คอลัมนิสต์

“ทางเลือก”บนทางรอด คู่มือหนีตายไฟไหม้เมืองกรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“การทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้องเอาชีวิตของประชาชนให้รอดปลอดภัยก่อน”

     ท่ามกลางอุบัติเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่ละครั้ง สร้างความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนไม่น้อย เพราะเหตุไฟไหม้เป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถกำหนดเวลาและสถานการณ์ทั้งหมด แม้ในหลายกรณีจะคาดการณ์เพื่อวางแผนป้องกันได้ก็ตาม  แน่นอนว่าผู้ใช้อาคารอย่างเราท่านทั้งหลายย่อมอยู่ในสภาวะ “เสี่ยงตาย” อย่างปฏิเสธไม่ได้

      เหตุการณ์ไฟไหม้ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 มีนาคม โดยที่เกิดเหตุเป็นอาคาร 10 ชั้น โชคดีที่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสถานีห้วยขวาง สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

และกับล่าสุดเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสูง 24 ชั้นกลางกรุงลอนดอน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ย่อมทำให้หลายคนหวาดหวั่น ว่า หากเกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

“ทางเลือก”บนทางรอด คู่มือหนีตายไฟไหม้เมืองกรุง

“ทางเลือก”บนทางรอด คู่มือหนีตายไฟไหม้เมืองกรุง

เรื่องนี้ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" เคยรวบรวมเอาไว้ถึงระบบการป้องกันภัย และระบบกู้ภัยบนตึกสูงใน กทม.    

 จากการตรวจสอบพบว่าแผนป้องกันและกู้เหตุไฟไหม้ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ถูกวางไว้ ณ สถานีดับเพลิงทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 35 แห่ง และสถานีดับเพลิงย่อย 15 แห่ง ซึ่งแต่ละสถานีจะมีรถดับเพลิงไว้ใช้งาน 1-2 คัน สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที แต่ที่ผ่านมาหากเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ปัญหาจราจรกลายเป็น “อุปสรรค” สำคัญในการเดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุแทบทุกครั้ง โดยในต่างประเทศจะกำหนดให้รถดับเพลิงเข้าในพื้นที่เกิดเหตุภายใน 5 นาที แต่สำหรับประเทศไทยแตกต่างเรื่องกายภาพของเมือง จึงได้ “ขยายเวลา” เข้าถึงที่เหตุเจ้าภายใน 8-10 นาที

“ทางเลือก”บนทางรอด คู่มือหนีตายไฟไหม้เมืองกรุง

     พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า การเดินทางเข้าพื้นที่ไฟไหม้ของนักดับเพลิงกทม. ยังอยู่ในเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ทุกปี เมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะปฏิบัติตามสิ่งที่ฝึกซ้อมมาในการเผชิญเหตุไฟไหม้ โดยทุกสถานีดับเพลิงจะมีข้อมูลของสถานที่ของตัวเองว่ามีอาคารกี่แห่ง มีลักษณะใด มีผังการอพยพคนอย่างไร โดยเมื่อถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่แต่ละนายจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ตั้งแต่ประเมินสถานการณ์ไฟไหม้ภายใน 1 นาที อีกคนจะทำหน้าที่เปิดน้ำ อีกคนลากสายน้ำ โดยทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าต้องเอาชีวิตของประชาชนให้รอดปลอดภัยก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบจากผังของอาคารนั้นเพื่อเข้าไปช่วยคนที่ติดอยู่ภายในให้เร็วที่สุด หากพบว่ามีคนติดอยู่ในอาคารสูงก็มีรถกระเช้าเตรียมไว้ช่วยเหลือในความสูง 5 ชั้น 10 ชั้น และสูงสุดที่ 30 ชั้น

     พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์  ระบุว่า สำหรับอาคารที่ก่อสร้างใหม่จะถูกกำหนดด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ซึ่งมีเนื้อหาที่กำหนดมาตรฐานของอาคารในการป้องกันไฟไหม้ ตั้งแต่การติดตั้งสปริงเกอร์ ลิฟต์ใช้หนีไฟ ทางหนีไฟ ระบบช่วยระบายอากาศ เป็นต้น แต่เหตุไฟไหม้ที่ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ซึ่งถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้าเกี่ยวกับด้านไอที หรืออิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของอาคารก็ต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเอง แต่ภาครัฐจะมีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายคอยตรวจสอบมาตรฐานของระบบป้องกันไฟไหม้ ประกอบด้วย 1.กรมโยธาธิการและผังเมือง 2.สำนักการโยธาและโยธาเขต และ 3.เอกชน ซึ่งเป็นวิศวกรที่ผ่านการสอบและรับรองจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

     “ตึกสูงในกรุงเทพฯ มีกว่า 1 หมื่นแห่ง ทำให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้ครอบคลุมอาคารสูงให้มากที่สุด แต่เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้แล้วอยากให้ประชาชนตั้งสติ พยายามหาประตูทางออกสู่ภายนอกให้เร็วที่สุด เช่นไปพื้นที่อาคารจอดรถพยายามเลี่ยงการใช้บันไดเลื่อน ลิฟต์ เพราะไม่รู้ว่าจะมีความปลอดภัยมากแค่ไหน ต้องสังเกตทางเข้าออกให้ดี ก้มต่ำให้มากที่สุด เพราะยังมีออกซิเจนในพื้นที่ต่ำ แต่ทั้งหมดแล้วหากอาคารใดมีความปลอดภัยสูง การลุกลามของไฟจะมีไม่มากไปด้วย”

คำแนะนำการเอาตัวรอดจากไฟไหม้อาคาร

     1.ก่อนเข้าไปพักอาศัย หรือจองห้องพักโรงแรม ให้สอบถามว่ามีเครื่องป้องกันควันไฟและอุปกรณ์น้ำฉีดอัตโนมัติบนเพดานหรือไม่ เมื่อเข้าอยู่อาศัยให้อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีเพลิงไหม้

     2.หาทางออกฉุกเฉินสองทางที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางหนีฉุกเฉิน ปิดล็อกตายหรือ มีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ให้นับจำนวนประตูห้อง โดยเริ่มจากห้องที่เราพักอาศัยสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้งสองทาง

     3.เรียนรู้และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู และเปิดประตูได้ภายในความมืด วางกุญแจห้องพัก และไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอน

     4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีลงจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

    5.หากได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด

     6.ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที เมื่อหนีออกมาแล้วให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเพลิงไหม้

     7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพักของเรา ให้หนีออกจากห้อง ก่อนอื่นให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

     8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู ในห้องของเราอาจจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง แจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใด และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียกๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

     9.คลานให้ต่ำ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง หากต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ ให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน ให้นำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้

    10.อย่าใช้ลิฟต์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ลิฟต์อาจหยุดทำงานที่ชั้นเพลิงไหม้ ให้ใช้บันใดภายในอาคาร

(ที่มา ** สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม.)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ