คอลัมนิสต์

ปัญหาใหญ่คอร์รัปชั่น3ปีรัฐบาล“ประยุทธ์”ยังรบไม่เต็มร้อย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล

     การคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย  และกลายเป็นเหตุผลหลักของการรัฐประหาร ซึ่งการเข้าสู่อำนาจการปกครองของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อาศัยเหตุผลนี้เช่นเดียวกัน 

     แต่ดูเหมือนว่าเวลาล่วงเลยไปเกือบสามปี ปัญหาเหล่านี้ยังไม่คลี่คลาย และมีคำถามทบกลับไปว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นในขณะนี้เป็นเช่นไร มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จึงได้จัดเวทีเสวนา ทีดีอาร์ไอ-ACT “ติดตามนโยบาย ต่อต้านคอร์รัปชัน ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์”  

     ก่อนเริ่มการเสวนา ณัชพล ประดิษฐเพชรา นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง สถานการณ์และทิศทางคอร์รัปชันไทย ว่า ในสายตาคนไทยมองว่า สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรงน้อยลงแต่ยังไม่ได้ดีมาก มีความตื่นตัวต่อปัญหาเพิ่มมากขึ้น ความทนทานต่อการคอร์รัปชั่นลดลงมาก แต่ประชาชนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในกลไกต่อต้านคอร์รัปชั่นต่างๆ มากนัก

     ส่วนในสายตาต่างประเทศ มองว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นยังไม่ถือว่าดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลง ตั้งแต่รัฐบาลมาคะแนนที่ตกลงมาคือคะแนนที่เกี่ยวกับการให้น้ำหนักเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าไม่มีเรื่องประชาธิปไตย สถานการณ์คอร์รัปชั่นไม่ได้เลวลงหรือดีขึ้น  

     ภายหลังนำเสนอผลงานวิจัย จึงเริ่มการเสวนาโดยมีวิทยากรประกอบด้วย  ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดร.กิตติเดช ฉันทังกูล สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวี และคอลัมนิสต์ข่าวสด ดำเนินรายการโดย ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

     ดร.มานะ นิมิตรมงคล กล่าวว่า การติดตามนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประการที่ 1 คือ การให้ความสำคัญจัดซื้อจัดจ้างอย่างชัดเจน เช่น การใช้ข้อตกลงคุณธรรม การโยกย้ายข้าราชการนักการเมือง นักการเมืองท้องถิ่น และสิ่งที่นายกฯ ทำมาในช่วง 3 ปี คือการผลักดันให้มีการเปิดเผยงบประมาณต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ และที่สำคัญมีมาตรการบังคับให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องเปิดเผย

     แต่ยังมีข้อกังขาเกิดขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดเรื่องเกี่ยวข้องกับคนใกล้ตัวของนายกฯ เช่น อุทยานราชภักดิ์ การไปดูงานฮาวายของรองนายกฯ การบรรจุเครือญาติเข้ารับราชการ หรือการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ อย่างล่าสุด การไม่ให้ข้อมูลและพยายามปิดเป็นความลับในการสั่งซื้อเรือดำน้ำ จึงถูกวิจารณ์ว่าเปิดเผยทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องคนใกล้ตัว ทั้งถูกมองว่าเป็นระบบการทำงานแบบพวกพ้องและอำนาจนิยม

     ประการที่ 2 การมีส่วนร่วม ถือว่ารัฐบาลนี้รับฟังเสียงจากองค์กรต่างๆ อยู่บ้าง แต่ไม่ทั่วถึง เป็นเพราะว่าเสียงองค์กรเหล่านั้นมีพลังไม่มากพอ แต่ภาพที่ได้เห็นมีนักวิชาการ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมทำงานกับภาครัฐตอนที่มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แต่พอเปลี่ยนมาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กลับไม่มี ซึ่งเป็นการจำกัดกลุ่มคน เป็นประเด็นให้พูดถึงเรื่องพวกพ้อง ส่วนกลุ่มประชารัฐ ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีภาคธุรกิจเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่มีคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายแฝงอยู่ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ทำงานได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง   

     ส่วนของกฎหมายและการบังคับใช้ พบว่าปัญหาหลักของรัฐบาลนี้คือ กลไกของราชการยังไม่ตอบสนองนโยบายที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่ผ่านมา 2 ปี ยังไม่มีการพัฒนาการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ยังไม่รู้จักกฎหมายฉบับนี้ 

     ประการที่ 3 การแก้ปัญหาเชิงระบบ การปฏิรูปที่ประชาชนอยากเห็นทั้งการปฏิรูปตำรวจ การศึกษา กระบวนการยุติธรรม แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังมองไม่เห็น แต่ก็มีกฎหมายออกมาบ้างแล้ว คือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง โดยองค์กรระหว่างประเทศยอมรับว่าเป็นการออกกฎหมายอย่างฉลาด โดยรวมในการแก้กฎหมายยังเหลืออีกกว่า 22 ฉบับ ที่ต้องมีการปฏิรูปหรือออกใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 63 รัฐต้องการสนับสนุนส่งเสริมประชาชนในการรวมตัวต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงได้รับการปกป้องตามมาตรา 41 และมาตรา 51 

     ประการที่ 4 เรื่องการรณรงค์การสื่อสาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกจำกัดอย่างมาก แต่โชคดีที่กลุ่มนักวิชาการและภาคประชาสังคมผลักดันในเรื่องนี้ จากความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น จึงได้เห็นความตื่นตัวของข้าราชการจำนวนมากในหลายกระทรวง รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น ภาคประชาชนอย่างชัดเจน และคำชมนายกฯ จากโพลล์ต่างๆ ต่างก็เชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น แม้จะเกิดภาพการไม่จัดการคนใกล้ตัวก็ตาม และยังมองมองว่ารัฐบาลขับเคลื่อนตามกระแสสังคม หรือโซเชียลมีเดีย 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทำไปหลายเรื่องแต่ยังไม่ได้ผลเต็มร้อยและขาดความต่อเนื่อง

     ดร.กิตติเดช ฉันทังกูล กล่าวว่า ข้อตกลงคุณธรรม ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพียงการเซ็นสัญญา แต่จริงๆ สัญญาคุณธรรมนี้มีการระบุว่า หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแก่เอกชนหรือผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้ามาดูในโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์อิสระไม่ได้เข้าแทรกแซง แต่เป็นกระบวนการเข้าไปนั่งดู นั่งฟัง และหากสงสัยจะถามเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องชี้แจงรายละเอียดได้ หากไม่ทำจะรายงานไปยังหน่วยงานกลางของรัฐ ซึ่งคือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หรือคณะรัฐมนตรี และจะมีผลโดยตรงต่อหัวหน้าที่ดูแลโครงการ มีความรวดเร็วกว่าคำสั่งทางการปกครองที่จะมาสั่งสอบสวน ดังนั้น กระบวนการนี้จึงมีประสิทธิภาพมากกว่า

     ส่วนการวัดผลเบื้องต้น คืองบประมาณที่สามารถประหยัดได้จากโครงการต่างๆ  ทั้งนี้ การจะประหยัดงบประมาณไม่ได้หมายความว่าทุกโครงการจะไม่มีการทุจริต แต่การส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐจะดีขึ้นและโปร่งใสขึ้น ส่งผลต่อการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ประมูลเข้ามามากขึ้น เกิดการแข่งขันด้านราคา การเสนอสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น หน่วยงานรัฐก็ได้ซื้อของในราคาที่ถูกลงแต่ได้ของที่มีคุณภาพ จากเดิมที่มักไปซื้อของแพงแต่มีคุณภาพไม่ดี เป็นกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่การเข้ามาจับผิด แต่เข้ามาช่วยให้การทำงานโปร่งใสมากขึ้น หากไม่มีคนให้ก็ไม่มีคนรับ และจะไม่เกิดการคอร์รัปชั่น กล่าวได้ว่าเป็นการช่วยสกัดการซื้อความได้เปรียบทางการแข่งขัน การซื้อความสะดวกรวดเร็ว และการซื้อความผิด

     ดร.กิตตเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกว่า 833 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผ่านการรับรอง 227 บริษัท อย่างไรก็ตาม ขอให้ 5 คะแนน จาก 10 คะแนน การตรวจสอบมีหลายมิติ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลพิเศษ สิ่งที่เอื้อคือการออกกฎหมาย ออกระเบียบ ในเรื่องการป้องกันทุจริต จัดซื้อจัดจ้าง ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลรัฐประหาร เพราะหากเป็นรัฐบาลมาจากเลือกตั้งจะไม่ตอบสนองเร็วแบบนี้  

     “ส่วนเรื่องที่จะเอื้อประโยชน์แก่คนรอบข้าง ญาติ พี่น้อง สังคมไทย เป็นระบบอุปถัมภ์ ผมว่ารัฐบาลเผด็จการอาจจะไม่สามารถตรวจได้ แต่ได้สร้างระบบขึ้นมาใหม่”

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ