คอลัมนิสต์

437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          วันที่ 28 กันยายน นี้ ถือเป็นวัน “ธงชาติไทย” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมติให้เป็นวันสำคัญของชาติ ที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ เพิ่มเติมอีกหนึ่งวัน โดยในปี 2560 ถือเป็นโอกาสอันที ที่จะแสดงให้สาธารณะรับรู้ว่า ประเทศไทยมีธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ มาครบ 100 ปี

          และก่อนถึงวันสำคัญของชาติ คณะกรรมการจัดกิจกรรมฉลองครบ 100 ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย สำนักนายกรัฐมนตรี จัดประชุมเชิงวิชาการองค์ความรู้ธงชาติไทย หัวข้อ “100 ปีธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ” เพื่อส่งผ่านองค์ความรู้ให้กับตัวแทนหน่วยงานรัฐ กว่า 500 คนไปเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะต่อไป

                       437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          หากจะพูดถึงความเป็นมาของ “ธงชาติไทย” นั้น มีจุดต้นกำเนิดที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ใช่เพราะมีเรื่องราวมาครบร้อยปี แต่ต้องนับถอยหลังจากนั้นอีก 337 ปี ช่วงกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีของสยาม

          ซึ่งความตอนหนึ่ง ที่ “อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ” ฐานะนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ บอกเล่าให้ผู้ร่วมงานฟังถึงจุดกำเนิดธงประจำชาติยุคแรก ซึ่งครั้งนั้นต้องย้อนไปไกลถึง ยุคการปกครองของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่27 สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งที่มาแต่ครั้งนั้น มาอย่างไม่ตั้งใจ และเกือบจะกลายเป็นประเด็นขัดข้องหมองใจระหว่างคนชาติสยาม กับ ชาติฝรั่งเศสที่เดินเรือเพื่อขอเจริญสัมพันธไมตรี เหตุเผลอหยิงธงชาติคู่อริของ “ฝรั่งเศส” ขึ้นเสาแทน

                      437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          “ปกติคนต่างชาติที่ล่องมาทางเรือจะไปอยุธยา ต้องผ่านเจ้าพระยา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกิดที่ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมฝรั่ง เพราะพระยาวิชเยนทร์ เกณฑ์แรงงานฝรั่งมาสร้างไว้ ปัจจุบันคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ปกติเรือสินค้าสำคัญ เรือที่มากับราชทูตที่จะผ่านต้องมีธรรมเนียมประเพณีคือ ชักธงประเทศของเขาบนเรือ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า ข้ามาถึงแล้ว ขณะเดียวกันสยามเองต้องชักธงขึ้นด้วย เพื่อตอบกลับว่า ข้าพเจ้าก็ยินดีต้อนรับ แต่ตอนนั้นทหารประจำป้อมวิไชยเยนทร์ไม่เคยพบประเพณีแบบนี้ และประเทศไม่มีธงสัญลักษณ์มาก่อน จึงคว้าผ้าที่วางอยู่แถวนั้น ซึ่งดันหยิบธงชาติฮอลันดาชักขึ้นเสาแบบส่งเดช เมื่อทหารฝรั่งเศสเห็นก็ตกใจเพราะเขารบกับฮอลันดาอยู่ เขาไม่ยอมชักธงและไม่ยอมยิงสลุต จนกว่าจะเปลี่ยน โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น ​และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง”

          จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีได้รับการสถาปนาให้ปกครองแผ่นดินสยาม ลักษณะของ “ธง” ประจำชาติ เร่ิมมีเอกลักษณ์และมีลักษณะแจ่มชัด จากธงผ้าพื้นแดง เริ่มนำตราเครื่องหมายแทนตัวพระมหากษัตริย์ลงไว้กลางธงผืนผ้า

          ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 ตามหลักฐานพระราชบัญญัติธง ร.ศ.118 พระองค์กำหนดให้ใช้ “จักร” ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง

                      437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ได้เพิ่มรายละเอียดลงในธงเรือหลวง คือ ช้างสีขาวเผือก ยืนบนพื้นกลางวงจักร เหตุผลสำคัญที่ต้องเพิ่มเติม เพื่อแสดงถึงเกียรติอันสูงสุด ที่มีช้างเผือก ถึง 3 ช้างเข้ามาสู่รัชกาล คือ พระยาเศวตกุญชร, พระยาเศวตไอรยา และ พระยาเศวตคชลักษณ์ และถูกเรียกขานชื่อธง ว่า “ธงช้างเผือก” ซึ่งธงช้างเผือกนั้นถูกใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนธงราษฎรนั้นยังคงเป็นธงพื้นแดงเกลี้ยงเช่นเดิม

          โดยในรัชกาลที่ 4 นั้นมีปรับสัญลักษณ์บนธงชาติ อีกครั้ง โดย นำ “กงจักร” ออก และเพิ่มขนาดช้างสีขาวให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ธงช้าง” และถูกนำมาใช้ทั้งธงเรือหลวง และ ธงเรือราษฎร ซึ่ง “อาจารย์วิษณุ” ขยายความว่า เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ไม่ให้ถือเขาถือเรา เพราะช่วงนั้นสยามค้าขายกับชาติตะวันตกจำนวนมาก และธงสีแดงเกลี้ยงของไทยนั้นซ้ำกับประเทศอื่น

          ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ธงที่ใช้กับเรือหลวง ถูกปรับรูปแบบอีกครั้ง จากช้างสีขาวธรรมดา ปรับให้เป็น ช้างทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา โดย “พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา” ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้เรื่องธง กองทัพเรือ ขยายความไว้ว่า เมื่อช้างเผือกเปรียบเป็นเครื่องแทนตัวของพระมหากษัตริย์แล้ว ดังนั้นการปรับให้ช้างทรงเครื่องยืนแท่น จึงเพื่อความสง่างามและเหมาะสมกับชั้นของพระมหากษัตริย์

          ขณะที่ธงสำหรับชนชาติสยามสามัญชน ยังใช้ธงสีแดงกลางลงรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าข้างเสาเช่นเดิม ซึ่งใช้ต่อเนื่องจนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนรูปแบบและเอกลักษณ์ของธงชาติอย่างสำคัญยิ่ง

                         437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          คำบอกเล่านี้ได้จาก “อาจารย์วิษณุ” ที่ระบุว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสยังจ.อุทัยธานีเพื่อเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม ตามขั้นตอนปกติ ชาวบ้านต้องชักธงชาติเพื่อรับเสด็จ แต่ยุคนั้นถือว่าธงชาติหายาก ราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ ชาวบ้านต้องเก็บรักษา ขณะเดียวกันพระเจ้าแผ่นดินนานๆ ถึงเสด็จที ทำให้ชาวบ้านที่ชักธงสู่เสาไม่ทันระวัง ชักธงกลับหลัง ปรากฎภาพช้างหงายท้อง

          “พระองค์ไม่ได้ติเตียนอะไร แต่กลับทรงรู้สึกว่าหากไม่ให้องค์ความรู้ ธงจะต้องถูกชักผิดๆ ถูกๆ และนึกต่อว่าต้องเปลี่ยนแบบธงชาติ ระหว่างทางกลับพระนคร พระองค์ทอดพระเนตรเห็นธงประดิษฐ์จากชาวบ้านที่นำผ้าสีแดง และสีขาวมาเย็บต่อกันแบบสลับเป็นริ้ว พระองค์จึงเปลี่ยนเฉพาะธงที่ใช้สำหรับราษฎร หรือธงค้าขายให้เป็นธงสีแดงสลับขาวจำนวน5ริ้ว”

          อย่างไรก็ดีในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ประเทศสยามต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ประกอบด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศอังกฤษ และ ประเทศฝรั่งเศส การปรับรูปแบบของสีธงชาติจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง

          อาจารย์วิษณุ เล่าว่า พระองค์ทรงอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2460 มีผู้เขียนเรื่องธงใช้นามปากกาว่า “อะแควเรียส” มีสาระว่า “ธงห้าริ้วสวยงามดี แต่หากจะให้ดีน่าจะมีสีน้ำเงินใส่เข้าไปด้วย เพราะสีน้ำเงิน เป็นสีแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศ” เมื่อรัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรรู้สึกพอพระทัย ประกอบกับช่วงนั้นสยามต้องร่วมรบกับประเทศสัมพันธมิตร ที่ธงของแต่ละประเทศล้วนมีสีน้ำเงินด้วย

                          437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          “สีน้ำเงินยังถือเป็นสีที่ถูกโฉลกกับพระองค์ เพราะทรงพระราชสมภพวันเสาร์ แต่ครั้นจะเติมให้เป็นสีม่วงตามสีวันพระราชสมภพอาจจะไม่เข้ากับสากล พระองค์จึงลองผสมสีม่วงเข้ากับสีน้ำเงิน และได้ออกมาเป็นมีใหม่ คือ สีขาบ ที่มีลักษณะน้ำเงินเข้มอมม่วง พระองค์จึงออกแบบธงชาติใหม่ให้เป็นแบบ 5 ริ้วโดยมีสีขาบอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยสีขาว และต่อด้วยสีแดง และพระองค์ทรงพระราชทานชื่อเรียกว่าธงไตรรงค์ พร้อมความหมาย สีแดงหมายถึงเลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ และ สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งศาสนา”

          ซึ่งในวันที่ประเทศสยามมีธงไตรรงค์ใช้เป็นธงชาตินั้น เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปี ที่แล้ว ในวันที่28 กันยายน พ.ศ.2460

          เกร็ดความรู้เรื่องธงชาติไทย ต่อประเด็นของที่มาธงไตรรงค์ นั้น นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องธงชาติ - พฤฒิพล ประชุมพล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย เล่าให้ฟังด้วยว่า เหตุผลที่สีของธงชาติไทย ในยุคของรัชกาลที่ 6 ยังคงประกอบด้วยสีแดง และสีขาวนั้น อาจเป็นเพราะ สีแดง คือ สีของธงสัญลักษณ์ที่ประเทศสยามใช้มาตั้งแต่หนแรก ขณะที่สีขาวนั้น คือ ตัวแทนของสัญลักษณ์ที่ลงไว้กลางธง ทั้ง จักร, ช้างเผือก เป็นต้น ขณะที่สีน้ำเงินนั้นอาจจะหมายความรวมถึงสีของการร่วมรบกับประเทศสัมพันธมิตรเมื่อครั้งเกิดมหาสงครามครั้งแรกของโลก

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังใช้ธงไตรรงค์ไปแล้ว 10 ปี มีแนวคิดจะปรับรูปแบบของธงชาติไทยอีกครั้ง โดย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดย "อาจารย์วิษณุ" เล่าว่า "ตอนนั้นมีเจ้านายอยากให้กลับไปใช้ธงช้างเผือก ธงจักรี เหมือนเดิม จนถึงขั้นมีการเขียนข้อความดูหมิ่นดูแคลนว่าธงไทยเหมือนฝรั่งเกินไป จะเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น ทำให้ รัชกาลที่7 ตั้งคำถามพระราชทานให้องคมนตร่ปรึกษาหาทางออก แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ พระองค์ทรงพระราชวินิจฉัยว่าไม่มีทางคิดอย่างอื่น ก็ให้ใช้ธงไตงรงค์นี้ต่อไป และยืนยันการใช้มาจนถึงรัชกาลที่ 9 รวมเวลาที่ธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ ก็กินเวลาหนึ่งทศวรรษ

                          437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          อย่างไรก็ดีเกร็ดประวัติเรื่องธงชาติ นั้นยังมีเรื่องเล่าเพิ่มเติม คือ สมัยก่อนธงชาติจะถูกใช้เฉพาะบนเรือหลวง (เรือพระเจ้าแผ่นดิน) กับ เรือราษฎร (เรือสินค้าของประชาชน) เท่านั้น ส่วนหนึ่งเพื่อจำแนกว่าเป็นเรือของประเทศไทย ยามที่ไปติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ แต่อยู่มาวันหนึ่งใน สมัยรัชกาลที่ 4 มีผู้พบเห็นเสาที่ชักธง ปักอยู่ในแผ่นดินสถานที่ตั้งของสถานกงศุล ทำให้คนนำไปกล่าวหาว่า ประเทศสยามตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ และแผ่นดินสูญเสียเอกราชแล้ว ทำให้รัชกาลที่ 4 ตรัสว่าสยามยังเป็นเอกราช และให้นำธงบนเรือมาปักที่ขื่นและเสา หากพวกฝรั่งไม่พาไปตัดหัว ถือว่าเรายังมีเอกราช

          ซึ่งประเด็นนี้ “อาจารย์วิษณุ” ขยายความไว้ให้เข้าใจด้วยว่า “ธงชาติ คือ สัญลักษณ์ของชาติ ที่ผ่านมาเคยมีใช้ธงเป็นสัญลักษณ์สำคัญ​คือ ในเหตุการณ์สงคราม และการเดินเรือ ไม่เคยมีปรากฎว่าชักธงเพื่อบ่งบอกถึงอาณาจักร”

                          437 ปี กับประวัติ “ธงชาติไทย”  ร้อยใจไทยทั้งชาติ

          ดังนั้นในวันที่ทหารของสยามประเทศ ร่วมฉลองชัยกับประเทศสัมพันธมิตร เมื่อเอาชนะในศึกสงครามโลกครั้งที่1 มาได้ จึงได้เห็นภาพทหารสยามถือธงชัยเฉลิมพลที่มีตราสัญลักษณ์ช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมสีแดงด้านหน้าธง และด้านหลังธงเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร.๖ บนผืนธงไตรรงค์

          ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาการก่อเกิดของธงสัญลักษณ์ชาติไทย ทั้ง 437 ปี มาจนถึงวันนี้ ถือว่า ธง คือการประกาศสัญลักษณ์แทนชาติ แทนคนไทยทั้งประเทศ​ และในวันที่ 28 กันยายน นี้ รัฐบาลจะจัดงานใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองวันธงชาติ ที่มีนัยสื่อถึงการพระราชทานธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ขณะที่จังหวัดอุทัยธานี ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศไทยมีธงไตรรงค์ประดับบ้านเรือน จะจัดงานใหญ่เช่นกัน โดยนำธงช้างทรงเครื่องบนพื้นสีแดง ประดับทั่วจังหวัด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ