คอลัมนิสต์

ยุบบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้เกษตรกรหรือหวังผลทางการเมือง ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ยุบบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ แก้หนี้เกษตรกรหรือหวังผลทางการเมือง ?

               พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบในหลักการของคำสั่งคสช. เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 ปี ต้องจบสิ้นสุดภารกิจลงในทันที 

              พร้อมให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่ 1 คณะเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 3,737 ราย 4,403 บัญชี มูลหนี้รวม 3,540,771,638.34 บาท ซึ่งอยู่ในระหว่างกำลังจะถูกบังคับคดีและให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวศึกษาจุดอ่อนของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วเสนอผลการศึกษาให้ ครม. แก้ไขปรับปรุงในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเบื้องต้น 6 เดือน และหากยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จก็สามารถขอขยายระยะปฏิบัติจากครม.ได้ 

             ปัญหาการแก้หนี้เกษตรกรที่เรื้อรังมานานก็เดินเข้ามาสู่จุดพีคเมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม เมื่อเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กว่า 300 คน นำโดย “ชรินทร์ ดวงดารา” ที่ปรึกษากลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย(คนท.)เดินทางมายังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขหนี้เร่งด่วน จากนั้นได้มีการหารือร่วมกับแกนนำเครือข่ายคนอื่นๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกรสมาชิก โดยร่วมกันพิจารณาแนวทางการขอใช้งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางกฟก.ได้เร่งให้มีการจัดทำรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้เร่งด่วนที่สำนักงานสาขาจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยดำเนินการสำรวจข้อมูลมาเป็นข้อมูลอ้างอิงในการนำเสนอรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของกฟก.และครม.) โดยมี “สมยศ ภิราญคำ” รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เป็นผู้รับผิดชอบ

             ส่วนอีกประเด็น การขอเงินชดเชยเพื่อซื้อหนี้สหกรณ์เข้าสู่การพิจารณาของครม. โดยสมยศได้เน้นย้ำกับแกนนำว่า สำหรับเกษตรกรที่ต้องการให้ กฟก.ดำเนินการจัดการหนี้ ให้ยื่นเอกสารขอใช้สิทธิ์ เพราะกฟก.ต้องการให้มีการยืนยันตัวตนที่แท้จริงของสมาชิกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อความต้องการ ซึ่งขณะนี้สำนักงานสาขาจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด อยู่ระหว่างเร่งสำรวจข้อมูลหนี้เร่งด่วนของเกษตรกรสมาชิก 

            ขณะที่ “ชรินทร์” มองว่า กฟก.มีปัญหาด้านการบริหารงาน ทำให้ทหารและกระทรวงมหาดไทยต้องลงไปช่วยสำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขายหน้า เพราะกฟก.มีสาขาถึง 77 สาขา กรณีธนาคารฟ้องยึดที่ดินทาง กฟก.จะออกหนังสือบรรเทาทุกข์ให้ ส่วนกรณีการขับไล่ออกจากพื้นที่คงต้องอาศัยฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลไปก่อนแล้วจะนัดหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาทางออกต่อไป

          “ที่สำคัญคือเรื่องการขอมติครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบนำเงิน 3,000 กว่าล้านบาท ออกมาช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งครม.มีมติอนุมัติเงินให้กฟก.ตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถสั่งจ่ายได้”

          ส่วนประเด็นเรื่องเงินชดเชยสหกรณ์การเกษตร ที่ทางกลุ่มต้องการนำเรื่องนี้เข้าครม.เพื่อขอมติครม.ตัดจ่ายบัญชี 2,100 ล้านบาท และขอเพิ่มในส่วนที่ยังไม่ใช้หนี้ เนื่องจากกฟก.ใช้งบประมาณส่วนอื่นประมาณ 2,100 ล้านบาท มาบริหารจัดการหนี้สหกรณ์การเกษตร และในที่สุดได้ทำสัญญาให้เกษตรกรจ่ายหนี้เองทั้งหมด ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรจ่ายหนี้ครึ่งหนึ่ง รัฐบาลจ่ายหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ย 7.5% เป็นการผลักความรับผิดชอบให้เกษตรกรรับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะดำเนินการเสนอเข้า ครม.พิจารณาได้ก็ต่อเมื่อมีคณะกรรมการ กฟก. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณ คสช. และมหาดไทยที่ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

          โดยในประเด็นนี้ สมยศชี้แจงว่า กฟก.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร ถ้าสิ่งใดสามารถดำเนินการให้ได้จะดำเนินการให้ทันที แต่ปัจจุบันมีสมาชิกบางรายไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามระบบได้ เนื่องจากติดกฎระเบียบการบริหารงาน จึงทำให้การช่วยเหลือล่าช้า ทั้งนี้ ในกรณีถูกฟ้องยึดที่ดิน ทางกฟก.จะเร่งออกหนังสือบรรเทาทุกข์ให้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป 

           ชรินทร์ยอมรับว่าการได้พาเกษตรกรสมาชิกกว่า 300 คนเดินทางมายังสำนักงาน กฟก. ติดตามความคืบหน้าหนี้เร่งด่วน เมื่อวันที่ 8–9 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น เพื่อต้องการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขหนี้เร่งด่วน โดยให้มีการจัดทำรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้เร่งด่วน หลังจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรทำให้การดำเนินงานไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งสำนักงานซื้อหนี้ได้เพียง 249 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤติ จึงทำให้ทางเครือข่ายต้องเดินทางมากระตุ้นให้มีการทำงานไม่ให้เป็นสุญญากาศเท่านั้นเอง 

            จากนั้นในวันที่ 11 พฤษภาคม สมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กฟก. สไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ และตัวแทนจากสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกรได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี “อำนวย ปะติเส” ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อจัดเตรียมข้อมูลหนี้สินของเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด โดยให้จัดลำดับความสำคัญและจำแนกสถานะหนี้ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ           

            ทั้งนี้ เขาได้ขอความร่วมมือให้กองทุนฟื้นฟูฯ เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพื่อจะสรุปข้อมูลให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณา และข้อมูลที่ได้จะต้องมีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟูฯ และจะมีการประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีปัญหาหนี้เร่งด่วนที่ถูกบังคับคดีและติดตามหนี้ผิดนัดชำระ  

         การยุบ 3 บอร์ดกฟก.ตามมติครม.เพื่อแก้ปัญหาหนี้และแก้กฎหมายบางตัวในพ.ร.บ.ที่เป็นปัญหา หรือหวังผลทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของหน่วยงานที่ชื่อว่า “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” หรือ กฟก. นั่นเอง

                                                                         เจาะลึกเบื้องหลังยุบบอร์ดกฟก.

              คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมูล หมาไม่ขี้” น่าจะใช้ได้ดีกับมติคณะรัฐมนตรี(16 พ.ค.60) ยุบบอรฺ์ดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ทั้ง 3 ชุด หลังจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกฟก.(บอร์ดชุดใหญ่) พูดขึ้นมาในกลางที่ประชุมเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของบอร์ดชุดใหญ่ ก่อนจะถูกยุบว่า

                 “งานนี้ไม่มีใครถูก ใครผิด เป็นเรื่องที่เดินต่อไปไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะนำเรื่องนี้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรี”

             เช่นเดียวกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ก็มองไม่ต่างกัน โดยพูดกลางที่ประชุมว่า

                “กองทุนฟื้นฟูฯ ถ้าเป็นรถก็ขับต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนขับ”

              เสมือนบอกเป็นนัยๆ ว่าปัญหาความขัดแย้งในองค์กรนี้ยากเกินเยียวยา จะเห็นว่าที่ผ่านมาภาพความขัดแย้งของคณะกรรมการในบอร์ดฉายให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมาปะทุรุนแรงเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้เลขาธิการ กฟก. “วัชระพันธ์ จันทรขจร” ไม่ผ่านการประเมิน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 จึงมีคำสั่งให้พักงานเป็นระยะเวลา 30 วัน หรือจนกว่าคำสั่งเปลี่ยนแปลง

                จากนั้นเลขาธิการกฟก. ก็ยื่นเรื่องอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมไปที่คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรองนายกรัฐมนตรีตรี “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” เรื่องราวไม่ได้ยุติอยู่แค่นั้น เมื่อคณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งกับคณะกรรมการบริหารมาตลอดก็ได้โอกาส ร้องคณะกรรมการชุดใหญ่ให้ตรวจสอบที่มาของคณะกรรมการบริหาร จนกระทั่งมีคำสั่งให้พักงานคณะกรรมการบริหารเช่นกัน

                “ตามข้อกฎหมาย ถ้าเลขาฯ ไม่พอใจในมติ ก็ต้องไปยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ไม่ใช่ไปร้องต่อบอร์ดใหญ่” แหล่งข่าวในคณะกรรมการบริหารให้ความเห็น ทว่าความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการบริหารกับคณะกรรมการจัดการหนี้เริ่มเด่นชัดมากขึ้นก่อนการประชุมบอร์ดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อกรรมการในส่วนของตัวแทนเกษตรกรขอลาออกจากกรรมการ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เพื่อกันข้อครหาจะมีส่วนได้เสียหากเข้าประชุมโดยมีหมวกคณะกรรมการด้วย ก่อนจะเสนอให้มีการเลือกเข้ามาใหม่

                 “สิ่งที่พวกคุณทำ มันเป็นปาหี่ คิดว่ากรรมการที่เป็นตัวแทนจากหน่วยราชการไม่รู้ว่าพวกคุณคิดอะไรอยู่ เหมือนไม่ไว้หน้ากัน จะทำอะไรยังไงก็ได้” แหล่งข่าวคนเดิมเผย ก่อนมาถึงจุดสิ้นสุดของคณะกรรมการทุกชุดด้วยมติครม.เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ถือเป็นเซตซีโร่เพื่อมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

                แหล่งข่าวคนเดิมมองว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ที บอร์ดเฉพาะกิจตามมติครม. แต่เชื่อว่าทางรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับตัวแทนเกษตรกรที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรก็จะมีปัญหาต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

                  “แน่นอนว่าบอร์ดเฉพาะกิจจะต้องมีคนของรัฐ จากหน่วยราชการ ทหารเข้าไปนั่ง แต่อย่าลืมตัวแทนเกษตรกรและขอให้เป็นตัวแทนของเกษตรกรจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวทิ้งท้ายด้วยคงวามหวัง

 

                                                                 ใครเป็นใครในกองทุนฟื้นฟูฯ

                 ทุกยุคทุกสมัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักมองว่ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือกฟก. คือหน่วยงานสำคัญที่สร้างฐานคะแนนเสียงในระดับฐานราก ใครคุมกฟก.ก็เสมือนได้ฐานเสียงไปแล้วเกือบค่อนประเทศ ทำให้ที่ผ่านมากฟก.จึงถูกมองเป็นองค์กรการเมือง พรรคการเมืองฟากรัฐบาลมักส่งคนของตัวมานั่งกุมบังเหียนตลอดมาโดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการ กฟก. ที่มีการช่วงชิงกันอยู่ทุกรัฐบาล

                    จะเห็นว่ายุคไทยรักไทยดูจะมีสีสันมากที่สุด เพราะรายนามล้วนแต่เป็นจอมยุทธ์เดือนตุลา อาทิ สมาน เลิศวงศ์รัฐ, ผดุงศักดิ์ พื้นแสน และ อมร อมรรัตนานนท์ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็มี นคร ศรีพิพัฒน์และ สังศิต พิริยะรังสรรค์ มานั่งเก้าอี้รักษาการเลขาธิการ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ

กฟก.กลับมาชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อ “บิ๊กโป๊ะ” วัชรพันธุ์ จันทร์ขจร มานั่งเป็นเลขาธิการที่ยาวนานกว่า 3 ปี โดยจะสิ้นสุดสัญญาจ้างในปลายปีนี้(26พ.ย.60) หากไม่ถูกพักงานเสียก่อน

                   จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กฟก.กลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อภายในองค์กรมีความขัดแย้งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างฟากกระทรวงเกษตรฯ ที่มีอำนวย ปะติเส อดีต รมช.เกษตรฯ และที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กับฟาก กฟก. “บิ๊กโป๊ะ" วัชรพันธุ์ จันทรขจร “คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” ในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 11 คนคือ 1.ภาคราชการ สมบัติ ชิณะวงศ์, โอภาส ทองยงค์, พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง, สมพาศ นิลพันธ์ และ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ 2.ภาคเอกชน ชุลีพร น่วมทนง, สุนทร รักษ์รงค์, ทานตะวัน แกล้วเขตการ, ประยงค์ ดอกลำไย, สุพจน์ ป้อมชัย และธงชัย สุวรรณวิหค

                  โดยปกติ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะไม่มีใครสนใจมากนัก หากไม่มี 2 รายชื่อนี้คือ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ช่วงที่ยางราคาตกต่ำ สุนทรมีบทบาทในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อพี่น้องชาวสวนยาง ทำให้ "อำนวย ปะติเส” ต้องดึงเข้ามาช่วยผลักดัน พ.ร.บ.การยางฯ จนคลอดเป็นกฎหมาย   ล่าสุดทั้งอำนวยและสุนทรก็เข้าสู่โหมดแตกหัก หลังมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่ต่างเป้าหมาย จึงเข้าทำนองที่ว่า “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”

                                                              3 บอร์ดกฟก.ตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ 

             คณะกรรมการตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ประกอบด้วย 3 ชุด ดังนี้

ชุดที่1 - กรรมการกองทุนฟนฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามมาตรา 12 

ประกอบดวย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เปนประธานกรรมการ รัฐมนตรีวาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปนรองประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ ผูอํานวยการสํานักงบประมาณ ผูทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแตงตั้งจํานวน 11 คน และผูแทนเกษตรกรจํานวน 20 คนเปนกรรมการ ใหเลขาธิการกฟก.เปนกรรมการและเลขานุการ

ชุดที่ 2 - กรรมการบริหารกองทุนฟนฟูและพฒนาเกษตรกร ตามมาตรา 20 

     ประกอบดวย ประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการแตงตั้งมีจํานวนรวมกัน 7 คน โดยใหแตงตั้งจากบุคคลในคณะกรรมการจํานวน 3 คน ซึ่งในจํานวนนี้จะตองเปนผูแทนเกษตรกรจํานวน 2 คน และผูทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรูความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณที่เกี่ยวของ สาขาเศรษฐศาสตร สาขาการบริหาร การเงินหรือการธนาคาร และสาขาเกษตรศาสตร์ สาขาละ 1 คน เปนกรรมการ และใหเลขาธิการเปนกรรมการและเลขานุการ โดยใหคณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการดวยกันเปนประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ

ชุดที่ 3 - คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ตามมาตรา 37/2

      ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย กรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการ 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางสาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาการบริหาร การเงินหรือการธนาคาร และสาขาเกษตรศาสตร์ สาขาละ 1 คนเป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ