คอลัมนิสต์

รู้ลึกกับจุฬา...“ทรัมป์”สวนทาง“โลก”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ลึกกับจุฬา... “ทรัมป์”สวนทาง“โลก”

     ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตกเป็นเป้าให้ชาวโลกวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้งหลังจากประกาศจุดยืนว่าสหรัฐขอถอนตัวออกจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่าข้อตกลงปารีส ที่เกิดจากความร่วมมือของ 195 ประเทศลงนามร่วมกันเมื่อปี 2559

     ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสระบุว่า ประเทศลงนามต้องช่วยกันรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศา และกำหนดว่าประเทศร่ำรวยต้องนำเงินมาสนับสนุนช่วยเหลือประเทศยากจนในการพัฒนาเทคโนโลยี รับมือกับสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ สำนักข่าวต่างประเทศพากันระบุว่าเหตุผลสำคัญที่ทรัมป์ไม่พอใจข้อตกลงนี้ก็เพราะเรื่องเงินสนับสนุนเป็นสำคัญ แต่ก็มีบางข่าวบอกว่าตัวทรัมป์เองก็เคยพูดปราศรัยว่าเขาไม่เชื่อว่าโลกร้อนมีอยู่จริง เป็นการกุข่าวเพื่อทำลายสหรัฐเท่านั้น

     ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าปรากฏการณ์ทรัมป์ถือว่าแปลกประหลาดและพิสดาร เพราะในมิติสังคมโลกทุกคนดูจะเชื่อและยอมรับว่าปรากฏการณ์โลกร้อนเกิดขึ้นจริง และได้สร้างผลกระทบมาแล้ว มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน การบอกว่าโลกร้อนไม่มีจริงจึงเป็นเรื่องที่ทำให้คนอึ้ง

     “เวลาพูดเรื่องโลกร้อนมีหลายแบบ วิธีหนึ่งคือพูดแบบตื่นตูม พูดให้น่ากลัว เพราะต้องการให้คนสนใจ แต่มันไม่เกิดการสร้างการถกเถียงแบบวิทยาศาสตร์ คนเลยรู้สึกว่ามันเว่อร์นี่หว่า มาหลอกหรือเปล่า ทรัมป์เองก็ใช้กระแสตรงนี้เข้ามาโหมอารมณ์”  ศ.สุริชัยกล่าว

     ทั้งนี้ การปฏิเสธเรื่องโลกร้อนของทรัมป์สอดรับเป็นอันดีกับแคมเปญ Make America Great Again ที่แพร่หลายในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ ศ.สุริชัย ชี้ว่า เมื่อทรัมป์มีแนวคิด “เรายิ่งใหญ่ จะไปทำตามทำไม” เลยไม่ต้องการทำตามข้อตกลงปารีสที่เชื่อว่าตนเองเสียผลประโยชน์ ทำไมสหรัฐต้องรับผิดชอบทั้งโลก ขณะเดียวกันก็โหนกระแสชาตินิยมเนื่องด้วยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศมาเป็นเครื่องมือโจมตีชาติอื่นๆ

     “ทรัมป์ใช้ประเด็นโดนใจผู้คนมากกว่าใช้เหตุผลหรือคำอภิปรายของนโยบายโลก ยิ่งเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ดี ก็โหนกระแสว่าชาตินู้นชาตินี้ทำไม่ดีกับสหรัฐ เลยทำให้เศรษฐกิจแย่ เขาไม่โทษตัวเอง พออเมริกาทำแบบนี้ โลกก็ต้องปรับตัว” อย่างที่สำนักข่าวหลายเจ้าวิเคราะห์ไว้ว่าต่อไปนี้สหรัฐจะสูญเสียอำนาจในการเป็นผู้นำด้านพลังงานยั่งยืน และการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

     ศ.สุริชัย ยังบอกอีกว่า ความคืบหน้าในอุตสาหกรรมทางเลือกของโลกโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ลดต่ำลง สะท้อนว่าโลกกำลังก้าวไปในทิศทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การที่อเมริกาประกาศถอนตัวอาจส่งผลให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือกแทน

     “ก่อนเซ็นข้อตกลงปารีสเขาต้องมีแคมเปญประกาศว่าจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน ซึ่งจีนเขาทุ่มเท ทำเยอะมากเพราะเขามีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม มีกรณีถ่านเหมือนถล่มเขาเลยอยากเปลี่ยนไปทำพลังงานในแนวที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า” ศ.สุริชัยอธิบาย

     และองค์กรสหประชาชาติก็มีฝ่ายคอยติดตามดูว่าแต่ละประเทศทำตามข้อตกลงปารีสด้วยหรือไม่ มีนักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์คอยดูผลการวิจัย ดูสถิติ และสำรวจเป็นระยะว่าเพื่อวัดว่าแต่ละประเทศมีความน่าเชื่อถือ หรือความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนแค่ไหน

     อย่างไรก็ตาม ศ.สุริชัย วิเคราะห์ว่าการป่าวประกาศถอนตัวของอเมริกา คงไม่จุดชนวนให้ประเทศอื่นๆ พากันถอนตัวตามไปด้วย เพราะหลังจากที่ทรัมป์ถอนตัวได้เพียง 24 ชั่วโมง สหภาพยุโรปก็โต้ตอบว่าผิดหวังแต่ไม่เห็นว่าจะต้องเจรจารอบใหม่กับสหรัฐ

     ศ.สุริชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า “ไม่มีคนคนเดียวเปลี่ยนทิศทางของสหรัฐได้” แม้จะเป็นประธานาธิบดีก็ตาม เพราะสหรัฐมีการกระจายอำนาจในแต่ละมลรัฐ แต่ละแห่งมีอำนาจการตัดสินใจสูง และมีรายงานข่าวว่ารัฐบางแห่ง เช่น แคลิฟอร์เนีย ก็แสดงจุดยืนต่อต้านการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสของสหรัฐ และมีกรณีที่ปรึกษาของทำเนียบขาวประกาศลาออกเรียบร้อยแล้ว

     “เรียกได้ว่าโลกกำลังขยับไปทางพลังงานสีเขียว การจ้างงานในส่วนนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนฝั่งพลังงานฟอสซิลก็ลดลงชัดเจน” ศ.สุริชัยกล่าว

     แต่เมื่อย้อนกลับมาดูที่ฝั่งไทยก็พบว่าแนวนโยบายพลังงานแบบยั่งยืนยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก ศ.สุริชัย ระบุว่า ไทยมีการลงนามเซ็นข้อตกลงปารีส รวมถึงข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็จริง แต่ไทยก็ยังให้น้ำหนักกับพลังงานฟอสซิลมาก อย่างที่ปรากฏในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ และยังมีความเชื่อว่าพลังงานทางเลือกเป็น “อาหารเสริม” เท่านั้น

     ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น ศ.สุริชัย เชื่อว่าพัฒนาการในด้านนี้โดยภาพรวมก็ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการเคลื่อนไหวในระดับชุมชน เช่น แหล่งท่องเที่ยวชุมชน โรงแรม การเกษตร อุตสาหกรรมท้องถิ่น ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ในระดับนโยบายภาครัฐควรจะมีแนวทางที่จริงจังและให้ความสำคัญมากกว่านี้

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ