คอลัมนิสต์

บทพิสูจน์โครงการ“จำนำข้าว”ช่วยชาวนาได้จริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทพิสูจน์โครงการ“จำนำข้าว”ช่วยชาวนาได้จริงหรือ?

                 25 สิงหาคม วันชี้ชะตาของอดีตนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีระบายข้าวจีทูจี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนเกิดเป็นความเสียหายของภาครัฐหลายแสนล้าน โดยอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

             โครงการรับจำนำข้าว มี 2 ช่วง ระหว่าง ตุลาคม 2554-เมษายน 2557 จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มี จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พบช่องทางการทุจริตมีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับซื้อข้าวก่อนออกใบประทวนให้แก่เกษตรกรไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยโรงสีที่เข้าร่วมระหว่างนี้มีเกษตรกรจำนวนมากที่ร้องเรียนความผิดปกติของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนของการกดราคา โกงค่าความชื้น รวมถึงโกงตาชั่ง เกิดความไม่มาตรฐานในการดำเนินโครงการ 

             ขณะเดียวกันภาพรวมฉากใหญ่การระบายข้าวแบบจีทูจี กลับกลายเป็นภาพทุจริตที่เห็นเด่นชัด แต่ในอีกภาพที่ปรากฏโครงการรับจำนำข้าว แม้รู้ว่าเป็นประชานิยม แต่สำหรับชาวบ้านแล้วเม็ดเงินที่หว่านถึงมือทำให้พวกเขายังคิดถึงโครงการรับจำนำข้าว เพราะเป็นราคาข้าวที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

              สุมินทร์ ภูดวงดอก กรรมการสภาเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นรากฐานบนความหวังของชาวบ้านที่มีอาชีพทำนา ส่วนกระบวนการรับจำนำข้าวในพื้นที่ร้อยละ 70 คิดว่าถูกต้องแล้ว ผ่านขั้นตอนกระบวนการรัดกุมที่สุด ถึงวันนี้ก็อยากให้มีโครงการรับจำนำข้าวกลับมาอีก เพราะมีแต่ผลดี

                “ยังคิดถึงโครงการรับจำนำข้าวอยู่นะ เพราะชาวนาได้ราคาดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงจะมีการหักโน่นหักนี่ก็ยังได้ตันละไม่ต่ำกว่าหมื่น”

                  เช่นเดียวกัน สุรินทร์ พันธุ ชาวนาบ้านชุมแสง หมู่ 2 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ระบุว่า ทำนา 36 ไร่ ได้ผลผลิตข้าว 36 ตันต่อฤดูการผลิต ปีนี้ข้าวให้ผลผลิตค่อนข้างดี เนื่องจากได้น้ำและการดูแลรักษาดี และเก็บเกี่ยวก่อนคนอื่น ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ขายได้ราคาดีเฉลี่ยตันละ 7,000 บาท แต่หลังจากนั้นราคาก็เริ่มตกลงเรื่อยๆ จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลราคาข้าวด้วย เพราะทุกวันนี้ ชาวนาอยู่ในภาวะขาดทุนส่วนใหญ่ มีบางรายเท่านั้นที่จะเสมอตัวหรือได้กำไร เงินที่ได้จากการขายข้าวก็แค่ส่งดอกเบี้ย ธ.ก.ส.เท่านั้น เพราะราคาข้าวตกต่ำมาก 

              “ที่ผ่านๆ มา มีโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มีประกัน แต่เราก็ไม่ได้หวังไปให้ราคาสูงถึงตันละ 10,000 เราขอแค่เราพออยู่ได้เท่านั้นเอง หลังจากนี้อีก 3 เดือน พื้นที่ อ.บางระกำ ก็จะพักงดปลูกข้าว รอทำนารอบใหม่ช่วงปลายปี ด้วยความคาดหวังเช่นเดิมคือภาครัฐจะมาช่วยดูแลราคาผลผลิตรอบใหม่หรือไม่” ชาวนารายเดิมกล่าววิงวอน

              ขณะที่ สุทน มะนาวหวาน ชาวนาบ้านย่านใหญ่ หมู่ 8 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ก็มองไม่ต่างกัน โดยชาวนาในพื้นที่ อ.บางระกำ จะทำนาได้เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น ช่วงหน้าฝนจะได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ และปีนี้ในพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการบางระกำโมเดล 60 ได้ปรับปฏิทินทำนาให้เร็วขึ้น โดยเริ่มทำการเพาะปลูกในวันที่ 1 เมษายน เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวให้เสร็จในเดือนสิงหาคม ก่อนที่น้ำจะท่วมขังนาน 2-3 เดือน และจะเริ่มทำนาปรังรอบใหม่อีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 

                  สุทนเผยว่า ปีนี้ฝนตกชุกและน้ำมาเร็วมาก ทำให้บางพื้นที่ถูกน้ำท่วมข้าวเสียหาย อีกจำนวนมาก ก็เร่งชิงเก็บเกี่ยวผลผลิต หลายรายขายข้าวได้ราคาต่ำ อย่างเช่นตนทำนา 100 ไร่ บางแปลง ก็ต้องเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด เพราะเกรงจะถูกน้ำท่วม ขายได้ตันละ 3,000 บาท บางแปลงก็ได้ผลผลิตดี ได้ไร่ละ 1 ตันขึ้น แต่ราคาก็ตกต่ำ ขายได้ตันละ 6,500 บาท ทำให้รายได้จากการขายข้าวรอบนี้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้แต่จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส.เท่านั้น

                “ปีนี้ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านราคาใดๆ ถ้าถามชาวนาก็อยากขายข้าวให้ได้ตันละ 7,000 บาท แต่จะย้อนกลับไปแบบโครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ได้ ที่เคยขายได้ตันละ 10,000 บาท ซึ่งชาวนาก็พอยิ้มออก ส่วนเงินในโครงการจะหายไปไหนบ้าง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบกันต่อไป ปีนี้ภาครัฐให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ถูกน้ำท่วม 3,000 บาทในฤดูการผลิตต่อไป ก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวตกต่ำด้วย และจะมีมาตรการใดๆ ก็ควรออกมาแต่เนิ่นๆ ในช่วงที่ข้าวยังอยู่ในมือชาวนา” เขากล่าววิงวอนทิ้งท้าย                                                   

  “ทุจริตจำนำข้าว”อานิสงส์จากบริหารแบบเบ็ดเสร็จ 

          พวงเพชร วัฒนวิเชียร ผู้จัดการสกต.กาฬสินธุ์ จำกัด กล่าวว่า สกต.กาฬสินธุ์ได้จ่ายเงินไปกับโครงการรับจำนำข้าวมากกว่า 200 ล้านบาท โดยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเฉลี่ยตันละ 15,000-22,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยความชื้น  จากนั้นนำข้าวมาคัดเกรดคุณภาพแยกเป็นส่วนๆ เพื่อนำส่งหรือขายให้แก่โรงสี หรือคู่ค้าระหว่างโรงสี ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความพอใจต่อโครงการรับจำนำข้าวค่อนข้างมาก แต่หากไม่มีทุจริตประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวจริงๆ และยั่งยืน  

           “ถ้าโครงการรับจำนำข้าวกลับมาอีก ชาวบ้านก็อาจจะยิ้มออก แต่ต้องดูกระบวนการให้ดีทุกขั้นตอน อย่าให้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน” ผู้จัดการสกต.กาฬสินธุ์ ให้มุมมอง

          แต่สำหรับ "บำรุง คะโยธา" อดีตสมัชชาคนจน ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น และเป็นหนึ่งในกรรมการศูนย์ชาวนาเอเชีย มองว่า โครงการนี้กลายเป็นบทสรุปแห่งความล้มเหลวในการบริหารงานภาคการเกษตรของรัฐบาล แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามเข้ามาช่วยเหลือชาวนาอย่างมากจากหลายโครงการ ทั้งการแทรกแซงราคา จนถึงการรับจำนำข้าว สุดท้ายก็กลายเป็นช่องทางของกลุ่มแสวงหาประโยชน์ มีทั้งสต็อกข้าวลม โกดังลม ข้าวหาย 

            “โครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความเลวร้ายมากขึ้นจากการบริหารเบ็ดเสร็จ และไม่คิดว่าการกระทำที่นำมาซึ่งการสูญเสียเงินของแผ่นดินหลายแสนล้านบาทนั้นจะนำพาพวกเขาเข้ามาสู่กระบวนการรับโทษทางกฎหมายในคดีอาญา ก่อนหน้านั้นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้คร่ำหวอดในวงการข้าว โรงสี และการตลาดข้าวโลก ได้พยายามท้วงติง และขอให้หยุดแนวคิดจำนำข้าวราคาสูงมาใช้ สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานได้ และปมทุจริตก็เกิดขึ้นจริงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ”

             บำรุงยอมรับว่าความเสียหายต่อรัฐในการรับซื้อหรือจำนำข้าวในราคาตันละ 15,000-20,000 บาท ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ถือเป็นการค้าขายข้าวที่สวนกระแสกับราคาตลาดโลก และไม่สามารถขายข้าวในตลาดโลกในราคานี้ได้ จนทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ เสียลูกค้าไป อีกทั้งยังลืมมองไปว่ากระบวนการแข่งขันค้าขายข้าวประเทศไทยเริ่มมีปัญหา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนาม ลาว ปรับตัวเข้าสู่การทำนาข้าวเพื่อการค้าคุณภาพปริมาณผลผลิตที่ดีกว่ามาก 

             "สำหรับคดีนี้น่าจะเป็นมิติใหม่ของกระบวนการเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องจับตามอง เงินหลายแสนล้าน ถ้าให้ชาวนาจริงๆ คงไม่มากถึงขนาดนั้น ถ้าไม่มีวงจรทุจริตเข้ามา” บำรุง กล่าวทิ้งท้าย                                                                   

                                                            0ทีมข่าวภูมิภาค สำนักข่าวเนชั่น0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ