คอลัมนิสต์

สี่คำถาม “บิ๊กตู่” อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4 คำถามของนายกฯ เปิดให้ตอบแล้วทุกวัน ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด แต่จะตอบต้องทำอย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ

12 มิ.ย.2560  ถือเป็นวันแรกที่ กระทรวงมหาดไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนตอบ 4 คำถามของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ถามในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนายั่งยืน” เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา เรียกได้ว่า ตั้งแต่วันที่คำถามออกมาใหม่ๆ ก็กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ทันที โดยบรรดาคนการเมือง นักวิชาการ หรือคนดังหลายๆคน ร่วมตอบคำถามผ่านสื่อต่างๆ ในขณะที่ประชาชนทั่วๆไป ไม่มีช่องทางในการออกความเห็น จนกระทรวงมหาดไทยมารับหน้าที่รวบรวมคำตอบจากประชาชน

 

โดยวันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์” ขอรีวิว วิธีการตอบ 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานก.พ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

สี่คำถาม “บิ๊กตู่”  อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

เมื่อเราเดินเข้าไปที่ศูยย์บริการประชาชนเจ้าหน้าที่จะขอตรวจค้นสัมภาระก่อนว่ามีวัตถุอันตรายหรือไม่  ตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยปกติ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะถามว่า วันนี้มาทำอะไร ถ้าบอกว่ามาร้องเรียน ทางเจ้าหน้าที่จะให้แลกบัตรประชาชนไว้ที่หน้าห้องรับเรื่องร้องเรียน 

 

แต่ถ้าเราบอกว่ามาตอบ 4 คำถามของนายกฯ ทางเจ้าเจ้าที่จะขอดูบัตรประชาชน แต่ไม่เก็บเอาไว้ เนื่องจากขั้นตอนการตอบคำถาม จะต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพาไปยังห้องรับความเห็น ที่อยู่ในศูนย์รับเรื่องเรื่องเรียนทันที

สี่คำถาม “บิ๊กตู่”  อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

หน้าห้องรับความเห็น จะติดป้ายสีเขียวระบุชัดว่าคือห้องตอบแบบสอบถาม มีพื้นที่เล็กๆ เป็นห้องกระจก และมีม่านปรับแสงสีครีมคลุมอีกชั้น มีโต๊ะ 2 ตัว โดยตัวแรกจะมีปึกใบแบบสอบถาม พร้อมที่รวบรวมแบบสอบถาม พร้อมกับเจ้าหน้าที่นั่งประจำอยู่อีก 2 คน ที่จะคอยให้คำแนะนำการตอบ และตรวจข้อมูลบัตรประชาชนว่าตรงกับที่กรอกลงในใบแบบสอบถามหรือไม่ 

  

ส่วนโต๊ะกลมอีกตัว จะเป็นโต๊ะที่ว่างเปล่า เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ส่วนตัวเขียนคำตอบได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องนั่งเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าแบบซึ่งๆหน้า

   สี่คำถาม “บิ๊กตู่”  อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

ในใบรับแบบสอบถามนั้น ส่วนข้างบนจะมีให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ประกอบไปด้วย ชื่อ - นามสกุล, เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก, ที่อยู่, อายุ, เพศ, อาชีพ, ระดับการศึกษา และหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเป็นไปตาม ที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยระบุไว้ว่าจะใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน โดยระบุว่าเป็นการป้องกันผู้ไม่หวังดีมาสวมสิทธิ์

  

ส่วนคำถาม 4 ข้อ จะมีให้กรอกคำตอบตามวิธีการถามที่มี 2 แบบคือปลายปิด และปลายเปิด

  

ข้อ 1 - ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ข้อนี้มีให้เลือกคำตอบแค่ “ได้” กับ “ไม่ได้”

  

ข้อ 2 - หากไม่ได้จะทำอย่าง คำถามข้อนี้เว้นช่องให้พื้นที่เขียนคำตอบเยอะเกือบครึ่งกกระดาษ A4

  

ข้อ 3 - การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ในข้อนี้มีให้เลือกคำตอบแค่ “ถูกต้อง” กับ “ไม่ถูกต้อง”

  

ข้อ 4 - ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ข้อนี้เว้นช่องไว้ให้ตอบเยอะที่สุด ซึ่งมีพื้นที่มากถึง สามในสี่ของกระดาษ A4

  

ส่วนบรรยากาศภายในห้องรับความเห็นก็เป็นไปอย่างราบเรียบ และเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เพียงแค่แนะนำเรื่องเอกสาร ส่วนการตอบนั้นก็เป็นหน้าที่ของประชาชน โดย “น.ส.เฉลิมพร แพบุตร”ช่างเย็บปักถักร้อย วัย 72 ปี เป็นคนแรกที่ประเดิม ให้ความเห็นที่ศูนย์บริการประชาชน ข้างทำเนียบรัฐบาล เธอระบุว่า ในการตอบคำถามนั้น เธอไม่เชื่อมั่นเลยว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้คนที่มีธรรมาภิบาล เพราะทุกวันนี้ผู้คนมีความเห็นแก่ตัว ซึ่งการจัดเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะชีวิตคนแสนสั้น แต่ประเทศชาติยังต้องอยู่อีกยาว สำหรับการเตรียมตัตอบคำถามนั้น ก็ใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยได้เขียนคำตอบล่วงหน้ามาแล้ว

สี่คำถาม “บิ๊กตู่”  อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

“นางมณีรัตน์ เลาวเลิศ”  แม่บ้านวัย 50 ปี ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มาร่วมตอบคำถาม  กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาเมื่อไปใช้สิทธิ์ก็จะกาช่องไม่ออกเสียง หรือโหวตโน เนื่องจากไม่เชื่อใจนักการเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ใช้เวลาไม่นานก็ตอบได้ เพราะเป็นสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า นักการเมืองยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา

  

ในส่วนการเก็บข้อมูลส่วนตัวนั้น เธอไม่มีความกังวลเลย เพราะเชื่อว่าวันนี้เป็นการทำดี เพราะช่วงเวลานี้เราต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ

สี่คำถาม “บิ๊กตู่”  อยากตอบ ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว

ขณะเดียวกันขาเก่าเจ้าประจำอย่าง “นายวรัญชัย โชคชนะ”  ก็ไม่พลาดที่จะมาร่วมแสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยเขาเล่าว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้คนที่มีธรรมาภิบาลเข้ามา เพราะเชื่อในวิจารณญานของประชาชนในการตัดสินใจ

 

ในส่วนคำถามข้อที่ 4 ที่ถามว่าควรเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้โอกาส แต่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าพฤติกรรมเหล่าเหมาะหรือไม่อย่างไร ส่วนวิธีแก้ก็คืออย่าให้ประชาชนเลือกคนเดิมกลับเข้ามาอีก

 

เขายังกล่าวอีกว่า สำหรับการใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันสิทธิ์ในการตอบแบบสอบถามนั้น กังวลว่าจะทำให้คนที่เห็นต่างไม่กล้าให้ความเห็น

 

ทั้งนี้ในส่วนบรรยายกาศของคนที่มาร่วมออกความเห็นในวันแรกนั้น ออกจะเงียบเหงาเล็กน้อย เพราะตลอดทั้งตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. มีมาแค่ 14 คน แต่ทางเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยกับเราว่า 

 

“นี่เป็นจำนวนที่เกินความคาดหมาย เพราะเขาคาดว่าประชาชนน่าจะไปที่ ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย มากกว่า และในวันนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่มานั้นจะเป็นผู้หญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป”

 

เจ้าหน้าที่รายเดิมบอกว่า "ยังไม่มีข้อสรุปว่าข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนี้จะเอาไปทำอะไรต่อ รู้แต่เพียงว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะรวบรวมคำตอบทุก 10 วัน“  และนำไปประมวลผลอีกที ”

อย่างไรก็ตามว่าเป็นที่น่าจับตามองว่า ข้อมูลของคำตอบนั้นจะเป็นเพียงแค่การสอบถามความเห็นธรรมดา หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย

 

สำหรับประชาชนที่สนใจให้ความเห็น สามารถเดินทางไปที่ ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ อีกทั้งยังสามารถให้คำตอบได้ที่ส่วนกลางคือ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานก.พ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการประชาชนเขตทุกเขต รวมแล้วมีศูนย์รับคำตอบ 1,007 แห่ง โดยเปิดตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ตามวันและเวลาราชการทำการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่กำหนดว่าจะปิดรับความเห็นเมื่อใด

---------

จักรวาล ส่าเหล่ทู

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ