คอลัมนิสต์

 “คดีทักษิณ”ภาค 2 จบแบบไหน ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คดีทักษิณ" มีถึง 4 คดี ที่รอการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ในชั้นศาล แต่คดีจะจบแบบไหน จะได้ตัว"ทักษิณ" มารับโทษหรือไม่ หากศาลตัดสินว่าผิด

         กลับมาอีกครั้งกับคดีของ“ทักษิณ ชินวัตร ”อดีตนายกฯ หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องออกหมายจับจำเลยและจำหน่ายคดีชั่วคราวไว้นาน หลังจากที่ “ทักษิณ ” หลบหนีคดีไป เรียกว่าเป็น “คดีทักษิณ” ภาค 2 ก็ว่าได้

          โดยหลังจาก พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.60 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ได้ปัดฝุ่น“คดีทักษิณ” ที่ค้างอยู่มาพิจารณาอีกครั้ง

           โดยในส่วนของอัยการ มีคดีที่ยื่นฟ้อง“ ทักษิณ” อยู่ 2 คดี คือ คือคดีที่กล่าวหาว่า “ทักษิณ” ทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีที่กล่าวหาว่าร่วมทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนีคดี

           ดังนั้น เมื่อ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาฯฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ อัยการจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองคดี พร้อมทั้งขอให้ศาลฎีกาฯมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้า“ทักษิณ”จำเลย โดยอ้าง มาตรา28 ,มาตรา69

           มาตรา 28 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯระบุว่า ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลย แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลย

            ส่วนในบทเฉพาะกาลมาตรา 69 บัญญัติว่า บทบัญญัติใน พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 60 ไม่กระทบต่อการดําเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดําเนินการไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.ป.ฉบับนี้ ใช้บังคับ ส่วนการดําเนินการต่อไปให้ดําเนินการตาม พ.ร.ป.ฉบับนี้

            ส่วนอีก 2 คดี คือ คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคดีหวยบนดิน และคดีทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ปฯหรือคดีเอ็กซิมแบงค์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วเช่นกัน

           โดยสรุป ตอนนี้มีถึง 4 คดี ที่รอการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาคดีในชั้นศาล

           ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ คดีที่ “ทักษิณ” ถูกฟ้องว่า ทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เนื่องจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือกผู้พิพากษาใหม่จำนวน 6 คน เพื่อเติมให้ครบ 9 คน หลังจากผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะ 6 คนเดิม พ้นตำแหน่งไป  ซึ่งก็เลือกเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าในจำนวนผู้พิพากษา 6 คนที่เลือกมาใหม่ มี 5 คนที่เคยเป็นองค์คณะในคดีโครงการจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว“ทักษิณ” ตกเป็นจำเลย โดยในจำนวนนี้มี 4 คนที่ตัดสินว่า“ ยิ่งลักษณ์”กระทำผิด ส่วนอีก 1 คน ตัดสินยกฟ้อง

           ขั้นตอนต่อไปองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนก็จะประชุมกันเพื่อพิจารณาคำร้องของอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยหรือไม่ หากศาลฯพิจารณาคดีลับหลังจำเลย คดีนี้ก็จะเป็นคดีแรกที่มีการนำพ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 60 มาใช้

         สำหรับ“ ทักษิณ” ยังไม่มีการแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีให้ แต่ก่อนหน้านี้นายพิชิฏ ชื่นบาน อดีตทนายความของ“ทักษิณ” กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ได้เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะทนายความชุดเดิมที่ีเคยทำคดีนี้

        ทั้งนี้นายพิชิฏ ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ60 สามารถใช้บังคับกับคดีเก่าที่อัยการสูงสุดเคยยื่นฟ้องไปแล้วได้หรือไม่ เพราะคดีของ“ทักษิณ” เป็นคดีที่อัยการสูงสุดเคยยื่นฟ้องแล้วและศาลออกหมายจับ สั่งจำหน่ายคดี เป็นคดีเก่าแล้ว และเห็นว่าคดีที่จะนำ พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 60 มาบังคับใช้ได้ ต้องเป็นคดีใหม่ที่ยื่นฟ้องตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 60 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ก.ย.60 เป็นต้นไป

         สำหรับคดี“ทักษิณ” ทั้ง 4 คดีข้างต้น หากศาลฯมีคำสั่งตามคำร้องให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ก็จะมีการนำสืบพยานกันในชั้นศาล ซึ่งทางฝ่าย“ทักษิณ” ก็สามารถแต่งตั้งทนายความและนำพยานหลักฐานเข้าสู้คดีได้ 

          ซึ่งสุดท้ายหากศาลยกฟ้องทั้ง 4 คดี ก็ไม่มีอะไรที่จะไปบังคับกับ“ทักษิณ” ได้  ในขณะที่อายุความในคดีซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ทักษิณ” 2 ปี อายุความจะขาดลงในเดือนตุลาคม 2561 เนื่องจากครบ 10 ปี  แต่ก็ใช่ว่า“ทักษิณ” จะกลับไทยได้สะดวก เพราะยังมีหมายจับในคดีที่กองทัพบกฟ้องหมิ่นประมาท

        แต่สมมุติว่า ศาลฯตัดสินว่า“ทักษิณ” กระทำผิด และพิพากษาจำคุก ซึ่งไม่จำเป็นต้องทั้ง 4 คดี หาก“ทักษิณ” ยังหลบหนีคดีอยู่ ก็ต้องถูกออกหมายจับซึ่งหมายจับที่ออกตาม พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ60 จะไม่มีอายุความ

        หากเป็นเช่นนั้นถามว่าจะได้ตัว“ทักษิณ” มารับโทษในเมืองไทยมั๊ย

        ก็ดูเอาจากอดีตก็แล้วกันที่ผ่านมา 9 ปีกว่า ยังไม่มีวี่แววว่า จะได้ตัว “ทักษิณ” กลับมารับโทษในคดีที่ดินรัชดาฯ จนจะขาดอายุความในปีหน้าแล้ว

        “ทักษิณ” ปัจจุบันอายุ 68 ปี แล้ว 

          ขณะที่มีคำพูดว่า “ คนเราเมื่ออายุขึ้นด้วยเลข 6 ก็ให้นับจำนวน ปี ขึ้นด้วยเลข  7 ก็ให้นับจำนวน เดือน ขึ้นด้วยเลข 8 ปีก็ให้นับจำนวน วัน ที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้”

          จบแบบไหน “คดีทักษิณ” ภาค 2 ติดตามชม 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ