คอลัมนิสต์

ต้าน-หนุน ม.44ให้ต่างชาติ"เปิดมหาวิทยาลัย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้าน-หนุน ม.44ให้ต่างชาติ"เปิดมหาวิทยาลัย" ติดตามเรื่องนี้ กับ“กมลทิพย์   ใบเงิน”เวบไซด์คมชัดลึก    

          กลายเป็นประเด็นร้อนทันที เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีมติเห็นชอบในหลักการของคำสั่งคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษเน้นผลิตเฉพาะสาขาวิชาที่ขาดแคลนนั้น ส่งแรงกระเพื่อมถึงมหาวิทยาลัยไทยต่างร้องโอดครวญ!!หวั่นกลัวหากไม่“ปรับตัว”ไม่รอดแน่่...

          “การใช้ม.44 ต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัย สวนทางกับ นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะเป็นการทำลายระบบอุดมศึกษาของไทยมากกว่า เหมือนกับนโยบายการเปิดให้ใครก็ได้ที่ไม่มีวุฒิครูสามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ ซึ่งเป็นการทำลายระบบการผลิตครูจนมีผู้ออกมาคัดค้านจำนวนมากมาแล้ว”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)เปิดฉาก“เห็นต่าง”

          รัฐควรจะส่งเสริมและสนับสนุนระบบอุดมศึกษาไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งพ.ร.บ.ของแต่ละสถาบันก็เปิดให้สามารถทำได้อยู่แล้ว ทั้งการนำอาจารย์ต่างชาติมาสอน การร่วมมือจัดกับสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยของไทยเติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนมากกว่า 

          “ที่สำคัญที่ผ่านมาคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทยแทบทุกสถาบัน ใช้งบประมาณมากมายเดินสายไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น อ้างเพื่อไปทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)บางแห่งทำกับหลายสถาบันจนจำไม่ได้ ทำไมไม่ดำเนินการต่อโดยเฉพาะในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนให้เป็นรูปธรรม แทนที่จะปล่อยให้การใช้งบประมาณที่ผ่านมาสูญเปล่า”

          การใช้ม.44 ให้ต่างชาติเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัยในไทย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องเงื่อนไขในการจัดตั้งให้ง่ายขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบกับมหาวิทยาลัยของไทย ที่จำนวนนักศึกษาลดลงถึงขั้นมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งอาจต้องปิดตัวลง จนเกิดการแย่งนักศึกษากันถึงขั้นจัดโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถมกันอุตหลุดอยู่ในเวลานี้

ต้าน-หนุน ม.44ให้ต่างชาติ"เปิดมหาวิทยาลัย"  

          ส่วนมหาวิทยาลัยลัยของรัฐอาจต้องมีการยุบรวม ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอีกมายมาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา ผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ แล้วยังจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น เรื่อง การปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา(มคอ.) เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ซึ่งหากยกเว้นให้มหาวิทยาลัยต่างชาติ ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำกับมหาวิทยาลัยไทย ยากแก่การกำกับเรื่องมาตรฐานขึ้นไปอีก

          การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นหากเป็นของรัฐต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่หากเป็นของเอกชน ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาออกใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจตามม.44 แต่อย่างใด 

          “ที่น่าตกใจนพ.ธีระเกียรติกล่าวไว้ว่าแม้จะเชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาเปิดสถาบันการศึกษา แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีมาหรือไม่ นี่ท่านจะเสนอใช้ม.44 ทั้งที่ยังไม่รู้จะมีใครมาหรือไม่ ผมคิดว่าโจทย์ใหญ่ตอนนี้คือเราจะแก้ปัญหาธุรกิจการศึกษา การไร้คุณภาพ ไร้ธรรมาภิบาล ของอุดมศึกษาไทยได้อย่างไร ดังนั้นแทนที่จะใช้ม.44 เปิดช่องเอื้อให้ต่างชาติเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัย เราควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยของไทยที่แต่ละแห่งล้วนมีภารกิจในการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันตามพ.ร.บ.จัดตั้งของแต่ละแห่งให้เข้มแข็ง และสามารถปฏิบัติตามภารกิจและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของตัวเองมากกว่า จึงจะเป็นการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ตั้งข้อเสังเกต

          ขณะที่ "รศดร.ประเสริฐ   ปิ่นปฐมรัฐอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) ออกตัวหนุนคสช.ใช้ม.44 เปิดให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในไทยได้ เป็นโอกาสดีให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หากปรับตัวไม่ได้อาจจะส่งผลกระทบให้จำนวน นิสิต นักศึกษา จำนวนลดลง ที่สำคัญมหาวิทยาลัยไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ เพราะรัฐไม่มีอัตราบุคลากรเพิ่มและไม่มีงบประมาณเพิ่มไปมากกว่านี้ หลักสูตรที่เปิดสอนต้องรองรับอาชีพในอนาคต

ต้าน-หนุน ม.44ให้ต่างชาติ"เปิดมหาวิทยาลัย"

          "ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของการยกระดับการพัฒนากำลังคนในชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการศึกษาระดับมาตรฐานโลก เริ่มมาแล้ว 4 ปี ผมเคยไปดูงานที่สิงคโปร์ พบว่าเขาเชิญมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีิมาเปิดมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ แต่ใช่ชื่อว่า Singapore University of Technology & Design ปรากฏว่านักศึกษาที่มาเรียนร้อยละ 60 เป็นชาวสิงคโปร์ และอีกร้อยละ 40 เป็นชาวต่างเปิดสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  และที่ประเทศ่มาเลเซีย UNIVERSITY TECHNOLOGY MALASIA ก็เชิญมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง 3 แห่งในประเทศอังกฤษมาเปิดสอนระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่มาเลเซีย"

          รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า มทร.ธัญบุรี ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับ HOKKAIDO INFORMATION UNIVERSITY ญี่ปุ่น เปิดหลักสูตร2ปริญญาหรือดับเบิ้ลดีกรี ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านบริหารธุรกิจ ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของไทย ก็เปิดหลักสูตรร่วมกับต่างชาติ อาทิ  มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)ฯลฯ 

          “มหาวิทยาลัยต่างชาติที่มาอยู่กับเรา ต้องเปิดหลักสูตรเฉพาะทาง ไม่เปิดทุกสาขา ไม่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนของไทย บางหลักสูตรที่ดีอยู่แล้ว เช่น ด้านสังคม ด้านบริหาร ก็ไม่ควรเปิดซ้ำซ้อน เพราะจะเป็นการแย่งเด็ก"รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

          ปิดท้ายด้วย"ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์" อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ และ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ฟันธงว่า วงการอุดมศึกษาไทยหวาดกลัวแน่นอน เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติต้องบี้มหาวิทยาลัยลัยไทยจนไม่มีที่ยืน อีก 10 ปีมหาวิทยาลัยไทย 3 ใน 4 ไปไม่รอด อาจจะต้องปิดตัว เพราะตลาดอุดมศึกษาไทยปัจจุบันมีขนาดเล็กมาก อีกทั้งไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลง จากเมื่อ 30 ปีเด็กเกิดเกิน 1,000,000 คน แต่ปัจจุบันเด็กเกิดปีละประมาณ 600,000-700,000 คน

          “แต่ละปีมหาวิทยาลัยไทย มีที่ว่างรับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 150,000 แต่มีเด็กเข้าเรียนเพียง 80,000 คน การแข่งขับเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทยต่ำมาก หากมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาจะแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียนได้หรือไม่ และจะมา่แย่งเด็กกับมหาวิทยาลัยไทยหรือไม่ คำถามคือไทยจะได้อะไร อนาคตอีก 10 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)จะอยู่ได้หรือไม่ หากไม่ปรับตัวอาจจะไม่มีเด็กมาเรียนจนถึงขั้นต้องยุบหรือปิดตัวเอง”

ต้าน-หนุน ม.44ให้ต่างชาติ"เปิดมหาวิทยาลัย"

           ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยที่คสช.จะทำอย่างนี้  แต่เน้นเฉพาะสาขา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หวังกดดันและกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว  เมื่อมีคู่แข่งตัวจริงมาเปรียบเทียบ เพื่อก้าวเป็นฮับทางการศึกษา เหมือน นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์

          แม้“ลุงตู่”ไม่งัด ม.44 เปิดช่องให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่สภาวะมหาวิทยาลัยไทย ณ ปี 2560 อาการค่อนข้างโคม่า หาก ไม่ขยับ ปรับตัว ระดับ “ยกเครื่อง” อาจจะสาย...เกินเยียวยา!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ