คอลัมนิสต์

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ"ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ"ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก"

             ยืดเยื้อมานานในที่สุดก็ถูกนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 22/2560 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่... พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่... พ.ศ. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน เอาไว้ในเรื่องด่วนลำดับที่ 5 และ 6 โดยประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคือการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพิ่มเติมประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company:NOC) เอาไว้ในบทเฉพาะกาล มาตราที่ 10/1 โดยระบุเนื้อหาให้มีการจัดตั้ง NOC เมื่อมีความพร้อม และให้พิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้ง

              เนื้อหามาตรา 10/1 ตามบทเฉพาะกาลว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้นในวาระแรกที่ยังไม่มีบรรษัท ให้กรมธนารักษ์ทำหน้าที่บรรษัทและให้คณะกรรมการบริหารกิจการปิโตรเลียมทำหน้าที่คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารกิจการปิโตรเลียมทำหน้าที่คณะกรรมการบรรษัทและกรรมการบริหารบรรษัทเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการจัดตั้งบรรษัท แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

            ส่วนคณะกรรมการบริหารกิจการปิโตรเลียมประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผู้แทนกรมพลังงานทหาร ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิศวกร ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ผู้แทนภาคประชาสังคมต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากคสช.จำนวน 5 คน โดยให้อธิบดีกรมธนารักษ์เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการบรรษัท ตามพ.ร.บ.นี้จนกว่าจะมีการจัดตั้งบรรษัทโดยสมบูรณ์       

            แต่ประเด็นสำคัญที่สังคมเฝ้าจับตาในวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของสนช.จะออกมาในแนวทางไหน กล่าวคือเห็นชอบในหลักการเดิมคือตัดบทเฉพาะกาลออกไปที่ให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือว่าจะยึดหลักการเดิมที่เป็นผลมาจากการลงมติไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ มติ 152 ต่อ 5 เสียง ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม งดออกเสียง 16 เสียง และมติ 154 ต่อ 2 เสียงในร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม งดออกเสียง 17 เสียง

           ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนการณ์ไว้รองรับทุกกรณีไม่ว่าผลจะออกมาในรูปใด หากเห็นชอบในหลักการเดิม สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปก็คือการเตรียมร่างกฎหมายลูก โดยได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งจัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายลูก 5 ฉบับรองรับไว้ และเตรียมออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมการประมูลแหล่งสัมปทาน 2 แหล่ง ที่จะหมดอายุลงในปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ไปพร้อมกับการรอคอยกฎหมายแม่ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น หากการดำเนินการออกประกาศเปิดประมูลมีความล่าช้า อาจจะทำให้กรอบการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่จะเสร็จสินในเดือนกันยายนนี้ต้องล่าช้าออกไปด้วย

             ขณะที่ความคืบหน้าของกฎหมายลูก วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ได้เร่งจัดทำกฎหมายลูก 5 ฉบับให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 นี้ ซึ่งขณะนี้กฎหมายลูกบางฉบับได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ว่าจะคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมใดให้เหมาะสมกับการเปิดประมูลในรูปแบบใด ทั้งรูปแบบการให้สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) ซึ่งจะดูทั้งปริมาณสำรองและรูปแบบที่จะจูงใจให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขัน ทั้งการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง รวมทั้งพื้นที่ซึ่งจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่อีก 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเลและพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยและกัมพูชา 

             แต่หากสนช.ได้เห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดที่มีพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานให้มีการจัดตั้งบรรษัท การดำเนินการจะต้องมีการปฏิรูปใหม่เกือบทั้งหมด  โดยดึงเอาอำนาจการกำกับดูและบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมกลับมาเป็นของรัฐทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีแทนระบบสัมปทาน โดยบรรษัทจะเข้าไปจัดการทุกอย่างแทนรัฐในพื้นที่สัมปทานทั้งหมด ทั้งการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 รวมทั้งพื้นที่ซึ่งจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่อีก 29 แปลง ทั้งบนบกและในทะเล ตลอดจนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยและกัมพูชา ยกเว้นของเก่าที่ดำเนินการอยู่แล้ว

             พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือว่าของเก่าที่มีสัญญากันแล้ว ก็ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและปตท.สผ.จัดการไป ส่วนของใหม่ที่เกิดขึ้นและจะต้องมีการทำสัญญากันนั้น ทางบรรษัทพลังงานแห่งชาติจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ  แต่ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในวงกว้าง ณ วันนี้ ก็คือการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้าน เนื่องจากพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก

             มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกรณี เวเนซุเอลา ในอเมริกาใต้ อดีตถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตน้ำมันได้มากเท่ากับหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลาง  กระทั่งประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เข้าสู่อำนาจและตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้ามาบริหารจัดการ โดยยึดกิจการน้ำมันจากภาคเอกชนมาดูแลทั้งหมดและนำเงินงบประมาณไปอุดหนุนเพื่อให้น้ำมันราคาถูกสุดท้ายก็ไปไม่รอด รัฐต้องประสบปัญหาการขาดทุน จนล้มละลายกลายเป็นประเทศยากจนไปในที่สุด หรือกรณีของเม็กซิโกเช่นกัน เคยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก่อนที่รัฐเข้ายึดกิจการน้ำมันมาบริหารเอง สุดท้ายก็ไปไม่รอดเช่นกัน จำต้องเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาดำเนินการอีกครั้ง

             แต่ไม่ว่าหวยจะออกร่างไหน บทสรุปสุดท้ายผลประโยชน์ที่ได้รับขอให้ตกกับประเทศชาติและประชาชนเท่านั้นพอ

จดหมายเปิดผนึกหม่อยอุ๋ยถึงสนช.

           เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ แถลงข่าวพร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ก่อนที่สนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่มีการบรรจุเรื่องของการตั้ง NOC ไว้ในบทเฉพาะกาล ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เมื่อพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ซึ่งมีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ

         ทั้งนี้ตอนต้นปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปีจำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอในการสำรวจโดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด แต่ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้านไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน เพราะเชื่อว่าระบบนี้จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกฯ เปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนไว้

        จากนั้นได้เข้าพบนายกฯ เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้สำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกฯ ก็คือยืนยันที่จะให้สำรวจและมอบให้ตนแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อไม่ให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทาน ตนจึงได้แก้ไขให้เปิดกว้างโดยให้รวมถึงระบบ PSC และระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย และเสนอเข้าครม.วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสนช.ต่อไป

        ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือทันทีที่ครม.มีมติดังกล่าวนายกฯ ได้บอกตนว่าก่อนนำเสนอสนช.ขอให้ตนชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของสนช.ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่าไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธีแต่เห็นว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ตนประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติและนายกฯ ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมแต่ได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล

         แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสนช.นั่นคือคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่างและมีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังครม.อย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และครม.ชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนโดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้เพิ่มมาตราดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำและการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นก็ยังไม่เคยทำไว้

         “ครม.ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในครม.ด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวและว่าข้อความในร่างจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน...” ซึ่งกังวลว่ากรมพลังงานทหารอาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ทั้งหมดได้

            “เวลาทำอะไรไม่ชอบมาพากลใครจะแก้ปัญหาได้ ผมเป็นห่วงว่า การที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศนั้น หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นเกรงว่าจะไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่นที่ประเทศเวเนซุเอลา ที่ประสบปัญหาจากการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นอกจากนี้ ปตท.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็เปรียบเสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอยู่แล้ว และดำเนินกิจการได้ดี หากมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจได้”

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า ขอร้องไปยังสนช.ทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มีนาคม อยากให้ลงมติรับร่างกฎหมายฉบับนี้โดยตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป เพราะเชื่อว่าการศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการเพราะหน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ และแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ จึงเชื่อว่าต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน

          “เพื่อนของผมบอกว่าถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จเพราะในสนช.มีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ