คอลัมนิสต์

ป.ป.ช.จี้ออกมาตรการคุมทุจริต “ช็อปปิงยา - ยิงยา”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อการทุจริตเบิกจ่ายรักษาพยาบาลของข้าราชการขยายวงกว้างกระทบงบประมาณประเทศ มาดูกันเขาใช้วิธีไหน และ ป.ป.ช. ออกมาตรการอะไรมาป้องกัน

         นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้แถลงถึงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นแนวทางใการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจิคในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

 

         ทั้งนี้ ป.ป.ช. ระบุว่า สืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 20,476 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 และยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2559

 

         ป.ป.ช.จึง ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกัน การทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการปรับปรุงระบบการควบคุมการเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว

 

         ทั้งนี้ จากการศึกษา ได้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายปัจจัยและ มีกระบวนการเกี่ยวข้องโยงใยเครือข่ายการทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา โดยมีพฤติกรรม ได้แก่

 

         1. พฤติกรรมช็อปปิ้งยา เป็นพฤติกรรมการใช้สิทธิโดยทุจริตของผู้มีสิทธิและเครือญาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ด้วยการตระเวนใช้สิทธิของตนตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายๆ แห่ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บางรายนำยาที่ได้จากการรักษาไปจำหน่ายต่อ

 

         2. พฤติกรรมยิงยา เป็นพฤติกรรมการจ่ายยาของบุคลากรในสถานพยาบาลโดยทุจริต เช่น สั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นของผู้ป่วยหรือสั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย บันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง สั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษา โดยมีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมากๆ เพื่อทำยอดจำหน่ายยา เป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทจำหน่ายยา สถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือเปอร์เซ็นต์ยา การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม การดูงานต่างประเทศ

 

         ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะเชิงระบบ

 

         (1) เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการในการตัดสินใจจ่ายยามากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา

         (2) การเสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในระหว่างที่ยังไม่มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยาดังกล่าว กรมบัญชีกลางต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

         (3) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา เพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทั้งนี้ต้องนำเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อ

 

2. ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ

         (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวด

         (2) ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา

         (3) ปลุกจิตสำนึกของบุคลากรของรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม

 

         (4) ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ภาคเอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเสนอประโยชน์ให้แก่บุคลากรของรัฐ

 

         ทั้งนี้ ป.ป.ช. ระบุว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจัดทำขึ้นจากการร้องเรียนเรื่องต่อ ป.ป.ช. ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมาก จึงนำมารวบรวมและสรุปผลเป็นข้อเสนอ

         นอกจากนี้ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งหนังสือตอบกลับ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

 

         อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบตัวเลขการอนุมติและการเบิกจ่ายจริงของงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการพบว่ามีจำนวนสูงมากขึ้นเรื่อยและเกินวงเงินงบประมาณที่จัดเอาไว้ โดย ในปี 255 เงินที่ได้รับจัดสรรมา 62,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไป 61,587 ล้านบาท ต่อมาปี 2556 ได้รับจัดสรร 60,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 59,557 ล้านบาท ปี 2557 ได้รับจัดสรร 60,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 66,353 ล้านบาท ปี 2558 ได้รับจัดสรรมา 60,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงสูงถึง 66,455 ล้านบาท และปี 59 ที่ผ่านมา ได้รับจัดสรร 60,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 71,000 ล้านบาท

 ------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ