเมื่อครูได้ปรับเฉพาะสายผู้สอน ก็จะพิจารณาให้เฉพาะอาจารย์เท่านั้น และแม้ว่าตั้งแต่ปี 2554 ก.พ.อ.เคยมีมติให้ปรับเงินเดือนร้อยละ 8 ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่เรื่องยังไม่เคยถูกนำเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาเลย

        จึงเป็นเหตุให้อาจารย์มหาวิทยาลัยรวมตัวกันครั้งใหญ่ เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

       หลังจากนั้น ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ออกมารับลูกว่าจะนำเรื่องเข้าหารือนายกรัฐมนตรีในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

          ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2560 นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธาน ก.พ.อ. ได้ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ว่าที่ประชุมฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหา โดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็น แต่จะใช้วิธิการแก้กฎหมาย(พ.ร.บ.) เพื่อให้ก.พ.อ.มีอำนาจเสนอครม.ปรับเพิ่มเงินเดือน 8% ได้ โดยใช้เวลา 3 เดือนนั้น 

         "ผมขอยืนยันว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะกว่าจะตั้งกรรมการยกร่าง จัดประชุม เสนอให้ก.พ.อ. เห็นชอบ ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ นำเสนอครม. เห็นชอบ นำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช)พิจารณา 3 วาระ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง" 

          นอกจากนี้ การที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้สัมภาษณ์ ในทำนองว่าไม่ควรไปตื่นเต้นอะไร ข้าราชการเป็นเพียงคนส่วนน้อยในมหาวิทยาลัย รวมทั้งข้อเรียกร้องของพนักงานเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปีร้อยละ 6 เป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัย 

          อยากฝากไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าข้าราชการในมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่ไม่ถึงสองหมื่นคน แต่ก็ยังถือเป็นฟันเฟือง และกลไกในการขับเคลื่อนสถาบันและประเทศไปสู่ Thailand 4.0

          " ผมเชื่อว่าข้าราชการหลายคนทำงานด้วยอุดมการณ์ หลายคนมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ด้านการสอน การวิจัยและมีตำแหน่งทางวิชาการ หลายคนทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร เป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานที่กำลังจะก้าขึ้นมาแทนที่ข้าราชการในอนาคต ท่านควรสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเขาเหล่านั้น ไม่ใช่ไล่ให้ไปเป็นครูประถม "

         ในส่วนของพนักงานซึ่งมีอยู่ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับและมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการนั้น ก็ล้วนใช้ฐานเงินเดือนที่อ้างอิงและรับการจัดสรรงบประมาณจากกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวตามที่ท่านเข้าใจ

         ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่พวกเราถูกทอดทิ้ง  จึงต้องออกมาเรียกร้องให้มี "กระทรวงการอุดมศึกษา" เพื่อให้พวกเรามีรัฐมนตรีที่รู้ และเข้าใจ เพื่อมาช่วยรับฟังความความคิดเห็น ปัญหา และความเดือดร้อนของพวกเราบ้าง

            การที่รัฐบาลจะใช้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 แต่คนที่เป็นครูบาอาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งข้าราชการและพนักงานยังถูกละเลย ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่คนเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ก็อย่าหวังว่าประเทศไทยจะก้าวไกลไปสู่ Thailand 4.0 ได้

----------//--------

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ