คอลัมนิสต์

สำรวจจุดเสี่ยง “กทม.” มาตรการ รปภ. คงเดิม !!??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากเกิดเหตุระเบิดติดๆกันสามครั้ง และกับล่าสุดที่ รพ.พระมงกุฎฯ หลายคนตั้งคำถามว่าชีวิตชาวกรุงปลอดภัยแค่ไหน เราจึงไปสำรวจมาตรการ รปภ. ในพื้นที่เสี่ยง

หลังเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 60 ซึ่งเป็นวันครบ 3 ปี ของคสช.ที่เข้ามายึดอำนาจ และให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวังและเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของสถานที่สำคัญ สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่สาธารณะ แหล่งเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค คมนาคม และสถานประกอบการที่มีประชาชนอยู่กันเป็นจำนวนมาก

 “ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์”  จึงได้ลงพื้นที่ดูบรรยากาศตามจุดต่างๆตามเส้นทางขนส่งสาธารณะ ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ที่มีจุดเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะไปยังที่ต่างๆ

 โดยเริ่มจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุข ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัย เป็นปกติไม่ได้มีอะไรเพิ่มมากกว่าที่เคยมีอยู่กล่าวคือ  มีเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า ของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องสแกนอย่างละเอียด 

 

จากสถานีอุดมสุข จะมีจุดเชื่อมเส้นทางไปยังภาคตะวันออก คือสถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งบรรยากาศโดยรวม ก็ยังถือว่าเป็นปกติ มีพนักงานงานรักษาความปลอดภัยของขนส่งเอกมัยเอง โดย ไม่มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจหรือทหารแต่อย่างใดที่เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ

 

จากสถานีเอกมัย มายังสถานีอโศก ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าใต้ดินหรือเอ็มอาร์ที บรรยากาศการรักษาความปลอดภัย มีจุดตรวจตั้งแต่ก่อนลงไปสู่สถานี ซึ่งผู้ที่จะลงไป ต้องเดินผ่านเครื่องสแกนและมีเครื่องสแกนมือ คอยตรวจสัมภาระ ของผู้โดยสารอย่างละเอียด

 

จากสถานีเอ็มอาร์ทีสุขุมวิท จะมาสุดเส้นทางที่สถานีบางซื่อ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยัง รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีม่วง และสถานีรถไฟบางซื่อ ทุกสิ่งก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษมากกว่าที่เคยมีมา

 

โดยเจ้าหน้าที่บริเวณจุดตรวจ เปิดเผยว่า หลังจากที่เหตุระเบิด ในส่วนของรถใต้ดิน มีการกำชับเจ้าหน้าที่ ให้มีการตรวจเข้มมากขึ้น ห้ามปล่อยปละเลย ต้องตรวจหมด ทั้งกระเป๋า ใบเล็กใหญ่ และเมื่อเข้ามาภายในสถานี ก็จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อย อีกชั้นหนึ่ง

 

นั่งรถเอ็มอาร์ที ย้อนกลับมาจากสถานีบางซื่อ มายังสถานีสวนจตุจักร จุดนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชน อีกหนึ่งจุด ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้ บริเวณใต้บีทีเอสหมอชิต จะมีเตนท์เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เป็นกองรักษาการณ์อยู่ และหากขึ้นมาในสถานีบีเอส หมอชิต ก็จะมีการตรวจผู้โดยสารที่เข้ามาอย่างละเอียดเช่นกัน ซึ่งมีการตรวจอย่างละเอียด เพราะมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก

 

จากบีทีเอสหมอชิตมาเปลี่ยนที่ สถานีสยาม ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังอีกจุดหนึ่ง เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.พ.58 เคยเกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดแสวงเครื่องที่บริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับห้างสรรพสินค้าพารากอน จำนวน 2 ลูก มาแล้ว แต่บรรยากาศก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ แต่อย่างใด เป็นส่วนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีเหมือนกับหลายๆสถานีที่เราได้เดินทางไปสำรวจ

 

สถานีสยามเปลี่ยนขบวนไปยังสถานีสะพานตากสิน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังขนส่งทางเรือ ท่าเรือสาทร และจุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เคยมีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 18 ส.ค.58 บริเวณใกล้สถานีบีทีเอสตากสินและท่าเรือสาทร บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างปกติ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ รักษาการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ

 

และมาถึงจุดสุดท้ายที่ถือว่าเป็นอีกจุดที่สำคัญคือบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.58 ที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยจุดนี้ จะมีเตนท์ รักษาการณ์ ของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตั้งอยู่ข้างๆกับศาลท้าวมหาพรหม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าต้องการรักษาความปลอดภัยจากเหตุร้าย หรือเพื่อระแวดระวังการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง 

 

 จะเห็นได้ว่าแม้จะมีเหตุการณ์แต่ก็ยังไม่มีการรักษาความปลอดภัยอะไรเพิ่มขึ้นเป็นปกติ แต่นั่นอาจเพราะที่ผ่านมามีการคุมเข้มในจุดเสี่ยงอยู่แล้วก็เป็นได้

------

โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ