คอลัมนิสต์

"อภิสิทธิ์" ตรวจการบ้าน 3 ปี คสช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กการบ้าน 3 ปี คสช. กับ “อภิสิทธิ์” : คสช. เพิ่งตื่นตัวกับงานหลักก็วันนี้ : โดย จักรวาล ส่าเหล่ทู คมชัดลึกออนไลน์

 

              ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ก็เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการยึดอำนาจโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้ายังจำกันได้ช่วงก่อนการรัฐประหาร เกิดวิกฤติทางการเมือง มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล จนก่อเกิดเป็นข้อเสนอขอให้ยกเครื่องปฏิรูปประเทศไทย ในหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องการปรองดอง

              วันนี้ “คม ชัด ลึก” จึงถือโอกาสเชิญชวน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาพูดคุยในมุมมองของนักการเมือง ว่า คสช.ทำงานคืบหน้า หรือมีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง

              “ต้องบอกว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ต้องบอกว่าจุดแข็งของ คสช.​ ในสายตาของคนทั่วไปยังคงอยู่ที่ว่าทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยสงบ เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ที่มีการชุมนุมประท้วง มีความขัดแย้ง ส่วนจุดอ่อนก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม ก็คือเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชาชนในชนบทเขามองว่า เศรษฐกิจค่อนข้างจะย่ำแย่ รายได้น้อย ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่ายังพอไปได้นั้น ในมุมของประชาชนกลับไม่ได้รู้สึกถึงส่วนนี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลที่ตกต่ำลง ในส่วนของนโยบายที่เคยช่วยเหลือสนับสนุน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการเกษตร และในชนบท ที่ผ่านมากลับไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ในระดับที่เขาพึงพอใจ ดังนั้น เศรษฐกิจชนบทก็ค่อนข้างจะเงียบ เศรษฐกิจในตัวเมืองเองก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง” อดีตนายกฯ​ เริ่มเปิดประเด็นด้วยการเล่าถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคสช.

              ที่ผ่านมา เคยพูดถึง คสช.ทุกปีว่า จะต้องแยกงานบริหารทั่วไป กับภารกิจหลักของเขา นั่นก็คือการปฏิรูปและการปรองดอง ดังนั้น เข้าสู่ปีที่ 3 เราก็เห็นชัดแล้วว่า คสช.เริ่มตื่นตัวแล้วว่าเวลาเขาเริ่มน้อยลง

              3 ปีผ่าน คสช.เพิ่งจะตื่นตัวกับภารกิจหลัก

              สิ่งที่เตือนตั้งแต่แรกก็คือว่า จะต้องเกิดปัญหานี้แน่ๆ เพราะงานปฏิรูปหรืองานปรองดองที่ผ่านมา คสช.ก็ไปฝากไว้กับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปรฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ ก็เพียงแค่คิดและส่งข้อเสนอ และกว่าจะเสร็จให้คสช.ได้เอาไปใช้ก็เหลือเวลาแค่ 1 ปี อย่างเก่งหน่อยก็จะมีเวลา 2 ปี ดังนั้น ตอนนี้ คสช.ตื่นตัวขึ้นมามากตั้งแต่ต้นปีจนเกิดเป็นคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.)

"อภิสิทธิ์" ตรวจการบ้าน 3 ปี คสช.

              แต่คราวนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการปรองดองนั้น ขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปแล้วก็คือการรับฟังความคิดเห็นที่ได้เชิญฝ่ายต่างๆ ไปออกความเห็น แต่เราเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าข้อเสนอหรือทางออกที่ คสช.จะจัดทำเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งการปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นความท้าทายก็คือว่าหลังจากนี้ไป รูปแบบข้อเสนอจะออกมาอย่างไร และต้องสารภาพว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดว่าเขาจะเสนอเรื่องปรองดองอย่างไร

              ในเรื่องของการปฏิรูปนั้น ส่วนนี้กลายเป็นปัญหามากกว่า ปีที่แล้วได้พูดไปว่า จริงๆ เรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องปฏิรูปคือทำอย่างไรให้คนมั่นใจในระบบการเมือง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง เคยวิเคราะห์แล้วว่าระบบการใช้อำนาจอันมิชอบที่มีในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดจากการเข้าไปแทรกแซงกลไกต่างๆ ซึ่งก็ต้องมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุล เช่น สื่อมวลชน ตำรวจ พรรคการเมือง เป็นต้น 

              แต่วันนี้กลายเป็นว่าข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูป กลับคืบหน้าน้อยมาก บางเรื่องมองว่าถอยหลังด้วยซ้ำ เช่น เรื่องสื่อ กลายเป็นมีข้อเสนอว่าจะเอาเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปอยู่ในองค์กรวิชาชีพ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะสิ่งที่เราเคยเรียกร้องก็คือว่า ทำอย่างไรให้รัฐติดดาบให้แก่องค์กรสื่อ เพื่อตรวจสอบกันเองได้ แต่การให้คนของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ถือว่าเป็นการเสี่ยงอย่างมาก เพราะในอนาคตก็จะมีรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงสื่อมากขึ้น เรื่องของตำรวจเองก็มีข้อเรียกร้องว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการสอบสวนมีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ยุบให้พนักงานสอบสวนกลับเข้าไปอยู่รวมกับตำแหน่งอื่นๆด้วย เป็นต้น

              ดังนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะทิศทางของการปฏิรูปขณะนี้ ค่อนข้างที่จะรวน และทำให้เรายังมองไม่เห็นว่า สิ่งสุดท้ายที่พูดกันว่าจะปฏิรูปประเทศ จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

              ไม่เคยคาดหวังงานปฏิรูปจะเสร็จในยุค คสช. แต่ไม่ใช้คำว่า “เสียของ”

"อภิสิทธิ์" ตรวจการบ้าน 3 ปี คสช.

              ไม่ขอใช้คำว่า “เสียของ” เพราะว่า ก่อนจะมีการรัฐประหารเคยพูดว่า เราจะไปคาดหวังให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ง่ายเลย เพราะว่าการปฏิรูปที่จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังรัฐประหารไม่ได้เลย เนื่องจากติดเหตุผลด้านความมั่นคงที่เขากลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งอีก และมีความรู้สึกว่าทำอย่างไรอย่าเพิ่งให้ฝ่ายการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก ดังนั้น กลไกต่างๆ ก็จะพึ่งระบบราชการเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาของระบบนี้ที่ไม่ว่าที่ไหนในโลก ก็คือความก้าวหน้าในแนวคิดการปฏิรูป จึงไม่แปลกใจว่า ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่เราได้มา ออกมาในแนวอนุรักษนิยม อีกทั้งกระบวนการพัฒนาในหลายๆ จุดยังสะท้อนแนวคิดให้ข้าราชการครอบงำเชิงความคิด เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าขาดการมีส่วนร่วมในเชิงความคิด เห็นใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ต้องพึ่งกลไกราชการในการทำงานที่ต้องอาศัยแนวคิดนอกกรอบ สร้างการปฏิรูปให้ยั่งยืน ถือเป็นเรื่องยากมากๆ

              หลายเรื่องที่พูดไปก็ทำให้เห็นว่าสวนกระแสกับแนวทางพัฒนาของโลก บางแนวคิดก็ค่อนข้างอนุรักษนิยม ถ้าเราจะผลักดันวิสัยทัศน์ที่อิงกับแนวคิดแบบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งคือ แนวคิดเหล่านี้ต้องถูกรื้อแน่นอน เพราะว่าสังคมจะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

              ต่อให้ใช้มาตรา 44 ก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ ถ้าขาดความคิดหลากหลาย

              ทั้งนี้ คสช.ยังมีเวลาอีก 1-2 ปีที่จะปรับ ซึ่งต้องอาศัยความเป็นรัฐบาล และความเป็นสภา เพราะสิ่งที่เป็นข้อเสนอหลายๆ เรื่องจากนี้ ก็เป็นเพียงของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง อย่าง สปช. สปท. แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ฟังเสียงสังคมรอบด้านมากขึ้น เรื่องจะคลี่คลายลงได้ อย่างเรื่องสื่อ ไม่ต้องรอข้อเสนอแนะจากสภาได้ไหม แค่นายกฯ ชี้ชัดเลยว่ามีวิสัยทัศน์ เช่นว่า สื่อต้องดูแลกันเอง รัฐไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มั่นใจได้มากขึ้นว่า เรากำลังจะปฏิรูปสื่อบนหลักการที่สอดคล้องกับโลก ถ้ามัวแต่ตั้งรับเถียงกันว่า ควรมีคณะกรรมการ มีใบอนุญาตไหม คือกรอบความคิดไม่ถูก ก็จะกลายเป็นว่าเราเข้ามาตามแก้กันทีหลัง

              หรืออย่างเรื่องกรณีรถกระบะ กระทบกระเทือน คสช.มาก ทั้งๆ ที่มีเจตนาดี นี่แหละคือปัญหาที่จะเกิดมากขึ้น และที่เห็นอีกอย่างก็คือ คนที่ทำงานในคณะกรรมาธิการต่างๆ ของ สปท. ลืมไปว่า ถ้าข้อเสนอไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ไม่ยั่งยืน อย่างกรณีนี้ก็จะเห็นได้ว่าปัญหาสังคมหลายเรื่อง ไม่สามารถแก้ไขได้โดยอาศัยอำนาจเพียงลำพัง

              ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การใช้มาตรา 44 ผ่านประกาศ คสช. ต้องถือว่าเยอะ น่าจะหลายร้อยคำสั่งแล้ว และบางทีออกมาแล้วก็ต้องใช้อำนาจเดิมแก้ไขอีก ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการมีอำนาจน้อย แต่ปัญหาคือจะใช้อำนาจอย่างไร อย่างที่บอกว่าไม่ได้คาดหวังตั้งแต่ต้น นั่นก็เพราะภายใต้บรรยากาศที่ไม่สามารถดึงความเห็นที่หลากหลายมาสร้างเจตนารมณ์ร่วมจะไม่สามารถเกิดการปฏิรูปได้ เพราะการปฏิรูปจะมีทั้งคนได้และเสีย และคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้คนตกผลึกร่วมกัน ต่อให้มีมาตรา 44 ออกเป็นกฎ​หมายได้ ก็ทำไม่สำเร็จ

"อภิสิทธิ์" ตรวจการบ้าน 3 ปี คสช.

              ความกังวลว่าบ้านเมืองอาจวุ่นวายอีกหลังเลือกตั้ง

              ในส่วนข้อเรียกร้องที่ให้มีการเลือกตั้งนั้น จริงๆ แล้วประชาชนอยากให้มีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า เพราะหลักประกันที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าประชาชนมีคนที่เป็นปากเสียงแทน เขาจึงรู้สึกว่าการเลือกตั้งมีผู้แทน เขาก็ตามเรื่องกับคนเหล่านี้ได้ คราวนี้ในช่วงที่ คสช.เข้ามา ช่วงแรกๆ อาจจะไม่เท่าไหร่เพราะประชาชนใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่พอเขาเริ่มมีความหงุดหงิดไม่เห็นด้วยกับบางอย่างที่รัฐบาลทำ ก็มีความอึดอัดเกิดขึ้น เพราะเขาไม่มีช่องทางที่จะระบาย จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเราถึงได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งมากขึ้น

              “ส่วนเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง คงไม่ใช่แค่ผมที่กังวล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งคือหัวใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายอยู่ในขอบเขต สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยสบายใจคือว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันพูดเหมือนกับว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นปัญหา แต่ทั่วโลกเขาให้ประชาธิปไตยคือคำตอบ ซึ่งหมายความว่าเราต้องยอมรับให้ได้ว่าจะมีคนที่คิดไม่เหมือนเรา มีความขัดแย้งทางความคิด มีการแข่งขันกัน อย่าไปคิดว่านี่คือปัญหา ซึ่งหัวใจจริงๆ ก็คือว่าคนที่คิดต่างกัน ต้องมีกฎกติกามารยาทของการอยู่ร่วมกัน”

              ในกรณีที่ผู้มีอำนาจมักระบุว่า ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากนักการเมือง ส่วนตัวมองว่าทุกคนก็มีส่วนไม่มากก็น้อยที่นำพาประเทศมาสู่จุดนี้ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่านักการเมืองเป็นจำเลยที่ 1 แต่ทุกฝ่ายมีส่วน แม้กระทั่งคนที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้ ก็มีบทบาททำงานให้บ้านเมืองทั้งสิ้น ในส่วนของนักการเมืองก็ต้องกลับมาทบทวน ถ้าประชาธิปไตยล้มเหลว จนสังคมกลับเข้าสู่การรัฐประหาร ก็ต้องเก็บบทเรียนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนใหญ่ก็เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเกินขอบเขตและเข้าสู่วงจรความขัดแย้งที่จะมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งนักการเมืองต้องไม่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก

              ความเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองใต้เงา คสช.

              เราไม่ค่อยเห็นบทบาทนักการเมืองมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่า คสช.ยังไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองทำหน้าที่ได้ตามปกติ ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะถ้าเขาเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ เช่น ทำให้ประชาชนเห็นด้านดีของการเมืองมากขึ้น และบังคับให้นักการเมืองทำดีมากขึ้น ส่วนใครจะจงใจปั่นป่วนก็ห้ามได้เลย แต่การห้ามเคลื่อนไหวทั้งหมด ก็ไม่ได้ช่วย แต่กลับไปตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า สุดท้ายแล้วนักการเมืองมีแต่เรื่องการเลือกตั้ง แย่งอำนาจกัน

              ส่วนสัญญาประชาคมที่พูดถึงกันนั้น ต้องบอกว่ายังไม่เห็น แต่อย่าไปคิดว่านี่คือจุดเป็นจุดตาย ที่ผ่านมาหลายๆ คนอย่าว่าแต่นักการเมืองเลย ก็เคยมีความตั้งใจดีทำอะไรหลายอย่าง แต่พอถึงเวลาก็บอกว่าสถานการณ์เปลี่ยน ดังนั้นความสำเร็จเรื่องของการปรองดอง ต้องไปดูที่หลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่ดูที่สัญญาประชาคม

              ความคาดหวังของประชาชนต่อ คสช.

             “ภารกิจหลักที่ประชาชนคนคาดหวังคือ เมื่อ คสช.ออกไปแล้วการเมืองไทยจะดีขึ้นกว่าช่วงก่อน 22 พฤษภาคม ซึ่ง คสช.จะถูกตัดสินโดยประวัติศาสตร์จากประชาชน ว่าหลังจากนี้ไปแล้วตกลงการเมืองไทยดีขึ้นหรือไม่ คสช.ต้องไปคิดว่าเวลาที่เหลืออยู่ทำอย่างไรให้การเมืองหลังการเลือกตั้งดีกว่าก่อนรัฐประหารจริง โดยยึดหลักการของระบอบของประชาธิปไตย ส่วนบทบาทของทหารหลังการเลือกตั้งนั้น ถ้าเราทำภารกิจสำเร็จ เขาก็กลับเข้ากองทัพดูแลด้านความมั่นคงเหมือนเดิม” อดีตนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

              และนี่คือความเห็นต่อ คสช. ในมุมมองของนักการเมืองอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังคงต้องติดตามกันไปว่าท้ายที่สุดแล้ว คสช.จะวางรากฐานเรื่องการปฏิรูปและการปรองดองได้หรือไม่ หรือทำให้การเมืองดีกว่าวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ไหม และอย่าลืมว่าเวลาของผู้มีอำนาจเหลือน้อยแล้ว หากทำไม่สำเร็จ ไม่แน่... วงจรการรัฐประหารก็จะยังวนเวียนอยู่เช่นเดิมอีก

 

-------------

     ดับไฟใต้ : งานมั่นคงต้องรัดกุม

"อภิสิทธิ์" ตรวจการบ้าน 3 ปี คสช.

              เรื่องความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาล คสช.

              กระบวนการการพูดคุยของรัฐบาล ต้องมองว่าตอนนี้เดินมาถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือกระบวนการพูดคุยนั้นรัดกุมแค่ไหน เพราะเท่าที่ติดตาม บางกลุ่มที่มีอิทธิพลในพื้นที่ชัด แต่ไม่ขอมีส่วนร่วมด้วย ก็จะเป็นอุปสรรคในการพูดคุยแก้ปัญหา ซึ่งเราต้องยอมรับว่ากลุ่มเคลื่อนไหวมีหลากหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ประเด็นต่อมารัฐบาลนี้ แม้พยายามพูดว่าใช้กระบวนการทางการเมืองแก้ปัญหา แต่หลายครั้งกลับไม่ชัดว่า เป็นการเมืองนำการทหารจริงหรือไม่ หน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี หรือโครงสร้างของตำรวจที่มีโครงสร้างพิเศษ เมื่อถูกลดความสำคัญ หรือเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้การใช้นโยบายทางการเมืองนำการทหารทำได้ยาก

              ปัญหาต่อมา เมื่อเราใช้กระบวนการพูดคุยและการเมืองแก้ปัญหา แต่สิ่งที่คนนอกพื้นที่ไม่เคยได้รับรู้เลยก็คือว่า คำตอบที่จะเกิดขึ้นนั้นคืออะไร การไปพูดคุยเพื่อหวังว่าจะจบเลยก็ไม่ได้ เพราะฝ่ายที่เข้ามาคุยด้วย ก็มีเป้าหมายของตัวเอง แต่เราไม่เคยเอาประเด็นปลายทางของการพูดคุยมาทำความเข้าใจว่าเป็นอย่างไร

              เปรียบเทียบการแก้ปัญหายุคนี้ กับสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

              สมัยนั้นยึดว่าการพูดคุยต้องพูดกันภายในแบบไม่เปิดเผยก่อน เนื่องจากต้องสร้างความไว้วางใจกันก่อน หาแนวทางว่าสามารถตกลงควบคุมสภาพในพื้นที่ได้ไหม แต่ว่ารัฐบาลถัดมาทำให้กระบวนการพูดคุยเปิดเผยเร็ว ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่จะพูดคุยมีการเรียกร้องต่างๆ เช่นว่า ทำไมไปเอากลุ่มนั้นเข้ามา เป็นต้น ต่อมากลุ่มเหล่านั้นก็พยายามใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับโลกภายนอกเพื่อต่อรอง

              แต่ว่าเมื่อเปิดเผยแล้วก็จะปิดก็ไม่ได้ จึงเห็นใจรัฐบาลที่รับงานต่อจากรัฐบาลที่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องปิดจุดอ่อนว่า ทำอย่างไรให้การพูดคุยมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น คิดว่าโจทย์การพูดคุยจะยากขึ้น เพราะโลกภายนอกมีความรุนแรงสุดโต่ง มีการก่อการร้าย องค์กรต่างๆที่เคลื่อนไหว หรือเมืองที่เคยมีความสงบก็เป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งเราหวังว่าความรุนแรงจะไม่เพิ่มมากขึ้น แต่งานของความมั่นคงจะต้องรัดกุมมากขึ้น และการเมืองที่จะแก้ปัญหาต้องทันต่อความรู้สึกของแต่ละฝ่าย

              ในส่วนของ ครม.ส่วนหน้า ที่กำลังดำเนินการนั้น อยากให้มีความหลากหลายของตัวแทนมากกว่านี้ สมัยนั้นมีตัวแทนสภาที่ปรึกษาที่เป็นตัวแทนจากประชาชนจึงสะท้อนความเป็นการเมืองแก้ปัญหามากกว่า เราหวังว่าจะไม่เป็นอุปสรรค แต่ว่าก็เสียดายถ้าเราสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมมาก ก็มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่านี้             

------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ