คอลัมนิสต์

“ผู้การปปป.” มือปราบเงินทอนวัด คน พศ.รู้ดี - พระแค่สนับสนุน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ตัวการในการทุจริต ก็คือคนที่มีอำนาจอนุมัติงบในปีนั้นๆ เพราะคนเหล่านี้สามารถจัดการและดูแลงบประมาณ ตลอดจนตัดสินใจได้ทั้งหมด”

 

          “คดีเงินทอนวัด เฟส 2” ที่ตำรวจ ปปป. หรือ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สรุปสำนวนส่งต่อให้ ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไต่สวนต่อจำนวน 23 วัด มูลค่าความเสียหายถึง 141 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 19 คน ในจำนวนนี้เป็นพระ 4 รูปนั้น ยังคงมีเบื้องลึกเบื้องหลังน่าสนใจ

          เพราะปฏิบัติการตรวจสอบเงินทอนวัดเฟสแรก 12 วัด มาจากงบประมาณเพียงก้อนเดียว จาก 3 ก้อนใหญ่ๆ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คือ งบอุดหนุนบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด โดย พศ.ได้รับการจัดสรรปีละ 500 ล้านบาท แต่เงินทอนวัด เฟส 2 จำนวน 23 วัด มุ่งไปที่งบอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่ง พศ.จัดสรรงบส่วนนี้ให้แก่วัดต่างๆ ที่เป็น “สำนักเรียน” สูงถึง 1,200 ล้านบาทต่อปี และงบอีกส่วนคือ งบเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกราว 600 ล้านบาทต่อปี

          พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการ ปปป. อธิบายพฤติการณ์ “ทุจริต” งบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่เรียกว่า “โกงกันดื้อๆ” หรือ “ปล้นกลางแดด” ก็คงไม่ผิด

          “จะเป็นลักษณะวัดที่ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่กลับของบประมาณไปดำเนินการ หรืออ้างว่าเปิดสอน ถือเป็นการของบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีโรงเรียน แต่กลับของบประมาณไปใช้ ในเฟส 2 เราได้ดำเนินคดีในส่วนนี้”

          สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น เอกสารของ พศ. อธิบายโครงการนี้เอาไว้อย่างงดงาม ยิ่งใหญ่อลังการ กล่าวคือการศึกษาพระปริยัติธรรมถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษาดั้งเดิมของไทยมาแต่ครั้งโบราณกาล และเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชในพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นครูสอน ผู้เรียนมีทั้งพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป โดยมี “สำนักเรียน” “สำนักศาสนศึกษา” และ “โรงเรียนพระปริยัติธรรม” ทั่วประเทศเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ที่ผ่านมามีพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไปศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ประมาณ 2.5 ล้านรูป/คน

          วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ก็เพื่อสร้างศาสนทายาท ให้ผู้เรียนคือ พระภิกษุ สามเณร มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และสามารถสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามและปฏิบัติได้ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังศีลธรรมอันดีงามให้เกิดแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะเมื่อได้รับการศึกษาและน้อมนำไปปฏิบัติแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความสงบสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

          แต่ภายใต้วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สวยหรู กลับปรากฏว่ามีข้าราชการ พศ.จำนวนหนึ่ง รวมทั้งพระและฆราวาส เข้าไปมีเอี่ยวทุจริตในเรื่องนี้
“งบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งในส่วนของการจัดการศึกษาและโรงเรียน แต่ละปีทางสำนักพุทธฯ ทราบดีอยู่แล้วว่าจัดงบประมาณให้เท่าไหร่ และเม็ดเงินอุดหนุนลงไปที่ไหนบ้าง ซึ่งทางสำนักพุทธฯ สามารถตรวจสอบได้เอง และพิจารณาว่ากรณีไหนเป็นความผิดทางวินัย ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่ส่วนไหนที่เป็นความผิดอาญา ก็เข้ามาร้องทุกข์กับตำรวจ ปปป.เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น หากพบว่ามีมูลก็ส่งต่อให้ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อไป” พล.ต.ต.กมล ระบุ

          ข้อหาที่ตำรวจ ปปป.แจ้งกับผู้ถูกกล่าวหาไปบ้างแล้ว มีอยู่ 3 ข้อหาหลัก คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 86 สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต
ช่วงแรกมีข่าวว่าตำรวจ ปปป.เตรียมแจ้งทั้ง 3 ข้อหานี้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 19 ราย ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พระ และฆราวาส แต่เมื่อขอคำยืนยันเรื่องนี้จากผู้การ ปปป. ได้รับคำชี้แจงว่า ในส่วนของพระน่าจะโดนแค่ฐานเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้ข้าราชการกระทำความผิดเท่านั้น

          “การดำเนินคดีกับพระ 4 รูปในกรณีนี้ อาจเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือให้ข้าราชการนำงบประมาณไปใช้จ่ายโดยทุจริต หลักการจะเป็นลักษณะนี้ เพราะตัวการที่กระทำผิดจริงๆ เกิดจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ที่ดูแลงบประมาณอยู่ ซึ่งข้าราชการมีเจตนาทุจริตแต่แรกอยู่แล้ว ส่วนพระที่มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดมีเพียงแค่บางรูป ซึ่งเข้าข่ายในส่วนของการสนับสนุนการกระทำความผิดของข้าราชการ และส่วนใหญ่พระจะเป็นเพียงเครื่องมือให้ข้าราชการกระทำผิด หรือมีส่วนร่วมอื่นๆ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นความผิดตามกฎหมาย และจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด”

          พล.ต.ต.กมล บอกด้วยว่า การทำงานของตำรวจ ปปป. มีการตรวจสอบงบประมาณย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555-2559 เชื่อว่าบุคคลที่ตำรวจแจ้งข้อหา เป็นผู้กระทำความผิดแน่นอน เพราะมีหลักฐานชัดเจน และผู้เกี่ยวข้องที่เป็นข้าราชการน่าจะเป็นกลุ่มเดิม โดยเชื่อว่าคงไม่มีขบวนการอะไรที่สลับซับซ้อนมากไปกว่านี้ ยืนยันว่าพฤติกรรมแต่ละรูปแบบที่พบการกระทำผิด ตำรวจสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด

          “สมมติว่าปี 2555 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่ไหนบ้าง ใช้งบเท่าไหร่ แล้วคนกลุ่มนี้เอางบไปลงตรงไหนบ้าง เราก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ถ้าพบคนที่กระทำผิดกฎหมาย หน่วยงานก็มาร้องทุกข์กับเรา และเราก็ได้ดำเนินการรับคำร้องทุกข์ รวบรวมหลักฐานเบื้องต้น จากนั้นก็ส่งไปยัง ป.ป.ช.ภายใน 30 วันตามกฎหมาย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่สำนักพุทธฯ เพราะแต่ละปีจะรู้ว่ามีงบบูรณะปฏิสังขรณ์เท่าไหร่ งบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมเท่าไหร่ มันมีข้อมูลชัดเจนอยู่แล้ว”

          “เพราะฉะนั้นสำนักพุทธฯ เป็นเจ้าภาพตรวจสอบเองจะดีที่สุด แล้วให้ตำรวจ ปปป.ดำเนินการต่อ หรือถ้ามีอุปสรรค อยากให้ ปปป.เข้าไปร่วมบางเรื่อง เราก็ยินดีที่จะเข้าไป” ผบก.ปปป. ระบุ

          เขากล่าวทิ้่งท้ายด้วยว่า ตัวการในการทุจริต ก็คือคนที่มีอำนาจอนุมัติงบในปีนั้นๆ เพราะคนเหล่านี้สามารถจัดการและดูแลงบประมาณ ตลอดจนตัดสินใจได้ทั้งหมด

          ได้ฟังแบบนี้แล้ว ประจวบเหมาะกับที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ได้หวนคืนเก้าอี้ ผอ.พศ. ย่อมคาดการณ์ได้เบื้องต้นว่า คดีเงินทอนวัดและการทุจริตงบประมาณเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจะไม่ถูกตัดตอนให้จบแค่นี้แน่ !
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ