คอลัมนิสต์

เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือทะลักกรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือทะลักกรุง กรมชลฯสั่งเปิดประตูระบายน้ำสองฝั่งเจ้าพระยา

               ผลสืบเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน คาดการณ์ว่ามวลน้ำก้อนใหญ่จะเข้าสู่ลุ่มเจ้าพระยาในอีก 1- 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเตรียมพร้อมรับมือ หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเพิ่มสูงขึ้น  ในขณะที่กรมชลประทานยืนยันมวลน้ำก้อนนี้จะไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง พร้อมใช้เขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ

               “ขณะนี้ได้สั่งการไปแล้วให้เตรียมเปิดประตูระบายน้ำทุกบาน ให้ทำงานได้ เพื่อระบายน้ำออกไปทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา ทั้งฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ไม่มีปัญหาครับ รับได้ หากฝนไม่ตกท้ายเขื่อนเพิ่มในวันสองวันนี้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ ในฐานะรองโฆษกกรมชลประทาน กล่าวยืนยันกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่จากภาคเหนือที่กำลังเข้าสู่ลุ่มเจ้าพระยาในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมแจงรายละเอียดการทำงานในทุกองคาพยพของกรมชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น  ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในณะนี้ (ณ วันที่ 21 พ.ค.60) มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 4 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย และเลย และเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร

                ดร.สมเกียรติระบุว่า สำหรับพื้นที่น้ำท่วม จ.พิษณุโลก ขณะนี้ระดับน้ำลดลงบางส่วนไหลลงคลองธรรมชาติและแม่น้ำยมสายเก่า ซึ่งรับน้ำจากจ.สุโขทัย ทำให้ลำน้ำยมสายเก่ามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม บริเวณคลองเมม-คลองบางแก้ว หมู่ 2 และ 8 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 2,700 ไร่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ส่วนการช่วยเหลือมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านได้ดำเนินการเร่งระบายน้ำในคลองเมม-คลองบางแก้ว โดยเร่งระบายน้ำออกทาง ปตร.บางแก้ว อ.บางระกำ ลงสู่แม่น้ำยมสายหลักและเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน  

               ส่วน จ.สุโขทัย มีพื้นที่น้ำท่วม 6 อำเภอ คือ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.ศรีนคร อ.สวรรคโลก อ.คีรีมาศ และอ.เมือง มีน้ำท่วมขังบริเวณผิวจราจรและชุมชนบางแห่ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 5,000 ไร่

                 ขณะเดียวกันทางโครงการชลประทานสุโขทัยร่วมกับทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด “ปิติ แก้วสลับสี” ลงพื้นที่ตรวจสอบการสร้างพนังกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำยมระยะทาง 8 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ มีการเปิดทางพนังกั้นน้ำ เพื่อนำเครื่องจักรกลเข้าพื้นที่ทำงานเป็นช่วงๆ โดยมีการตอกแผ่นเหล็กเป็นกำแพงที่ต่อเนื่องกัน เพื่อต้านทานแรงดันดิน หรือน้ำ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำยม และมีการปล่อยน้ำจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ให้ระบายน้ำไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ระดับน้ำอยู่ที่ไม่เกิน 1.85 เมตร ที่จุด y 4 หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อให้เครื่องจักรและคนงานสามารถเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเข้าฤดูฝน

               สำหรับ จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ คือ อ.บรรพตพิสัย อ.เก้าเลี้ยว และอ.ชุมแสง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ขณะที่ จ.เลย ท่วม อ.เมือง อ.ด่านซ้าย และอ.เชียงคาน ขณะที่ อ.เมืองและอ.ด่านซ้ายยังคงมีน้ำท่วมในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ และปริมาณน้ำกำลังไหลไปสู่ อ.เชียงคาน ซึ่งทุกพื้นที่กรมชลฯ ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครองด้วย

              ส่วนข้อกังวลที่ว่าเขื่อนงกน้ำ ไม่ยอมระบาย เกรงว่าอาจเกิดปัญหา หากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ดร.สมเกียรติชี้แจงว่า คงไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักแต่ละแห่งยังมีไม่ถึง 50% ของปริมาณน้ำรับได้ (ดูจากตารางปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อน) ส่วนน้ำที่ท่วมในขณะนี้เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทางท้ายเขื่อนทั้งสิ้น  ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำในเขื่อนใหญ่ปีนี้จะมีมากกว่าปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ต้นปี 2559 น้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีเพียง 3,018 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้มีมากถึง 7,674 ล้านลูกบาศก์เมตร และแม้ขณะนี้จะมีฝนตกหนักในภาคเหนือหลายพื้นที่ แต่พื้นที่รองรับน้ำหลากในเขื่อนใหญ่ก็ยังคงสามารถรับน้ำได้มากกว่าครึ่งเขื่อน 

               “นี่เป็นฝนฉากแรก ตกฉับพลันและตกต่อเนื่อง 2-3 วัน ถ้าปริมาณฝนตกเกิน 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน ยังไงก็ท่วม เพราะระบายไม่ทัน คลองไส้ไก่เชื่อมระหว่างยมและน่านจากสุโขทัยไปพิษณุโลกก็ยังไม่เสร็จ ใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น” โฆษกกรมชลประทานเผย

                 ทว่าหากดูจากข้อมูลศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะสูงขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น   โดยกรมชลประทานได้วางมาตรการในการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้วยการบริหารจัดการน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ตามศักยภาพที่สามารถรองรับน้ำได้ โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่การเกษตร 

                   ทั้งนี้คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 1–1.50 เมตร ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว 

เดินหน้า 9 แผนงานป้องอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

                 จากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อโครงการการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยกรมชลประทานได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการของกรอบแผนงานการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผนงาน  ซึ่งมี 7 แผนงานที่มีผลศึกษาชัดเจน ภายใต้กรอบวงเงิน 228,100 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 3.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 4.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 5.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 6.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร และ7.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ส่วนอีก 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 และ2.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง แผนงานอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งยังไม่มีวงเงินปรากฏ ทั้งนี้ กนช.เห็นชอบในหลักการตามที่กรมชลประทานเสนอ

                 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญขนาดใหญ่ทั้ง 9 แผนงาน และมีวงเงินลงทุนสูงเพื่อความรอบคอบและชัดเจน จึงสั่งการให้นำไปจัดลำดับความสำคัญ ระยะเร่งด่วน และระยะยาว และจัดทำรายละเอียดของแผนงานทั้ง 9 แผนงาน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติ และไม่ได้มีการสั่งเบรกโครงการแต่อย่างใด พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการ พิจารณาโครงการที่พร้อมดำเนินการเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการที่สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 30 ธันวาคม 2560 เพื่อเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป 

“แก้มลิง”ชุมชนทางรอดแก้น้ำท่วม-แล้งยั่งยืน 

                วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมพิรุณ ชั้น 2 อาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ส.มก.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “กระบวนการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสมาคมที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดย รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา นักวิชาการเชี่ยวชาญเรื่องน้ำและอดีตรองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ได้เปิดประเด็นโดยหยิบยกเอาโมเดลการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาพิจารณา เพื่อการจัดการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สัมฤทธิผลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากสระน้ำขนาดเล็กในชุมชน ซึ่งมีอยู่ 4 แบบ ประกอบด้วย สระเก็บน้ำที่สร้างบนพื้นดินมีความลาดเท สระเก็บน้ำรับน้ำนอง สระเก็บน้ำเพื่อผันน้ำจากลำน้ำธรรมชาติใกล้เคียง และสระเก็บน้ำสร้างรับน้ำที่ไหลออกมาจากดิน ซึ่งสระเก็บน้ำทั้ง 4 รูปแบบ มีความลึกประมาณ 3.50 เมตร สามารถจุน้ำใช้ได้ในระยะเวลา 6 เดือน หรือตลอดในช่วงฤดูแล้ง และยังสามารถใช้เป็นแก้มลิงชะลอปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย

               “สระน้ำชุมชนจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนและเพื่อชุมชน มีการจัดตั้งองค์กรชุมชนในระดับหมู่บ้าน เป็นหลักการช่วยตัวเองเพื่อปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน ที่สำคัญสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชนตามแนวพระราชดำริระเบิดจากข้างใน” รศ.ดร.เจษฎา ให้มุมมอง

                 ขณะที่ ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผอ.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี มองว่าปัจจุบันภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญในการทำสระน้ำขนาดเล็ก แต่มักจะคิดโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก ทำให้การดูแลแก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

              “อย่างน้ำที่ท่วมสุโขทัยขณะนี้ เพราะมีสิ่งปลูกสร้างไปกีดขวางทางน้ำ ทำให้สุโขทัยท่วมทุกปี แก้ยาก สมัยผมเด็กๆ น้ำไม่เคยท่วมสุโขทัย เนื่องจากทั้งสองฝั่งน้ำยมมีแก้มลิงธรรมชาติเต็มไปหมดช่วยระบายน้ำ" ศ.ดร.เกษมย้อนอดีตสถานการณ์ในพื้นที่ จ.สุโขทัย พร้อมยืนยันว่า หากไม่พัฒนาแก้มลิงตามแนวพระราชดำริจะเป็นการยากในการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ ปัจจุบันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณและต้องใช้ระยะเวลา ต้องศึกษาผลกระทบหลายด้าน

               ด้าน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าผลกระทบจากความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรายังแยกไม่ออกระหว่างความต้องการใช้น้ำกับความจำเป็นในการใช้น้ำ ที่ผ่านมาเรายึดความต้องการน้ำเป็นตัวตั้ง ทำให้ความต้องการใช้น้ำจึงไม่มีที่สิ้นสุด

               “น้ำท่วม น้ำแล้ง มักมองปัญหาแยก แต่ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเดียวกัน อย่างเช่นการสร้างฝาย หน้าแล้งสร้างฝาย พอหน้าฝนเอาฝายออก ป้องกันน้ำท่วม อย่างนี้เป็นต้น หรือตอนนี้บึง หนอง ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านใช้เป็นที่รองรับน้ำสมัยก่อน ปัจจุบันก็ไม่มีน้ำแล้ว เหลือแต่ชื่อ เพราะพื้นที่ตรงนั้นมันถูกบุกรุกจากสิ่งปลูกสร้าง นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาขัดขวางทางเดินของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน” รศ.ดร.บัญชา สรุปทิ้งท้าย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ