คอลัมนิสต์

เปิดคำพิพากษา(ฉบับเต็ม)‘คดีข้าวจีทูจี’ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคำพิพากษา(ฉบับเต็ม)‘คดีข้าวจีทูจี’  ระบุ เลือกเสนอ‘ยุทธศาสตร์การระบายข้าว’ ตรงต่อ ‘ยิ่งลักษณ์’

             คดีระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1,นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่2  โดยคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 28 คนหนีคดีไป 2 คน  เหลือจำเลย 26 คน แบ่งเป็นนักการเมือง,ข้าราชการ,เอกชน  คำพิพากษามีความยาวถึง 131 หน้า  มีใจความดังนี้

           ...สำหรับปัญหาว่า นายภูมิ จำเลยที่ 1 และนายบุญทรง จำเลยที่ 2  กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์  และยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ส่วนจำเลยที่ 2  ดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์  และยังได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และ 2   ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว

            ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1  ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ครั้งที่ 1/2554  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวในกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้รวมถึงรัฐวิสาหกิจ  และในเรื่องเกณฑ์ราคาให้สามารถเจรจาขายเป็นราคา Ex-warehouse  (ซื้อสินค้าหน้าโกดัง)ซึ่งไม่เคยปรากฏในยุทธศาสตร์ การระบายข้าวฉบับใดมาก่อน 

            ที่ประชุมฯยังมีมติให้เสนอยุทธศาสตร์การระบายข้าวให้ประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.)เห็นชอบ แทนที่จะเสนอให้ กขช. เห็นชอบเพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย ความรอบคอบและรัดกุม หลังจากการประชุมในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 1 ได้เสนอยุทธศาสตร์การระบายข้าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการ กขช.ให้ความเห็นชอบ อันเป็นการปฏิบัติแตกต่างไปจากที่ผ่านมา ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเนื่องจากยุทธศาสตร์การระบายข้าวเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากประธาน กขช.เห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวเพียง 5 วัน บริษัท กว่างตง รัฐวิสาหกิจมณฑลของจีน ก็มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศขอซื้อข้าว  ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การระบายข้าวดังกล่าวอย่างเหมาะเจาะพอดี  ส่อแสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการจัดทำยุทธศาสตร์ การระบายข้าวเพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจของต่างประเทศให้มาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยได้โดยที่รัฐวิสาหกิจนั้นไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของตน  

           รวมระยะเวลาตั้งแต่ บริษัท กว่างตงฯมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จนถึงจำเลยที่ 1  ให้ความเห็นชอบ ผลการเจรจาใช้ระยะเวลาเพียง 9 วัน ทั้งที่สัญญามีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาท ทั้งยังมีข้อพิรุธเกี่ยวกับเงื่อนไขการขายที่ระบุให้ผู้ซื้อคือ บริษัทกว่างตง สามารถนำข้าวที่ซื้อส่งไปยังประเทศที่สามในลักษณะเป็นการพาณิชย์ได้ โดยไม่เคยปรากฏว่ามีเงื่อนไขเช่นนี้มาก่อนในการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเพราะมีผลกระทบต่อราคาแข่งขันในตลาดข้าวซึ่งย่อมเป็นผลเสียต่อประเทศไทย แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องดำเนินการโดย‘คอฟโก้’ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของจีน ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างไทยกับจีนจะเจรจาผ่าน‘คอฟโก้’ เท่านั้น

          จำเลยที่ 1 ยังให้ความเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2  โดยเพิ่มวิธีการชำระค่าข้าวด้วยวิธีโอนเงินผ่านธนาคารและชำระด้วยแคชเชียร์เช็ค ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ใช้สำหรับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เป็นผลให้มีการนำข้าวตามสัญญามาเวียนขายกันภายในประเทศ 

          พฤติการณ์ดังวินิจฉัยข้างต้น แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า บริษัท กว่างตงเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑลสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ร่วมกันวางแผนให้บริษัทกว่างตงฯ เสนอขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศโดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาดแล้วนำไปขายต่อเพื่อรับประโยชน์ส่วนต่าง 

           จำเลยที่ 1 ยังได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับ ให้ขายข้าวแก่บริษัทกว่างตง ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 สัญญา โดยสัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิด ในสต๊อกของไทยปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 1 หมื่นบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด ทำให้รัฐเสียหาย 9,717,165,177 บาท และสัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหัก 2 ล้านตัน ทำประเทศเสียหาย 1,294,109,767 บาท

           ส่วนจำเลยที่ 2   ไม่เปิดประมูลขายข้าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าวในประเทศกลับมุ่งแต่ขายข้าวให้รัฐวิสาหกิจของมณฑล สาธารณรัฐประชาชนจีน   ถึง 6 รัฐวิสาหกิจรวม 8 สัญญา ปริมาณมากถึง22 ล้านตันเศษ  อย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาก่อน เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดปรับตัวลดลง บริษัท กว่างตง ก็ขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่าสัญญาเดิม และเมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลงอีก จำเลยที่ 2 ก็ให้ความเห็นชอบให้ยกเลิกสัญญา  อ้างเหตุว่า บริษัท กว่างตงฯผู้ซื้อไม่ยอมมารับมอบข้าวแต่กลับทำสัญญาขายข้าวชนิดเดียวกันให้รัฐวิสาหกิจของมณฑลรายใหม่ในราคาต่ำลงอีก 

             ประการสำคัญการขายข้าวตามสัญญาในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาด โดยอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ผลที่สุดข้าวที่ขายไปไม่ได้ส่งออกไปนอกประเทศ แต่ถูกนำมาขายต่อภายในประเทศเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างราคาโดยกลุ่มของจำเลย การระบายข้าวของจำเลยที่ 2  จึงมิได้กระทำไปเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลประสบผลสัมฤทธิ์เพื่อยกระดับราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ชาวนาและประเทศชาติอย่างยั่งยื่นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่กระทำไปเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง ซึ่งการสมคบวางแผนนำรัฐวิสาหกิจทั้งสองบริษัท คือ บริษัท กว่างตง และบริษัท ไห่หนาน มาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ โดยแอบอ้างว่าเป็ตัวแทนรับมอบหมายของรัฐบาลจีนเพื่อทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศในราคาต่ำนั้น เป็นแผนการอย่างหนึ่งในการจัดการข้าวโดยมิชอบ

              อีกทั้งเมื่อมีการอภิปรายในสภาให้ตรวจสอบบริษัท กว่างตงและบริษัทไห่หนาน ที่มาทำสัญญาซื้อข้าว ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลกลางจีนหรือไม่ ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์  จึงไม่น่าเชื่อว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการครอบงำได้  บ่งชี้ตรวจสอบเพื่อลดกระแส

           จำเลยที่ 2  ได้เห็นชอบสัญญาซื้อขายกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ตกลงขายข้าวขาว 5% และข้าวหักเอวันเลิศ ปริมาณ 1 ล้านตัน และภายหลังมีการขอแก้ไขสัญญาเพิ่มข้าวขาว 5% อีก 1.3 ล้านตัน รวมเป็น 2.3 ล้านตัน ทำให้ประเทศเสียหาย 5,694,748,116 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2  เป็นการเสียหายแก่รัฐและเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

         ขณะที่นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต  อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์  ทีปวัชระ อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ  จำเลยที่ 4-6 มีหน้าที่เจรจากับบริษัทกว่างตงและไห่หนาน และยังเป็นผู้แก้สัญญาซื้อขายข้าว 4 ฉบับ เสนอให้กับจำเลยที่ 1-2 ซึ่งการซื้อในคราวเดียว จำเลยที่ 4-6 ต้องทราบความผิดปกติ และการซื้อข้าวเพื่อนำไปขายในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อไทยอย่างชัดเจน และหากบริษัทกว่างตงมีสิทธิส่งข้าวไปขายประเทศที่ 3 เท่ากับว่ากรมการค้าต่างประเทศขายข้าวให้บริษัทกว่างตงในราคาที่ต่ำกว่ามาก เพื่อไปทำกำไร ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การกระทำของจำเลยที่ 4-6 ส่อเป็นการวางแผนทำสัญญาโดยไม่ผ่านรัฐบาล ขณะที่การชำระเงินซื้อขายข้าวยังใช้วิธีจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค ซึ่งบางฉบับจ่ายเพียง 2,400 บาท และ 10,000 บาท โดยคนซื้อแคชเชียร์เช็คก็เป็นคนจากในประเทศทั้งสิ้น จำเลยที่ 4-6 เป็นข้าราชการ มีประสบการณ์ในการซื้อขายข้าว แม้จะไม่ได้เป็นผู้ครอบครองข้าว แต่ก็มีอำนาจในการระบายข้าว ในการซื้อขายข้าวมีข้อพิรุธหลายประการ มีการปกปิดไม่เผยแพร่ข้อมูล

           ส่วนจำเลยที่ 7-15 และ 17-21 มีความเกี่ยวพันกับนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร  จำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 ขณะที่จำเลยที่ 7-9, 12-13, 15 และ 17-18 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเป็นพนักงานของบริษัทสยามอินดิก้า ส่วนจำเลยที่ 10 ทำหน้าที่เปิดบัญชีส่วนตัวในการทำธุรกรรมซื้อแคชเชียร์เช็คชำระเงินค่าข้าวรัฐต่อรัฐ โดยในวงการค้าข้าวจะทราบกันดีหากจะติดต่อซื้อข้าวของรัฐบาลจะต้องติดต่อผ่านทาง นิมล หรือ โจ รักดี จำเลยที่ 15 ลูกน้องคนสนิทของนายอภิชาต ส่วน น.ส. สุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17 เป็นน้องสาวของนายอภิชาติ เป็นระดับผู้บริหารรู้เห็นการทำธุรกิจของ บริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 เป็นอย่างดี ขณะที่บริษัทกรีฑา พร็อพเพอร์ตี้ฯ จำเลยที่ 20 ก็มีน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 บุตรสาวของนายอภิชาติเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งได้มีการเปิดบัญชีส่วนตัวในการซื้อแคชเชียร์เช็ค เกือบ 1,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน จำเลยทั้งหมดจึงมีความผิดร่วมสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และจำเลยที่ 4-6

            องค์คณะจึงมีคำพิพากษาให้จำคุกนายภูมิ จำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง 36 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 

           ส่วนนายบุญทรง จำเลยที่ 2 ให้จำคุกรวม 3 กระทง 42 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 

           ส่วนนายมนัส จำเลยที่ 4, นายทิฆัมพร จำเลยที่ 5 และนายอัครพงศ์  ลงโทษรวม 4 กระทง โดยนายมนัสจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี นายทิฆัมพร 32 ปี และนายอัครพงศ์ 24 ปี

          ส่วนนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) รวม 4 กระทงๆละ 12 ปี รวมจำคุก 48 ปี, นายนิมล หรือโจ รักดี คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 15 จำคุก 32 ปี และให้ปรับบริษัทสยามอินดิก้า จำเลยที่ 10   4 กระทงๆ ละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้บริษัทสยามอินดิก้า, นายอภิชาติ และนายนิมล ร่วมกันชดใช้กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ

          ส่วนจำเลยคนอื่นๆ บางคนก็มีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำผิด ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 4 ปี

          พิพากษายกฟ้อง 8 คน ได้แก่ นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นสามีของญาตินายอภิชาติ ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 ,นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 ,บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด จำเลยที่ 24, บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25, นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 พยานหลักฐานที่ไต่สวนมายังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยทั้งแปดเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 10 และ 14 หรือสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และ 4-6

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ