คอลัมนิสต์

“สนช.” กดปุ่มสตาร์ต “กองทัพ” คุมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่าพระราชบัญญัติ "การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ" โดยนัยยะเพื่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และวางกลไกสำหรับ 20 ปีข้างหน้า

         22 มิ.ย. ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระ 2 และ 3 ซึ่งร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติพ.ศ....นี้ได้จัดทำตามที่รัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ฤชุพันธุ์ ในมาตรา 65 ที่บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆให้สอดคล้องและบูรณาการเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน

 

         เมื่อเข้าสู่การพิจารณาชั้นของคณะกรรมาธิการฯที่มีพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมาธิการฯเป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจำนวน 7 ครั้ง พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งพลิกดูในร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแต่อย่างใด แม้ว่ามีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่ตั้งผู้นำเหล่าทัพมาเป็นกรรมการเพื่อเข้ามาคุมการทำงานของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่คณะกรรมาธิการฯก็ยังคงไว้ตามร่างเดิม โดยให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี การประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติให้ทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

  

         โดยยุทธศาสตร์ชาติ ต้องประกอบด้วย 1.วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ 2.เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย และ3.ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ทั้งนี้ยังกำหนดให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติทุก ๆ 5 ปีหรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้

 

         ขณะที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ก็ไม่ได้มีการปรับแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการเพียงแต่เพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการจากเดิม 32 คนเป็น 35คน โดยการเพิ่มนี้เป็นการเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และยังคงตัวแทนผู้นำเหล่าทัพไว้เช่นเดิม แม้จะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม

“สนช.” กดปุ่มสตาร์ต “กองทัพ” คุมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

         สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

         ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น กรรมาธิการฯได้มีการเพิ่มจำนวนจากเดิม 14 คน เป็น 17 คน ทั้งนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ด้านความมั่นคง การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี 

 

         โดยมีเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเลขานุการและ กรรมการด้วย 

“สนช.” กดปุ่มสตาร์ต “กองทัพ” คุมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

         พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญให้เหตุผลว่า การคงตัวแทนเหล่าทัพไว้ พล.ร.อ.พัลลภ ยืนยันว่า เป็นความจำเป็น เพื่อให้ตัวแทนเหล่าทัพเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลในเรื่องความมั่นคง ซึ่งจำนวนตัวแทนเหล่าทัพ 5 คนนั้นไม่ได้มากหรือน้อยเกินไป ส่วนการเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นการเพิ่มบุคคลเข้ามารองรับการทำงานในอนาคตหากเกิดสถานการณ์ใหม่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์

 

         “ ยืนยันว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ถือว่ายาวนานเกินไป เพราะเป็นการกำหนดทิศทางประเทศ วิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในอนาคตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขณะที่ในต่างประเทศจะกำหนดนาน 20 – 50 ปี และไม่ผูกพันรัฐบาล “โฆษกกมธ.ยืนยัน

 

         ขณะที่ส่วนอื่นก็คงไว้ตามร่างเดิมทั้งเรื่องของระยะเวลาการทำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ซุปเบอร์บอร์ดต้องทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสนอต่อครม.ภายใน 30 วันให้ครม.เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ร่างยุทธศาสตร์ และให้สนช.มีเวลาพิจารณา 30 วันนับแต่วันที่ได้ร่างเมื่อสนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสนช. และยังคงกำหนดโทษของหน่วยงานที่ไม่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ไว้เช่นเดิมด้วยคือ หากหน่วยงานใดไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติและส่อทุจริต ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ในกรณีที่ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป

 

         อย่างไรก็ตามกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อาทิ ในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามาตรา 6 วรรคสอง ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน ควรมีด้านการสร้างเสริมพลังของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนจะได้มีโอกาสแสดงบทบาทพลเมืองที่เข้มแข็งในอนาคต ในส่วนของการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมาธิการฯเห็นว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแต่งตั้งโดยคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มประชากร และควรพิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถตามสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในห้วงเวลานั้นๆเป็นสำคัญ เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านการสาธารณสุข ด้านผังเมืองและด้านสื่อสารมวลชน

 

         นอกจากนี้เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อยุทธศาสตร์ชาติ รัฐควรพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาวางระเบียบเกี่ยวกับการติดตาม การตรวจสอบ การประเมินผล ให้มีลักษณะเป็นกลไกที่เชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติบรรลุผล และในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการพัฒนาประเทศต้องรักษาและผดุงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสังคมไทย เช่น ความเอื้ออาทร ความสามัคคีปรองดอง ความเป็นไทยและสังคมแห่งความสุข

 

         เมื่อดูในภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .ที่สนช.พิจารณาก็ไม่ได้มีการปรับแก้ในสาระสำคัญ ซึ่งเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 เชื่อว่า สนช.จะโหวตให้ผ่านฉลุยอย่างแน่นอน เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ที่จะได้รับผลจากการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็คือ สมาชิกภาพของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ก็จะพ้นสมาชิกภาพทันที

 ----

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ