คอลัมนิสต์

เปิด !! ทางหวนสู่นายกฯของ “บิ๊กตู่” ...รัฐบาลแห่งชาติ ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนทางที่ "บิ๊กตู่" จะหวนคืนสู่ตึกไทยคู่ฟ้าอีกครั้ง อาจจะหมายถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" ด้วย !!??

 

              หลังปีใหม่ ภาพการเมืองยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้กำหนดอนาคตการเมืองไทย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ประกาศตัวเป็นครั้งแรกว่าตอนนี้เป็นนักการเมือง และแสดงว่าท่าทีพร้อมเป็น “นายกฯคนนอก” อีกครั้ง

              สำหรับเรื่องการเป็น “นายกฯคนนอก” นั้น เพื่อความเป็นธรรมกับ “บิ๊กตู่” และเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ก็ต้องบอกว่า ถ้าเรียกให้ถูกต้อง ก็คือ “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง” ซึ่งสุดท้าย ต้องผ่านกระบวนการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา 

              "บิ๊กตู่" จึงบอกว่า "การเป็นนายกฯคนนอก (นอกบัญชีพรรคการเมือง) ก็เป็นนายกฯตามระบบ ที่เปิดช่องนี้ไว้ก็เพื่อตัดเรื่องปฏิวัติ ต่อไปนี้จะไม่มีปฏิวัติแล้ว เพราะนายกฯคนนอกก็เลือกกันในรัฐสภา" 

              เมื่อค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้วว่า “บิ๊กตู่” น่าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็มักจะมีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนเปิดช่องให้ไว้อยู่แล้ว ฉะนั้นมาดูกันว่า ถ้า “หัวหน้าคณะยึดอำนาจ” คนนี้จะมาเป็นนายกฯอีกครั้ง จะมาในช่องทางใดได้บ้าง

 

เปิด !! ทางหวนสู่นายกฯของ “บิ๊กตู่” ...รัฐบาลแห่งชาติ ??

 

 

 

 

              ทางแรก คือ การลงสมัคร ส.ส.ในนามหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งจะได้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ที่มาตามกระบวนการประชาธิปไตย หากได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.และได้รับเลือกจากสภาให้มาเป็นนายกฯ ก็จะมีความสง่าผ่าเผยที่สุด

              ต้องบอกว่าในทางแรกนี้ ณ วันนี้ “บิ๊กตู่” ไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากมีเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สำหรับคนที่เป็นสมาชิก สนช. หรือ เป็น ครม. หรือ เป็น คสช. อยู่ และต้องการจะลงสมัคร ส.ส. จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งตอนนี้รัฐธรรมนูญประกาศใช้มา 9 เดือนแล้ว

              ฉะนั้นทางนี้ตัดไป

              ทางที่สอง คือ เป็นนายกฯที่มาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองสนับสนุน คือ นายกฯตามมาตรา 88 ที่กำหนดให้พรรคเสนอได้ไม่เกินพรรคละ 3 รายชื่อ

              ย้อนความกันนิดนึง ก็ต้องบอกว่าทันทีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” เผยแพร่บทบัญญัตินี้ออกมา ก็มีการมองกันว่า นี่คือ ทางหนึ่งที่เปิดไว้ให้กับ “คนนอก” อย่าง “บิ๊กตู่” ซึ่งทาง “มีชัย” พยายามบอกว่าไม่ใช่ เพราะพรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครก็ได้ ไม่ได้บังคับ และตามหลักพรรคก็น่าจะเสนอชื่อของคนในพรรคตัวเอง

              อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูเงื่อนไขของผู้ที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อให้เป็นนายกฯนั้น จะมีเพียง 2 ข้อ คือ หนึ่งเจ้าตัวยินยอม และ ต้องมีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี โดยต้องเลือกอยู่ในบัญชีเพียงพรรคเดียว

              หาก พล.อ.ประยุทธ์ เลือกใช้ช่องทางนี้ จะมีข้อดี คือ จะได้รับการยกย่องว่ากล้าเปิดตัวตั้งแต่ต้น เพราะบัญชีรายชื่อนี้ต้องเปิดออกมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เป็น “จุดขาย” ของพรรคนั้น แต่ในทางการเมืองมีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า การเปิดตัวเร็ว ก็จะโดนโจมตีเร็ว 

              การตั้งรัฐบาลตามช่องทางนี้จะไม่ยาก เพราะถ้าพูดตรงๆ ก็ต้องบอกว่า “บิ๊กตู่” มีเสียง ส.ว. 250 คน ตุนอยู่ในกระเป๋าแล้ว แค่ได้เสียง ส.ส.อีกเกิน 125 เสียง จาก ส.ส.ก็ตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่จะเป็นข้อเสียคือ กลายเป็น “รัฐบาลเสียงข้องน้อยในสภา” และสุดท้ายก็จะอยู่ไม่ได้

              จริงๆรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนฯ (ส.ส.)เป็นคนเลือกนายกฯ โดยให้ใช้เสียงเกินครึ่ง แต่มีการกำหนดเอาไว้ว่าช่วง 5 ปีแรก ให้ ส.ว.มาร่วมเลือกด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นไปหลังเกิด “คำถามพ่วง” ในการทำประชามติ

              นอกจากนี้หาก “บิ๊กตู่” ตัดสินใจไปอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง อาจจะทำให้พรรคอื่นที่อาจจะเป็นพันธมิตรทางการเมืองต่อกันไม่แฮปปี้ เกิดภาพว่า “บิ๊กตู่” ไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะถึงจุดนั้นก็คงยังนั่งตำแหน่งนายกฯและหัวหน้า คสช.อยู่ อาจถึงขั้นเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อไม่ให้เกิด “การใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ตัวเอง”

              ข้อเสียอีกอย่าง คือ หากพรรคที่ “บิ๊กตู่” ไปอยู่ในบัญชีนายกฯไม่ชนะเลือกตั้ง หรือกลายเป็นพรรคอันดับ 3-4 การจะให้มาเป็นนายกฯก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

              อีกช่องทาง ที่ “รัฐธรรมนูญมีชัย” เปิดไว้ให้กับ “บิ๊กตู่” ในการกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แม้ไม่ได้มีชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ คือ หากเลือกนายกฯในบัญชีไม่ได้ ก็เปิดช่องให้เลือกนายกฯ “นอกบัญชีได้”

              กรณีนี้มีระยะเวลากำหนดไว้ให้ทำได้ใน 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้เช่นกัน

              ย้ำว่า 5 ปี เช่นเดียวกับช่องทางที่สอง เพราะหมายถึงอย่างน้อยในช่วง 2 อายุสภา หมายถึง “บิ๊กตู่” สามารถเป็นนายกฯได้ถึง 2 สมัย สูงสุด 8 ปี เพราะ ส.ว.ชุดแรกที่จะมาจากการการแต่งตั้งโดย คสช.ก็จะมีอายุ 5 ปีด้วย

              หากมาตามช่องทางนี้ ด้านหนึ่ง “บิ๊กตู่” อาจถูกโจมตีว่าเป็น “นายกฯคนนอก” ตามแผนที่วางไว้ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะได้ภาพว่า “เป็นนายกฯคนกลาง”

              อย่างไรก็ตาม การจะมาเป็นนายกฯตามช่องทางนี้ก็ไม่ง่าย เพราะต้องใช้เสียงมากกว่าปกติ คือ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของ 2 สภารวมกัน คือ ไม่น้อยกว่า 500 คน ในการไฟเขียวให้เลือกนายกฯนอกบัญชีได้

              หากจะเป็นสูตรนี้ ทางหนึ่งคือ จะต้องมีพรรคการเมืองใหญ่ อย่างน้อย 1 พรรคมาร่วมสนับสนุน “บิ๊กตู่” ด้วย

              ซึ่งถ้าใครติดตามการเมืองมาแบบใกล้ชิด จะเห็นได้ว่าตอนนี้กำลังมีกระบวนการพยายามให้ “พรรคประชาธิปัตย์” มาเป็นพรรคนั้นอยู่ แต่ถ้าแผนให้ “พรรคประชาธิปัตย์” มาหนุน “บิ๊กตู่” ไม่สำเร็จ พรรคนี้ก็อาจจะถูกทำให้ลดขนาดลงไป  

              หรือ อีกสูตรหนึ่ง ถ้าไปถึงจุดนั้น “รัฐบาลแห่งชาติ” ก็อาจจะเกิดขึ้น !!

 

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ