คอลัมนิสต์

บทเรียน“คดีครูจอมทรัพย์” กับการรื้อฟื้นคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คดีครูจอมทรัพย์" ให้บทเรียนอะไรบ้างกับผู้ที่ต้องการรื้อฟื้นคดี และหากต้องการรื้อฟื้นคดีให้สำเร็จต้องทำอย่างไร

             การลงเอยในคดีที่นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร หรือ“ครูจอมทรัพย์” ขอรื้อฟื้นคดี ในคดีที่เคยถูกจำคุกในข้อหาขับรถชนคนตายโดยประมาท ด้วยการที่ศาลฎีกายกคำร้อง และตามมาด้วยการที่ตำรวจกล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนในการรื้อฟื้นคดีอันเป็นเท็จรวมทั้งตัวเธอ 

              อีกทั้งตามข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2526 ยังไม่มีคดีใดที่รื้อฟื้นสำเร็จแม้แต่คดีเดียว อาจทำให้ประชาชนทั่วไปบางคนรู้สึก“เข็ดขยาด” ไม่อยากขอรื้อฟื้นคดีอีกต่อไป โดยมองว่า นอกจากจะรื้อฟื้นคดีไม่สำเร็จตามที่ตนเองต้องการแล้ว อาจโดนคดีใหม่เพิ่มเข้าไปอีก    

             แต่ใครก็ตามที่กำลังมีความรู้สึกเช่นนั้น ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ“คดีครูจอมทรัพย์” และหลักการเกี่ยวกับการรื้อฟื้นคดีอาญา ให้ถ่องแท้เสียก่อน  

              ประเด็นแรก “คดีครูจอมทรัพย์” ให้บทเรียนอะไรบ้าง

              หนึ่ง “คดีครูจอมทรัพย์” เป็นการ“เดินผิดทาง”ของฝ่ายผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดี

              เดิมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4  สั่งให้รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของ“ครูจอมทรัพย์” ไว้พิจารณาและสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีที่ขอรื้อฟื้น มาจากการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟัง"พยานบุคคล"ที่ทาง“ครูจอมทรัพย์”  นำมาเบิกความในชั้นไต่สวนคดี โดยเฉพาะนายสับ วาปี  ที่รับสารภาพว่าเป็นคนขับรถชนนายเหลือ พ่อบำรุง ถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ “ครูจอมทรัพย์” เป็นคนขับรถชนซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจเป็นพยานหลักฐานใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้ แต่ปรากฏว่าพอถึงชั้นพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องกลับไม่นำนายสับ วาปี มาเบิกความ แต่กลับไปมุ่งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจพิสูจน์รอยเฉี่ยวชน หรือเรื่องสีของรถ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ“พยานบุคคล”ที่ทางฝ่ายผู้ร้องเคยใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นในการขอรื้อฟื้นคดี จนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ศาลรับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีไว้พิจารณา แต่พอถึงชั้นพิจารณาคดี กลับหันมาใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์แทนที่จะนำพยานบุคคลชุดเดิมมาสืบ ซึ่งหากทางฝ่ายผู้ร้องต้องการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็ควรใช้ตั้งแต่แรกของการรื้อฟื้นคดี  และนี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ศาลฎีกายกคำร้องในที่สุด  

          ดังนั้นบทเรียนอันหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการรื้อฟื้นคดี ก็คือ หากเริ่มต้นในชั้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดี จนศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ก็ควรใช้พยานหลักฐานนั้นต่อไปในชั้นพิจารณาคดี ซึ่งน่าจะประสบผลสำเร็จมากกว่า 

         สอง ไม่ควรใช้“สื่อ”เป็นที่สืบพยานนอกศาล

          “คดีครูจอมทรัพย์” ก่อนที่จะถึงวันสืบพยานในชั้นพิจารณาคดีในคดีขอรื้อฟื้น พยานของฝ่ายผู้ร้อง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ซึ่งไม่เป็นผลดีในทางคดีต่อทางผู้ร้อง เพราะเหตุผลหนึ่งที่ศาลฎีกายกคำร้อง“ครูจอมทรัพย์” ก็คือ กรณีของนางทองเรศ วงศ์ศรีชา  พยานฝ่ายผู้ร้อง  ที่เบิกความในชั้นศาลเกี่ยวกับจุดที่นายเหลือ ผู้ตาย ถูกรถกระบะชนและกระเด็นไปว่า ผู้ตายนอนอยู่บนถนนด้านหลังรถกระบะ แต่นางทองเรศกลับไปให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ว่า ผู้ตายนอนอยู่ที่ด้านหน้ารถกระบะคันเกิดเหตุ

          ศาลฎีกา เห็นว่า เหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกรถกระบะชนแล้วกระเด็นไปอยู่บริเวณใดของรถกระบะ นับเป็นข้อสาระสำคัญ หากนางทองเรศ อยู่ในเหตุการณ์ด้วยจริง น่าจะจดจำได้เป็นอย่างดี การที่นางทองเรศ เบิกความและให้สัมภาษณ์แก่ส่ื่อมวลชนกลับไปกลับมา ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่านางทองเรศ จะมีส่วนรับรู้เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่

         ดังนั้น เมื่อมีคคีความ อย่าปล่อยให้พยานของคุณให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ  ควรเก็บพยานไว้นำสืบในชั้นศาล มิเช่นนั้นอาจทำให้เสียเปรียบในคดีได้ 

        สาม อย่าใช้วิธีการผิดๆในการรื้อฟื้นคดี เช่น สร้างพยานหลักฐานขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นพยานเท็จ (ในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีครูจอมทรัพย์ ขอรื้อฟื้นคดี ระบุ ตอนหนึ่งว่า มีขบวนการว่าจ้างให้รับผิดแทนครูจอมทรัพย์) เพราะนอกจากจะรื้อฟื้นคดีไม่สำเร็จแล้ว จะถูกดำเนินคดีตามมาอีกด้วย

         สี่  หน่วยงานรัฐต้องช่วยผู้ที่ต้องการรื้อฟื้นคดีีด้วยการใช้วิธีค้นหาความจริงเพื่อนำมารื้อฟื้นคดี

         ประเด็นที่สอง   รื้อฟื้นคดีอย่างไรถึงจะสำเร็จ 

         การที่จะรื้อฟื้นคดีอาญาได้ มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ พิสูจน์ให้เห็นว่า  1.พยานหลักฐานที่ศาลนำมาพิพากษาลงโทษนั้น ปรากฏในภายหลังว่าเป็น"พยานหลักฐานเท็จ" 2. มี “พยานหลักฐานใหม่”ที่จะแสดงว่าบุคคลที่ได้รับโทษทางอาญานั้น ไม่ได้กระทำความผิด

          ที่ผ่านมาที่รื้อฟื้นคดีกันไม่สำเร็จ  ก็เพราะว่าข้อเท็จจริงที่นำมาเสนอต่อศาลในการขอรื้อฟื้นคดี ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 2 ประการข้างต้น

          แต่ก็ใช่ว่าจะหมดหนทาง  เพราะหากต้องการรื้อฟื้นคดีให้สำเร็จ ก็มีทางเป็นไปได้ โดยผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีต้องมาศาลด้วยมือสะอาด นำสิ่งที่เป็น“พยานหลักฐานจริง”มาแสดงต่อศาลให้ศาลเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่เคยถูกลงโทษ

        ที่สำคัญ คนที่ตกเป็น“แพะ” ไม่ควรรู้สึก“เข็ดขยาด”กับการที่จะร้องขอรื้อฟื้นคดี ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯเพราะมันเป็นช่องทางเยียวยาให้กับ“ผู้บริสุทธิ์ ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ