คอลัมนิสต์

เอเลี่ยนอันตราย‘หนอนแบนนิวกินี’ พาหะนำโรค-ทำลายระบบนิเวศ   

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เอเลี่ยนอันตราย‘หนอนแบนนิวกินี’ พาหะนำโรค-ทำลายระบบนิเวศ          

                 เห็นแล้วน่าสยดสยองพองขน นึกว่าจะมีแต่ในหนังหรือในเกมหนอนเอเลี่ยนจอมเขมือบบุกโลก แต่มันก็เป็นของจริงพบเจอแล้วในประเทศไทย สำหรับหนอนตัวแบนนิวกินีหรือหนอนเอเลี่ยน มีถิ่นกำเนิดในปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่เลวร้ายที่สุด 1 ใน 100 ของโลกที่มีการแชร์สนั่นในโลกออนไลน์ จากเว็บไซต์ siamensis.org  โดยการเผยแพร่ของนักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม “ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์” ซึ่งยืนยันว่ามีการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินีจริง และเป็นรายงานครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีระบาดในประเทศที่เป็นแผ่นดิน หลังจากเคยพบการระบาดบนเกาะสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างหนอนชนิดนี้มาวิจัยและศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว คาดว่าอีกประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะรู้ผลที่ชัดเจน

                 การค้นพบครั้งนี้เริ่มจาก มงคล อันทะชัย ได้ส่งภาพหนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินหอยทากในบริเวณบ้านแถบ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เข้าไปในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด ซึ่งอาจารย์ยิ่งยศ ลาภวงศ์ ได้ระบุชนิดว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี จึงเดินทางไปตรวจสอบร่วมกับ จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล โดยตามไปเก็บตัวอย่างที่บ้านคุณมงคลเพื่อยืนยัน จนมั่นใจว่าเป็นหนอนชนิดดังกล่าวจริงๆ

                ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วมีการแชร์คลิปตัวประหลาดตืดจากไต้หวันเมื่อชาวไต้หวันนามว่า เว่ย เชง เจียน ได้พบตัวประหลาดในระหว่างที่เขากำลังตกปลาอยู่ที่ท่าเรือเมืองเผิงหู โดยตัวประหลาดนี้มีลักษณะสีเขียวยาว ลักษณะยืดตืด พ่นเส้นใยสีชมพูยาว คล้ายหนอน จนชาวเน็ตแห่แชร์ว่อนโซเชียล กระทั่ง ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเฉลยว่าที่แท้จริงคือ “หนอนริบบิ้น” โดยเส้นใยเหนียวที่พ่นออกมา มีพิษอ่อนๆ แต่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ที่โดนเข้าไป 

                     ส่วนในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วมีชาวบ้านวังมะสระ ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปลงในเฟซบุ๊กใช้ชื่อ ถวิล ขำกรัด ว่าพบเจอเหตุการณ์ประหลาดสร้างความสยองขวัญจนขนหัวลุก ขณะที่กำลังเตรียมตัวจะไปทำสวน โดยได้เดินมาพบเจอกองทัพหนอนเดินขบวน ทุกตัวจะคืบคลานปีนป่ายเรียงกันเป็นแถว พันกันไปมาแต่ก็เคลื่อนไปข้างหน้าได้ ซึ่งแตกต่างจากหนอนที่เคยพบเจอทั่วไป ที่จะคืบคลานเพียงตัวเดียว แต่ครั้งนี้พบว่าพวกมันเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับมนุษย์ต่างดาวหรือเอเลี่ยนในภาพยนตร์  ซึ่งไม่พบว่ามีใครเคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน  เมื่อถ่ายคลิปไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงตรวจสอบก็ได้รับคำตอบว่าเป็นเพียงหนอนธรรมดาที่อาจจะพยายามหนีฝนหรือน้ำ ไม่ใช่หนอนเอเลี่ยนแต่อย่างใด

                แต่หนอนแบนนิวกินีที่พบครั้งนี้เป็นของจริง เพราะในรายงานโดย ดร.นณณ์ระบุชัดว่า หนอนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี โดยพื้นที่ที่พบครั้งแรกอยู่ในจังหวัดปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อโตเต็มที่แล้วมีลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลมทั้งสองด้าน แต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็กๆ ค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นส่วนปาก หนอนชนิดนี้กินหอยทากเป็นอาหารหลัก และถ้าไม่สามารถหาหอยทากกินได้ ยังมีรายงานกินทากเปลือยและไส้เดือนด้วย ในการล่านั้นหนอนตัวแบนจะเลื้อยออกหากินในเวลากลางคืนและตามล่าหอยทากด้วยการตามกลิ่นเมือกไป โดยการกินหอยทากนั้นหนอนจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกินเข้าไป

                 อย่างไรก็ตาม หนอนชนิดนี้เป็นสัตว์ 2 เพศในตัวเดียวกัน แต่การผสมพันธุ์จะต้องใช้ 2 ตัว ออกจากไข่ประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นสามารถผสมพันธุ์ได้ทันที โดยการวางไข่แต่ละครั้งประมาณ 5-10 ฟอง มีอายุยืนประมาณ 2 ปี ระหว่างนี้ก็จะวางไข่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย ส่วนการกำจัดสามารถทำได้สองวิธีคือใช้น้ำร้อนลวกหรือหยอดด้วยเกลือป่น แต่ห้ามใช้การสับหรือหั่นเพราะแต่ละชิ้นจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้และจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอีก

               สุรชัย ชลดำรงค์กุล อดีตนักวิชาการด้านกีฏวิทยา สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยอมรับว่า สัตว์รุกรานต่างถิ่นจะเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากจะไม่มีศัตรูที่ต่อต้านหรือทำลายตามธรรมชาติ ทำให้มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ยากลำบากในการยับยั้งและทำลาย ที่สำคัญยังมีการขยายพันธุ์ 2 แบบ ทั้งวางไข่และงอกใหม่ของลำตัวหลังถูกทำลาย

             “อันตรายมากๆ ถ้ามันมาระบาดในประเทศไทย เพราะสัตว์พวกนี้จะไม่มีศัตรูจากธรรมชาติมาทำลายได้เลย ในทางตรงข้ามมันก็ยังทำลายสัตว์ในท้องถิ่นบ้านเราด้วย นี่เฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศ ยังไม่พูดถึงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อคน ซึ่งอาจจะอันตรายยิ่งกว่าทั้งเป็นพาหะนำโรคและอันตรายโดยตรง” อดีตนักวิชาการกีฏวิทยากล่าวย้ำ

              อย่างไรก็ตาม ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย 42 มาตรา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ระบุชัดว่า “ประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาฯ จะต้องดำเนินการเท่าที่จะกระทำได้และเป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน การนำเข้า ควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์อื่น” 

              ในฐานะประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ลำดับที่ 188 ต้องดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดในอนุสัญญาฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2537 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 ได้มีมติให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบของอนุสัญญาฯ และในคราวประชุมเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) ที่เมืองทรอนด์เฮม ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่า สาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องให้ความสนใจ เนื่องจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รองจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย 

 อันตรายจาก“โรคพยาธิหอยโข่ง” 

              จากรายงานที่ระบุว่า “หนอนแบนนิวกินี” ถือเป็นพาหะอันตรายที่นำโรคมาสู่คน โดยเฉพาะโรคพยาธิปอดหนู หรือบางครั้งอาจเรียกว่า “พยาธิหอยโข่ง” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอิโอสิโนฟิลิก โดยโรคนี้พบครั้งแรกเมื่อปี 1935 ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสานในกลุ่มประชาชนที่ชอบรับประทานหอยน้ำจืดดิบๆ สุกๆ ที่ทำมาจากสัตว์พาหะที่มีพยาธิระยะติดต่อ เช่น หอยน้ำจืด โดยเฉพาะหอยโข่ง หอยบก หอยทาก กุ้งและปูน้ำจืด หรือตะกวด

เอเลี่ยนอันตราย‘หนอนแบนนิวกินี’ พาหะนำโรค-ทำลายระบบนิเวศ   

             ข้อมูลรายงานโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าพยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู โดยพยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู ตัวอ่อนระยะนี้ไชเข้าหอยทากหรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง (หอยปัง) หอยขม หอยเชอรี่ แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ เมื่อหนูกินหอย พยาธิจากหอยจะเข้าไปในสมองหนู เจริญต่อไปเป็นพยาธิตัวแก่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู และออกไข่ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปตามวงจรชีวิต หากคนรับประทานหอยดิบๆ สุกๆ ที่มีพยาธิระยะติดต่อ พยาธิก็จะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตาได้

            ส่วนหลังจากรับประทานอาหารที่มีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป 1-4 สัปดาห์ จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะปวดศีรษะมาก คอแข็ง หลังแข็ง ชัก อาจเป็นอัมพาต ซึม หมดสติ หรือตายได้ ถ้าพยาธิไชเข้าตา ตาอาจจะอักเสบ มัว และบอดได้

            การป้องกันคือ ไม่รับประทานอาหารดิบๆ สุกๆ พืชผักผลไม้ หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ควบคุมหนูและหอยพาหะนำโรค

              

         

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ