คอลัมนิสต์

 เปิดแผนป้องกันน้ำท่วมเมือง"ชาละวัน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดแผนป้องน้ำท่วมเมืองชาละวัน       ฟื้นแก้มลิง “บึงสีไฟ-แม่น้ำพิจิตร”

 

           ห้วงเวลานี้หลายพื้นที่ภาคใต้ยังต่อสู้อยู่กับน้ำท่วม ขณะภาคเหนือตอนล่างอย่าง จ.พิจิตร เพิ่งจะสร่างซามาได้เพียงแค่อาทิตย์เดียว หลังต้องจมอยู่ใต้บาดาลกว่า 3 เดือน ทำให้ชาวพิจิตรได้เรียนรู้อะไรมากมายจากน้ำท่วมครั้งนี้ แม้วิถีของคนจังหวัดนี้จะหนีไม่พ้นเรื่องน้ ำ(ท่วมและแล้ง) จากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ตาม  ด้วยเหตุจังหวัดพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแอ่งกระทะรองรับน้ำหลากจากทั้งแม่น้ำยมและน่านได้เป็นอย่างดี

 เปิดแผนป้องกันน้ำท่วมเมือง"ชาละวัน"

         “คม ชัด ลึก” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงสี” ถึงแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชาละวัน หลังต้องประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมากว่า 3 เดือนและต้องอยู่กับน้ำท่วมขังที่ยาวนานกว่าทุกๆ ปี ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากปีนี้พายุเข้าหลายลูก ส่งผลให้ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การระบายน้ำในพื้นที่ก็มีปัญหา เนื่องจาก จ.พิจิตร เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยธรรมชาติ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะรองรับน้ำจากจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่มีพื้นที่กว่า 5 หมื่นไร่อย่าง “บึงสีไฟ” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครเหลียวแลคิดจะแก้ไขปรับปรุง รวมทั้ง “แม่น้ำพิจิตร” หรือแม่น้ำน่านสายเก่าที่มีความยาวถึง 127 กิโลเมตรนั้น ก็ถูกบุกรุกขวางกั้นทางน้ำไหลผ่าน จึงทำให้พื้นที่ จ.พิจิตร ทั้ง 12 อำเภอ จมอยู่ใต้บาดาลนานกว่าทุกปี

           “เผอิญพื้นที่พิจิตรต่ำกว่าทุกจังหวัด ทั้งเพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ก็เหมือนเป็นพื้นที่รับน้ำไปโดยปริยายมวลน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งยมและน่านก็จะไหลมารวมกันที่นี่ อันที่จริงวิถีชีวิตของคนพิจิตรก็อยู่กับน้ำมานานแล้ว ตอนแรกผมก็แปลกใจว่าทำไมทุกบ้านมีเรือยาว พอมาอยู่เห็นวิถีชีวิตของคนที่นี่เลยเข้าใจ น้ำท่วมถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนพิจิตร ที่นี่คนเขาเคยชินกว่าที่ราบลุ่มภาคกลางด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าปีนี้น้ำมาเร็วเกินไป เร็วกว่าที่คิดไว้ ตั้งตัวกันแทบไม่ทัน”

 เปิดแผนป้องกันน้ำท่วมเมือง"ชาละวัน"

            ผู้ว่าฯ พิจิตร ยอมรับว่าแม้รู้ดีปีนี้น้ำมาเร็วอุตส่าห์เลื่อนการทำนาให้เร็วขึ้น 1 เดือนก็ยังเอาไม่ทัน ปกติการทำนาปีของพิจิตรจะอยู่ในช่วงมิถุนายนถึงกันยายน แต่ปีนี้เริ่มที่เดือนพฤษภาคมเก็บเกี่ยวเสร็จในเดือนสิงหาคม แต่ปรากฏว่าน้ำมาในเดือนกรกฎาคม ทำให้ข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายเก็บเกี่ยวไม่ทัน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอถูกน้ำท่วมหมด โดยเฉพาะอำเภอที่อยู่ติดแม่น้ำยมและน่าน ได้แก่ อ.เมือง บางมูลนาก สามง่าม และโพธิ์ประทับช้าง จะท่วมหนักสุด ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น ขณะนี้สั่งการให้ทุกอำเภอจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงอำเภอละ 1 แห่งเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย ในส่วนของจังหวัดจะเร่งพัฒนาขุดลอกบึงสีไฟให้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่และฟื้นฟู ปรับปรุงแม่น้ำพิจิตรสายเก่าให้กลับมาใช้ได้ดังเดิมหลังถูกบุกรุก สร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในลำน้ำจนมีสภาพตื้นเขินไม่สามารถใช้การต่อไปได้

             “สำหรับแผนป้องกันน้ำท่วมพิจิตรในระยะยาว ตอนผมมารับตำแหน่งเมื่อตุลาคมปีที่แล้วก็เริ่มในทันที เพราะทราบข้อมูลมาล่วงหน้าแล้วว่าพิจิตรถูกน้ำท่วมทุกปี  ผมให้นโยบายไปทุกอำเภอว่าจะต้องหาแหล่งเก็บกักน้ำที่เป็นแก้มลิงไว้ในทุกอำเภอ  ในส่วนของจังหวัดเองมีอยู่ 2 ที่คือบึงสีไฟและแม่น้ำพิจิตร บึงสีไฟมีเนื้อที่ทั้งหมด 5,390 ไร่ ปัจจุบันบรรจุน้ำได้แค่ 2 ล้านลบ.ม.เท่านั้น มันตื้นเขินไปเยอะ มีวัชพืชปกคลุม ถ้าขุดลอกได้ตามแผนที่วางไว้จะบรรจุได้ถึง 12 ล้านลบ.ม. อีกส่วนคือแม่น้ำพิิจิตร เดิมคือแม่น้ำน่านสายเก่า แต่โดนคนบุกรุกบ้าง มีวัชพิชปกคลุมบ้าง ตอนนี้กำลังรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ มีความยาวประมาณ 127 กิโลเมตร ครอบคลุม 6 อำเภอ วันนี้แม่น้ำพิจิตรกำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หากเป็นไปตามแผนจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 10 ล้านลบ.ม.”

               วีระศักดฺิ์มั่นใจว่าหากทั้ง 3 โครงการสำเร็จตามแผนจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 20 กว่าล้านลบ.ม. อย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม จ.พิจิตร ได้ระดับหนึ่ง และที่สำคัญจะสามารถเก็กกักมวลน้ำก้อนนี้ไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีก ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่นาน ซึ่งบางโครงการไม่ได้งบประมาณดำเนินการแต่อย่างใด โดยเฉพาะการฟื้นฟูแม่น้ำพิิจิตร ซึ่งถูกบุกรุกมายาวนานกว่า 30 ปี จนบางช่วงไม่เหลือร่องรอยของแม่น้ำให้เห็น จังหวัดได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านที่บุกรุก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะนี้เตรียมขอความร่วมมือไปยังกรมชลประทานให้ขุดลอกลำน้ำและสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่วนบึงสีไฟขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในทุกอำเภอมาช่วยพัฒนาฟื้นฟูในเบื้องต้น โดยการจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์แบ่งโซนพื้นที่ให้แต่ละอำเภอรับผิดชอบก่อนจะขุดลอกใหญ่โดยใช้งบรัฐ

             “อย่างการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรขณะนี้ยังไม่ได้ใช้งบประมาณเลย ขอแค่ว่าดึงน้ำเข้ามาก่อนเพราะมีประตูระบายน้ำอยู่แล้วที่ชลประทานสร้างไว้แต่ยังไม่ได้ใช้ เนื่องจากมีคนบุกรุกมากขึ้น ก็มีการเจรจาบางรายยอม บางรายก็ไม่ยอม รายที่ไม่ยอมก็ขอว่าทำอย่างไรให้น้ำผ่านได้จะช่วยตัดมวลน้ำจากลำน้ำน่านเพื่อมาลงแม่น้ำพิจิตร หลังจากที่เราฟื้นฟูไปได้ระยะหนึ่งตอนนี้เริ่มมีน้ำไหลบ้างแล้ว ซึ่งถ้าเราได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดผมว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดีและยังเป็นแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญให้คนสองฝั่งสามารถนำน้ำมาใช้ในช่วงหน้าแล้งได้ด้วย การพัฒนาตอนนี้เราอาศัยการมีส่วนร่วมที่ทุกชุมชนอยากเห็น ที่บุกรุกมา 20-30 ปี ตอนนี้เจรจาได้ 70-80% แล้ว ทุกคนยินดีเป็นการช่วยเหลือชุมชนทั้งจังหวัด”

             ในส่วนการพัฒนาบึงสีไฟ ผู้ว่าฯ พิจิตร ระบุว่า ในครั้งแรกทางจังหวัดได้ตั้งงบประมาณเพื่อขุดลอกบึงสีไฟให้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก พร้อมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยถอดโมเดลมาจากบึงฉวาก ซึ่งได้ของบประมาณไปทั้งหมด 900 ล้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาขุดลอกบึงสีไฟ โครงการปรับปรุงอะควาเลียม และโครงการสร้างเลนจักรยาน หรือไบค์เลนรอบบึงสีไฟ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการผ่านทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว แต่โครงการกลับถูกแขวนไว้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของครม. เนื่องจากมีการร้องเรียนของคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงอะควาเลียมที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ก่อนจะมาเริ่มต้นใหม่ใน 2 โครงการคือการพัฒนาขุดลอกบึงสีไฟ โดยกรมเจ้าท่า วงเงิน 341 ล้านบาท และโครงการสร้างเลนจักรยานรอบบึง วงเงิน 65 ล้านบาท โดยจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ

              “มาพิจิตรหลายคนนึกถึงวัด มีวัดดังมากมายอย่าง วัดท่าหลวง วัดบางคลาน หลวงพ่อเงิน ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวก็นึกถึงบึงสีไฟ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่บึง พอไปดูรอบๆ บึงเห็นแล้วรับไม่ได้ ก่อนหน้าจะมารับราชการที่พิจิตรฝันว่าจะทำเลนจักรยานรอบบึงสีไฟให้เหมือนบึงฉวาก พอมาดูของจริงสร้างไม่ได้ ถนนไม่มีสถาพเป็นถนนเลย มีขยะเต็มไปหมด เดิมทีบึงสีไฟมีพื้นที่ 3 หมื่นกว่าไร่ อันดับ 3 ของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ดและกว๊านพะเยา แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ถามชาวบ้านบอกว่าบึงสีไฟไม่มีน้ำมา 30 ปีแล้ว ช่วงหน้าน้ำข้างนอกน้ำท่วมแต่ในบึงกลับไม่มีน้ำเลย จึงตั้งใจว่าะพยายามฟื้นฟูพัฒนาบึงสีไฟให้กลับคืนมาใหม่เท่าที่จะเป็นไปได้ หวังให้เป็นแก้มลิงรับน้ำขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด และเพื่อเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้คนพิจิตร” ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ กล่าวย้ำทิ้งท้าย พร้อมความวาดหวังในใจลึกๆ ว่าคงจะได้เห็นผลงานแห่งความสำเร็จก่อนจะโบกมือลาตามวิถีราชการ!

  กศน.หนุุนพัฒนา “บึงสีไฟ” แก้น้ำท่วม 

             หากไม่นับพื้นที่ภาคการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ จ.พิจิตร สำนักงาน กศน.จังหวัดพิิจิตร ตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้หนักที่สุด อันเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องและสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำเป็นแอ่งรองรับน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง โดย “ไพฑูรย์ บัวสนิท” รองผู้อำนวยการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกศน.จังหวัดพิจิตร เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าสาเหตุมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและยาวนานหลายชั่วโมงในวันที่ 4 ตุลาคม 2560 จนเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน ทำให้เอ่อท่วมเข้าไปในสำนักงานจนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถขนย้ายออกไปได้

 เปิดแผนป้องกันน้ำท่วมเมือง"ชาละวัน"

           “ท่วมเพราะน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยาวนานหลายชั่วโมงแล้วน้ำไม่มีทางระบาย ประกอบกับน้ำในบริเวณข้างเคียงไหลลงมาสมทบด้วย เนื่องจากที่ตั้งของกศน.อยู่ในที่ต่ำสุด แต่โชคดีที่จังหวัดได้ประสานไปยังชลประทานเร่งเอาเครื่องสูบน้ำมาช่วย ซึ่งก็สามารถแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง แต่เครื่องมืออุปกรณ์สำนักงานถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ส่วนเรื่องช่วยเหลือเยียวยาได้ทำเรื่องไปยังส่วนกลางก็ตอบรับมาว่างบมีจำกัด ทำให้ต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองโดยการทอดผ้าป่าหาเงินมาซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหายได้บางส่วน”

             ไพฑูรย์ยอมรับว่าน้ำท่วมพิจิตรในปีนี้หนักกว่าปี 2554 เนื่องจากปี 2554 เป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนซึ่งในเมืองพิจิตรได้รับความเสียหายไม่มากนัก แต่ผลกระทบเกิดขึ้นทางตอนล่างมากกว่า แต่ปีนี้เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงมาและไม่มีทางระบายออกไปสู่ภายนอกเนื่องจากทุกพื้นที่มีแต่น้ำท่วมขัง ปัจจุบันยังเห็นร่องรอยสภาพน้ำท่วมบริเวณอาคารสำนักงานบางอาคาร เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณมาบูรณะซ่อมแซมแต่อย่างใด

             “โรงเรียนบางแห่งก็เพิ่งเปิดเรียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง” รักษาการผู้อำนวยการกศน.จังหวัดพิิจิตร กล่าวย้ำ พร้อมคาดหวังแผนพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่และการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรให้เป็นเส้นทางน้ำไหลตลอดทั้งสายจะได้ช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิจิตร ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลเมือง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ