คอลัมนิสต์

ติง’สมคิด’ตีความกฎหมาย เอาใจคนเกษียณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุดมศึกษาเดือด!! เมื่ออธิการบดีม.นอกระบบตีความกฏหมายข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547..ติดตามเรื่องนี้กับ"คมชัดลึก ออนไลน์"

 

         "ผมเห็นว่าเราไม่ควรรังเกียจเดียดฉันท์ใครที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมเสียงข้างมาก เราไม่ควรใช้กฎหมายแบบศรีธนญชัยเพื่อเอาชนะคะคานกันจนทำให้มหาวิทยาลัยตกต่ำในสายตาของนักศึกษา คณาจารย์และบุคคลทั่วไป"ศ.ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีความกฏหมายข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ผ่านสำนักข่าวอิศรา

         สั่นสะเทือนไปทั้งวงการอุดมศึกษาไทย  เมื่อนักการศึกษา นักวิชาการศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ มองว่า"อธิการบดีมธ."กำลังตีความกฏหมายเอาใจคนเกษียณ หรือไม่ แท้จริงทางออกของปัญหานี้คืออะไร??

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) สะท้อนภาพ กรณีศ.ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นต่อกฎหมายว่าด้วยอายุอธิการบดี โดยอ้าง คำสั่ง คสช.ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 คำพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา คดีหมายเลขแดงที่ ม 31/2560 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่เกี่ยวข้องกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ บ 230/2560 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560 ที่เกี่ยวกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 29 กันยายน 2560 ที่เกี่ยวกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

          โดยศ.ดร.สมคิด ได้ยกคำพิพากษาศาลปกครองทั้งสองแห่งที่ตีความคำสั่งคสช.ที่ 37/2560 แตกต่างกัน แล้วสรุปว่า “มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการที่กระบวนการสรรหาเสร็จสิ้นเรียบร้อยและกำลังนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯก็สามารถอ้างคำพิพากษาศาลปกครองกลางทั้งสองฉบับที่ออกมาภายหลังเพื่อดำเนินการเสนอชื่ออธิการบดีที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีไ้ด้นั้น

          ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ติงว่า การแนะนำดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้องเนื่องจาก ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา ที่พิพากษาแย้ง โดยศาลปกครองนครราชสีมาได้นำคำสั่งคสช.ที่ 37/2560 ข้อ 2 ที่กำหนด “...ให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้

          สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ

        “ มาตีความและพิจารณาอย่างครบถ้วน นั้นคือ แม้คำสั่งคสช.จะระบุให้แต่งตั้งอธิการบดีหรือผู้บริหารอื่น จากบุคคลที่ใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้ แต่ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ” ซึ่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 55 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาออกจากราชการเมื่อ (2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(คือเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์)"ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ 

          นอกจากนี้ กรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ การแต่งตั้งอธิการบดีและการบริหารงานบุคคลต้องยึดกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ เริ่มจากพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547

          และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 มาตรา 18 ข กำหนดตำแหน่งผู้บริหาร(1)อธิการบดี...วรรคท้ายการสรรหาและแต่งตั้งให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ราชภัฏ มาตรา 18(8) และมาตรา 28,29 เมื่อสรรหาจนได้บุคคลดำรงตำแหน่งอธิการบดีแล้ว พ.ร.บ.ราชภัฏมาตรา 18(13) ระบุว่าให้สภาฯพิจารณาบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

          ซึ่งพ.ร.บ. ในมาตรา 49 วรรคสี่ ของพ.ร.บ.ข้ราชการพลเรือนฯ ยังระบุว่าเมื่ออธิการบดีทำผิดวินัยให้เลขาฯสกอ.เป็นผู้บังคับบัญชาตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ส่วน ที่อ้างว่าอธิการบดี(เกษียณอายุราชการ)เป็นได้ตามมาตรา 26,27 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้น

          มาตรา 26 ระบุเพียงให้ผู้ดำรงตำแหน่งตำแหน่งบริหารตามมาตรา 18 ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ส่วนมาตรา 27 ระบุให้คนที่มิใช่ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ที่ตีความว่า “คนเกษียณ” นั้น หาใช่ไม่ เพราะพ.ร.บ. ข้ราชการพลเรือนฯ คงไม่ไปกำหนดบังคับกับคนที่อยู่นอกพ.ร.บ.หรือไม่เกี่ยวข้อง

          หากไปดูในมาตรา 32(3) นั้นยังมีข้าราชการอื่น  ที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสามารถโอนมา หรือขอช่วยราชการเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ รวมถึงมาตรา 65/2 ของพ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฉบับที่ 2 ที่ระบุให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ ที่สำคัญมาตรา 26,27 ทีระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายนั้น

          กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้เพียงเงินประจำตำแหน่งเท่านั้น เพราะเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารก็ยังคงรับเงินเดือนตามอัตราตำแหน่งเดิมของตัวเอง ดังนั้นคนเกษียณที่ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงไม่สามารถรับเงินเดือนตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งได้ จึงต้องให้สภาสถาบันออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตัวเอง จากเงินรายได้ เพราะไม่สามารถรับเงินเดือนจากงบแผ่นดินได้

          ดังนั้นการที่ คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 37/60 ให้สามารถตั้งคนนอกเป็นอธิการบดีได้ นั้นหากอายุไม่เกิน 60 ปี อาจแต่งตั้งให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 65/1 ได้ แล้วอยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้ แต่คนอายุเกิน 60 ปี ไม่สามารถทำได้ และจะเกิดปัญหาการบริหารงานบุคคลตามมา

          ถึงสภาสถาบัน อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการออกระเบียบการเงินตามพ.ร.บ.ราชภัฏ พ.ศ.2547 มาตรา18(12) ที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี และกรณีไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 18(13) เรื่อง การบริหารงานบุคคลอีกด้วย

         ส่วนการที่ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด ตีความเจตนารมย์กฎหมายพ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 19 ว่าต้องการบังคับใช้เฉพาะคนที่ต่ออายุราชการไปถึง 65 ปีที่ห้ามดำรงตำแหน่งบริหารนั้น คงไม่ใช่เจตนารมย์ของกฏหมาย เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิเฉพาะบุคคล ในเมื่อข้าราชการทั่วไปต้องเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

          เหนืออื่นใดคนที่มีคุณสมบัติ และเป็นความต้องการของสถาบันอุดมศึกษาให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนอายุครบ 65 ปี แต่ให้ทำหน้าที่เฉพาะ"สอนและวิจัย" ห้ามดำรงตำแหน่งบริหารนั้นชอบแล้ว แต่"ตำแหน่งอธิการบดี"นั้น ในเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้จึงไม่สามารถทำได้ และที่สำคัญไม่มีหน่วยราชการหรือองค์อิสระใดๆ ในประเทศไทยที่ไม่ได้กำหนดอายุของผู้ดำรงตำแหน่งไว้

         ดังนั้นกรณีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการนั้นจึงต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คืออายุไม่เกิน 60 ปี แต่หากต้องการให้สามารถแต่งตั้งบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปีให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและสามารถบริหารงานบุคคล และบริหารราชการได้โดยชอบตามระเบียบราชการ ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เท่านั้น

          แม้จะใช้คำสั่งคสช.ให้แต่งตั้งได้แต่ปัญหาการบริหารงานบุคคล และการบริหารราชการก็จะยังไม่จบ

          ประเด็นสุดท้าย ที่ศ.ดร.สมคิด อ้างว่าในปัจจุบันอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการมีจำนวนมากที่มีอายุเกิน 60 ปี คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการสรรหาของประชาคมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง

          "หลายแห่งกระบวนการสรรหาไม่เปิดโอกาสให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเลือกเลย หลายแห่งเปิดให้หน่วยงานเสนอชื่อ แต่สภาสถาบันกลับไม่พิจารณาเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาคม"

          ส่วนตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีนั้น "ประชาคมไม่มีส่วนร่วม"ในการพิจารณาอยู่แล้วเพราะคนที่มีอำนาจเสนอแต่งตั้งคือ"อธิการบดี"คนเดียวเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ท่าน"อธิการบดีสมคิด"ท่านคงทราบดี

          "กฏหมาย"แม้เขียนดีสักแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับคนนำมาใช้ว่ามี"จิตสำนึกที่ดี"มีความรับผิดชบต่อสังคม มีความเป็นมนุษย์หรือไม่ และรู้จักคำว่า"พอเพียง"แค่ไหน เหนืออื่นใดรู้จักการ"ให้โอกาส"หรือ"มีสปิริต"หรือไม่ เหล่านี้หากบังเกิดในแวดวงอุดมศึกษาไทย คงไม่ตกต่ำเฉกเช่นนี้แล!!!

         0 กมลทิพย์  ใบเงิน 0 รายงาน

         [email protected]

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ