คอลัมนิสต์

ดักฟังโทรศัพท์-แอบส่องไลน์ "จับโจร" หรือล้วงตับ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม


               ฟังแล้วต้องสะดุ้ง..! ทุกครั้ง เมื่อรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงฯ ทบวงฯ กรมฯ ทหาร หรือตำรวจ พยายามที่จะผลักดันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ทั้งในทางตรง หรือทางลับ โดยเฉพาะกรณี ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาชี้แจงแถลงไข ว่าจากนี้ไปสามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ และเข้าถึงแอปพลิเคชันการแชทข้อความของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายทางคดีได้แล้ว

               สิ่งที่ พ.ต.อ.กฤษณะ ออกมาระบุเช่นนั้น ถือเป็นการชี้แจงที่ไม่ผิด เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจการเข้าถึงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ และเข้าถึงแอปพลิเคชันการแชทข้อความของผู้ต้องสงสัย โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเข้าข่ายคดี 4 กลุ่มเท่านั้น ประกอบด้วย คดีก่อการร้าย คดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคง และคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน ที่มีอายุความตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

               อย่างไรก็ตาม การจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนด้วยเช่นกัน เริ่มจากเมื่อเจ้าหน้าที่ หรืองานด้านการข่าวทราบว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยมีการปรึกษาหารือกัน หรือพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์ หรือเทคโนโลยีต่างๆ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะพนักงานสอบสวน ก็จะต้องนำหลักฐานทั้งหมด ทำเรื่องเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหลักฐาน และประเภทคดี จนกระทั่งเมื่อเชื่อแน่แล้ว จึงเสนอเรื่องต่อไปยังศาล เพื่อให้พิเคราะห์ถึงเหตุจำเป็น ทั้งนี้ เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วและเห็นว่า เป็นการประโยชน์ต่อรูปคดี ก็จะอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการ เพื่อเข้าถึงข้อมูลการสนทนาทางโทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชัน ที่มีความสำคัญในการดำเนินคดี ซึ่งในส่วนนี้จะมีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า จะทำการดักฟังในลักษณะใด และจะมีระยะเวลาดำเนินการนานเพียงใด ซึ่งเมื่อสิ้นสุดกรอบเวลาที่ทางศาลได้กำหนดไว้ การดักฟังหรือแอบส่องข้อความทางแอปพลิเคชัน ก็จะถือว่าเป็นอันสิ้นสุดลง

               "ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้ดักฟังประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะผู้ที่จะขอให้ศาลอนุมัติ จะต้องเป็นระดับผู้บังคับการขึ้นไป มีระยะเวลาการดำเนินการชัดเจน ฉะนั้น พี่น้องประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้" รอง โฆษก ตร. ระบุ

               เป็นที่ทราบกันดีว่า การพยายามดักฟังโทรศัพท์จากหน่วยงานของรัฐฯ มีความพยายามกันมานานแสนนานแล้ว ไม่ว่าจะถูกนำมาใช้ในทางคดีความ หรือถูกนำไปใช้เพื่อล้วงความลับของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน อดีตรัฐมนตรีรายหนึ่ง ถึงกับสั่งการแบบ "ลับลับ" ให้นำรถโมบายที่สามารถจับคลื่นสัญญาณทางศัพท์เวลาพูดคุย ออกไปปักหลักจับความเคลื่อนไหว และดังฟังการพูดคุยของเหล่าบิ๊กทหาร ซึ่งสถานะการณ์ "การเมือง" ในขณะนั้น ถือว่าเปราะบางมาก จนสุดท้ายฝ่ายทหารได้ล่วงรู้ และได้เข้าทำการยึดรถโมบายคันดังกล่าวไป กระทั่งเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในเวลาต่อมา

               ฉะนั้น การดักฟังโทรศัพท์ หรือการแอบส่องข้อมูลของประชาชน ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ พยายามออกมาบอกว่า ใช้เพื่อการปฏิบัติงานในแง่บวก คือ ใช้สำหรับจับโจรผู้ร้าย ปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย จึงเหมือนดาบสองคม เพราะหากเป็นความตั้งใจจริงที่จะใช้เชือดเฉือนกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาอาชญากรรมในประเทศไทย..ก็จะหมดสิ้นไป เหมือนไฟมอดบนกองฟืน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ