คอลัมนิสต์

"พนักงานให้การดูแล" ภารกิจนี้เพื่อใคร??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พนักงานให้การดูแล”มืออาชีพ ทุกคนต้องผ่านการวัดสมรรถนะตัวเอง ก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่ ภารกิจนี้สำคัญยิ่ง ติดตามเรื่องนี้กับ"แมนวดี เดชจำนงสุข"

          “เวลานี้เราจะเห็นว่ามีผู้ป่วยที่เป็นคนไข้เรื้อรังในจำนวนสูงขึ้น และผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้องรังส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีหัวใจ มีจิตวิญญาณและความรู้ความชำนาญ เข้ามาช่วยดูแล ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี2558 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอีก10ปีจะมีผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดย 20 %ของประชาชนไทยทั้งหมด คือจากประชาชน100คน จะพบผู้สูงอายุ20 คน และผู้สูงอายุ100 คน มีมากถึง90คนที่เป็นผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วย ส่วนผู้สูงอายุที่แข็งแรงในสังคมไทยมีไม่ถึง5%”

         นี่คือข้อมูลที่ได้พูดคุยกับ“รศ.ดร.เรณู พุกบุญมี” ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีและคณะที่ปรึกษาจัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพใน2อาชีพ โดยทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภาวิชาชีพทันตแพทย์ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา 

"พนักงานให้การดูแล" ภารกิจนี้เพื่อใคร??

         อาชีพทั้ง2คือ “พนักงานให้การดูแล” (Nurses’aides/Care givers) และ“ผู้ช่วยทันตแพทย์” ทำให้มองเห็นว่า ทุกวันนี้เวลามีผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลในแต่ละวัน "พยาบาลวิชาชีพ"และ"ผู้ช่วยพยาบาล"ต่างทำงานเต็มที่ เต็มกำลังเพื่อดูแลผู้ป่วย แต่งานบางงานไม่จำเป็น ต้องใช้"พยาบาลวิชาชีพ"หรือ "ผู้ช่วยพยาบาล" ก็ได้ เราจะได้ให้พยาบาลวิชาชีพ หรือ ผู้ช่วยพยาบาลได้ทำงานในหน้าที่ๆตรงกับสายงานของตัวเอง 

         “แต่อย่าลืมว่าผู้ป่วย หรือ คนไข้สูงอายุจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นงานทำเตียงผู้ป่วยให้ว่าง แนะนำเรื่องอาหารว่าควรรับประทานอะไร ไม่ควรรับประทานอะไร อยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย รับส่งผู้ป่วย ดูแลให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการรักษาพยาบาล เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ผู้ป่วย อย่างเช่นอุปกรณ์ที่ดูดเสมหะ จัดท่านอนให้ผู้ป่วย ช่วยเครื่องย้ายผู้ป่วย วัดสัญญาณชีพ ดูปัสสาวะอุจจาระและรวบรวมข้อมูลให้พยาบาล” 

 

"พนักงานให้การดูแล" ภารกิจนี้เพื่อใคร??

         ทั้งผู้ป่วยในโรงพยาบาล และ ผู้ป่วยที่ต้องไปรักษาต่อที่บ้าน อาชีพพนักงานให้การดูแล จึงมีความสำคัญมากต่อผู้สูงอายุที่ป่วยและต้องดูแลนอนติดเตียง ในขณะนี้มีจำนวน1ล้านกว่าคนทั้งที่ติดบ้านและติดเตียง ต่อแต่นี้ไปเราต้องมามองกันว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะเพียงพอกับการดูแลผู้สูงอายุ และคงต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จบ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย แต่การไปดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้านจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

          “ที่ผ่านมาพนักงานให้การดูแลเกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่มันยังไม่มีระบบที่ชัดเจน มีโรงเรียนสอนให้คนที่สนใจอยากทำงานดูแลเด็ก คนป่วย ผู้สูงอายุเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยที่เราเรียกกันว่า โรงเรียนการบริบาล แต่ไม่มีการตรวจสอบที่เป็นระบบ แต่เมื่อสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมีความประสงค์อยากเห็นคนที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมีคุณภาพ

          จึงได้มาคุยและมาปรึกษากัน เพื่อจะดูว่าวิชาที่ผู้เรียนในโรงเรียนบริบาลเรียนนั้นมีวิชาใดบ้าง ขาดวิชาใดบ้าง เพื่อให้ครบตามหลักสูตร ที่สามารถไปดูแลผู้ป่วยได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องผ่านการทดสอบเพื่อทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ เพื่อจะได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานในอาชีพหรือแม้แต่ผู้ช่วยทันตกรรมก็เช่นเดียวกัน มีการสอนแบบทำให้ดูและทำตามกัน แต่มาตรฐานและสมรรถนะมีแค่ไหนไม่มีใครรู้”

         ระยะเวลา1ปีเต็ม ที่คณะที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพ จะต้องช่วยกันทบทวนวรรณกรรมของประเทศต่างๆที่เขาทำงานด้านทีทำได้ดีคือประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิงคโปร์ ทั้งนี้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ มาแลกเปลี่ยนและมาดูว่าเครื่องมือที่เราจะใช้ในการฝึกอบรม หรือการใช้ประเมิน หลังจากคนกลุ่มนี้ได้รับการฝึกอบรมแล้วต้องมีอะไรบ้าง ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติจะเป็นอย่างไร เพื่อจะกำหนดเป็นสมรรถนะให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อให้มีคุณวุฒิตรงตามสมรรถนะที่ได้วางไว้ 

         ซึ่งจะเกิดประโยชน์และเป็นการพิทักษ์ความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ นั่นก็คือผู้ป่วยโดยตรง อีกทั้งบุคคลากรที่ทำงานด้านนี้จะเกิดเป้าหมายและความสุขมีคุณภาพและได้รับการยอมรับที่มากขึ้น

         "ขณะนี้ได้จัดทำชุดเครื่องมือ ที่ใช้ในการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ ทั้ง 2 อาชีพเสร็จและมีความสมบูรณ์ จะได้ทดสอบเครื่องมือที่ใช้ประเมินเพื่อให้ได้มีมาตรฐานต่อไป" 

         ทั้งนี้ ใครที่จะเข้าสู่วิชาชีพพนักงานให้การดูแลและผู้ช่วยทันตแพทย์ฯ จะต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติก่อนเข้าสู่การทำงาน และหากบุคคลใดที่ทำงานอยู่แล้ว ก็ต้องมาทดสอบเพื่อให้ได้การรับรอง เพื่อยืนยันว่ามีองค์ความรู้ในวิชาชีพจริง ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานตนเอง สร้างการยอมรับในวิชาชีพด้วย

"พนักงานให้การดูแล" ภารกิจนี้เพื่อใคร??

         พลตรีหญิง อัญชลี ฤกษ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเพชรดาวการบริบาล อดีตรองผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก บอกว่า การจัดทำมาตรฐานอาชีพ2อาชีพ อย่างพนักงานให้การดูแลและผู้ช่วยทันตแพทย์ มีความสำคัญและจำเป็นมาก ที่ผ่านมาเราเรียนรู้กันเอง แม้จะมีโรงเรียนสอนการบริบาลซึ่งจะมีการเรียนการสอน แล้วส่งบุคลากรที่เรียนจบออกไปทำงานตามโรงพยาบาลหรือตามบ้านของผู้ป่วย แม้เราจะมีหลักสูตรทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ แต่ยังไม่มีมาตรฐานในการวัดบุคลากรด้านนี้

         “โรงเรียนสอนการบริบาลเปิดขึ้นมาในหลายแห่ง ได้คุณภาพบ้าง ไม่ได้คุณภาพบ้าง หลอกลวงผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการบ้าง ไม่มีใครรู้ว่าคนที่จะมาดูแลพ่อแม่ที่ป่วยในบ้านมีใบรับรองอาชีพหรือไม่ หากอนาคตจะมีการอบรม มาสอบวัดคุณภาพ เพื่อดูสมรรถนะของบุคลากรที่ต้องทำงานกับผู้ป่วยซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตของผู้ป่วย ยังเกี่ยวข้องกับความสูญเสียหากดูแล ไม่ได้ตามมาตรฐานตามสมรรถนะที่ควรจะเป็น จึงอยากเห็นโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพพนักงานให้การดูแลและผู้ช่วยทันตกรรมเสร็จออกมาตรวจสอบบุคคลากรด้านนี้ให้เร็วที่สุด” พลตรีหญิง อัญชลี ตั้งข้อสังเกตุ

      การปั้น"พนักงานให้การดูแลและผู้ช่วยทันตแพทย์” มืออาชีพ นับเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสังคมผู้สูงวัยรวมถึงผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ในปัจจุบันและในอนาคตได้อีกด้วย

     

   

            

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ