คอลัมนิสต์

เปิดใจ“จอน-สุภิญญา” ย้อนเวลาหาอดีตปีนรั้วสภา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

9 ปีที่ผ่านมา พวกเขาทำอะไรลงไป...9 ปีให้หลังเขายังคิดอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า?

     เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษารอการกำหนดโทษจำเลยทั้ง 10 ราย จากกรณีบุกรุกอาคารรัฐสภา เมื่อปี 2550  โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2550 จำเลยทั้งสิบได้เป็นแกนนำพาผู้ชุมนุมปีนรั้วอาคารรัฐสภา และมีผู้ชุมนุมบางส่วนบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เนื่องจากในวันดังกล่าวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะมีการพิจารณากฎหมายจำนวน 11 ฉบับ ประกอบด้วย

     1.ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร 2.ร่างกฎหมายป่าชุมชน 3.ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4.ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยบูรพา 5.ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยทักษิณ 6.ร่างกฎหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7.ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ 8.ร่างกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 9.ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ 10.ร่างกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ และ 11.ร่างกฎหมายวัตถุอันตราย

     ตามข้อเท็จจริง วันที่ 23 ธันวาคม 2550 จะมีการเลือกตั้งและเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่ทางผู้ชุมนุมเห็นว่า สนช.ควรจะชะลอการออกกฎหมายและปล่อยให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณามากกว่า

     อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบมีความผิดจริง และการบุกรุกเข้าอาคารรัฐสภาเป็นการกระทำที่ตระเตรียมมาก่อน รวมถึงจำเลยก็ไม่ได้ห้ามปรามผู้ชุมนุม  พร้อมทั้งระบุว่า การคัดค้านการออกกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในอาคารรัฐสภา 

     ทั้งนี้ “จอน อึ๊งภากรณ์” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ กล่าวว่า วันนั้นที่ตัดสินใจทำ เราไม่คิดว่าเรื่องจะถูกส่งเข้าสู่ศาล เพราะการเคลื่อนไหวของเราเป็นแบบสันติวิธี ตอนนั้นคิดว่าอย่างมากก็แค่ถูกคุมตัวหรือถูกจับส่งสถานีตำรวจ และปล่อยตัวเท่านั้น แต่เมื่อถูกเข้าสู่การทำเป็นคดีความแล้ว มีสิ่งที่ห่วงคือ การถูกจับเข้าคุก ซึ่งผมไม่อยากติดคุก แต่คำพิพากษาที่ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี ถือว่าศาลได้ให้ความเห็นใจและช่วยเหลือพวกเรามากพอสมควร

     ขณะที่ “สุภิญญา กลางณรงค์” ที่วันนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งร่วมต่อสู้ ขณะที่วันนี้เธอกลายเป็นอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เล่าให้ฟังว่า

     “วันนั้นเราทำไปด้วยความรู้สึกร่วมกับประชาชนที่เขามาชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภา ตอนนั้นเราเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล สอนด้านสิทธิมนุษยชน ที่ไปเราเห็นด้วยกับจุดยืนที่ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคนั้นไม่ควรเร่งรัดการออกกฎหมาย ทำไปทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ ประชาชนเขาชุมนุมเรียกร้อง แต่ สนช.ก็ไม่สนใจ ตอนนั้นประชาชนมากันเยอะ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นหนึ่งในคนที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับตาและมองว่าเราเป็นแกนนำของผู้ชุมนุม เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ประชาชนต้องแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และได้ปีนรั้วเข้าไปยังรัฐสภา มีคนปีนเป็นร้อย แต่เรากลับเป็นหนึ่งในสิบคนที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับตา และโดนข้อหาบุกรุกเข้าไปยังสถานที่ราชการ ตอนนั้นยอมรับว่าเราไม่ทันคิด แต่ทำไปเพราะเรามีจุดยืนเดียวกันคือ การคัดค้านการออกกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชนของ สนช.”

จอน อึ๊งภากรณ์

     “คุ้มครับ เพราะถือเป็นกระบวนการต่อสู้ของประชาชนที่ห่วงในสิทธิ เสรีภาพ”

คุ้มไหมกับการกระทำ และผลพิพากษา

      คุ้มครับ เพราะถือเป็นกระบวนการต่อสู้ของประชาชนที่ห่วงในสิทธิ เสรีภาพ และไม่ต้องการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคนั้น ออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าผลของการกระทำจะไม่สามารถทำให้ สนช. เลิกการพิจารณาได้ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ และสิ่งที่พวกเราทำคือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช้ความรุนแรง และเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี เพราะในวันนั้นเราแค่พยายามทำให้ สนช.เห็นประเด็นข้อห่วงใยในสิ่งที่พวกเราเรียกร้อง จากเดิมที่พวกเราชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภาเป็นเวลาหลายวัน แต่ไม่ได้รับความสนใจจาก สนช.เลย และการเข้าไปยังพื้นที่รัฐสภาก็ไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรง เป็นเพียงการเข้าไปในพื้นที่และนั่งอยู่หน้าห้องประชุมเท่านั้น

บทเรียนที่ได้

     หากเทียบกับคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุค คสช. ที่ปฏิบัติต่อจำเลยในคดีมีความแย่กว่าของพวกเรามาก ดูได้จากการปฏิบัติต่อกรณี ไผ่ ดาวดิน หรือกลุ่มที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญช่วงของการลงประชามติ แม้จะเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่ทำได้ ดังนั้นพวกเรารู้สึกว่าโชคดีกว่าคนที่ถูกคดีการเมืองในยุคนี้มาก

     ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกรณีที่เกิดขึ้น การแสดงความเห็นของประชาชนคือการต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อนำไปสู่กระบวนการที่เป็นธรรมในยุคเผด็จการนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ และถือว่าเป็นพลังของประชาชนที่จะเกิดขึ้นเพื่อทวงความยุติธรรม

หากย้อนเวลาไปได้ จะทำอีกหรือไม่

     “ก็จะยังตัดสินใจแบบเดิม และคงจะทำอยู่ เพราะถือว่าการเคลื่อนไหวของพวกเรานั้นถือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่สามารถทำได้” 

     ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้น แม้การต่อสู้ต่อระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นไปด้วยความลำบาก แต่ผลที่สังคมได้รับคือ การตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง อย่างไรก็ตามผลการพิพากษาที่รอการกำหนดโทษ 2 ปีนั้น ผมคงกลับไปใช้วิธีเรียกร้องแบบเดิมไม่ได้อีก และด้วยความอายุที่มากแล้ว ดังนั้นคงไม่กลับไปปีนรั้วรัฐสภาอีก หากจะมีประเด็นที่ต้องแสดงความเห็นกับระบบที่ไม่เป็นธรรม คงต้องใช้กระบวนการอื่น อย่างน้อยยังมีสิทธิให้ความเห็น วิพากษ์ วิจารณ์การกระทำได้ และคำพิพากษาของศาลนั้นไม่มีบทที่จำกัดสิทธิของผมในการแสดงความเห็นต่อประเด็นต่างๆ”

สุภิญญา กลางณรงค์

“หากถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเราเสียใจหรือไม่ ก็ตอบเลยว่าไม่ เพราะถึงนาทีนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ”

เสียใจกับสิ่งที่ทำหรือไม่

หากถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเราเสียใจหรือไม่ ก็ตอบเลยว่าไม่ เพราะถึงนาทีนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ อาจเป็นเพราะวัยยังน้อยด้วย และเป็นเอ็นจีโอด้วย เมื่อเห็นประชาชนที่เสียสละออกมาชุมนุม เป็นนาทีที่ตัดสินใจแล้วว่าต้องทำ

     อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สิ่งที่ทำวันนั้น มาจนถึงวันนี้ ทำให้เราต้องสูญเสียตำแหน่งไปถึง 2 ครั้ง คือ หลังจากที่โดนจับและเข้าสู่กระบวนการคดี ส่งฟ้องเราก็ลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ พอมาถึงวันที่ศาลตัดสินเราก็ขอยุติบทบาทฐานะกรรมการ กสทช. แต่หลังจากนี้ยอมรับว่ามีความกังวลต่อการทำงานในอนาคต เพราะกรณีที่เกิดขึ้นถูกบันทึกไว้ในประวัติของเราแล้ว เมื่อไปสมัครงานหรือยื่นสมัครอะไรก็อาจทำให้ได้รับผลกระทบได้ แม้คำสั่งของศาลจะระบุให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 2 ปีก็ตาม หากในระยะเวลานั้นเราไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีกก็จะถือว่าพ้นโทษ

     หากถามว่าเสียใจไหม ใจหายไหม ก็ตอบว่า ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น อาจมีใจหายบ้าง แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาในการกระทำของเราถือว่าทำเพื่อประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้คนตระหนักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของตนเอง ซึ่งเรามีจุดยืนแบบนั้นมาตั้งแต่แรก 

     “หากย้อนเวลาไปก็จะยังตัดสินใจทำ เนื่องจากการกระทำเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ หลังจากที่ สนช. ไม่มีกลไกอื่นใดที่จะรับฟังความเห็นของประชาชน”

ประเมินว่าสังคมได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้าง

     เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะจากวันนั้น มาถึงวันนี้ สิทธิ เสรีภาพโดยรวมก็ไม่ได้ดีขึ้น บางสถานการณ์แย่ลงด้วยซ้ำ

จากสิ่งที่เกิดขึ้น เราได้บทเรียนอะไรกับตัวเองบ้าง

     ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยเชื่อว่าจะสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนที่เป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม ต้องคำนึงถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการใดๆ ก็ตาม เพราะหากขาดกลไกรับฟังความเห็น หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว เช่น การออกกฎหมาย จะทำให้สังคมเกิดความอึดอัด ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีกลไกที่ให้เขาไปมีส่วนร่วม จากนั้นอาจเกิดกรณีของการเคลื่อนไหว และเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจทำให้เกิดการกระทำที่ล้ำเส้นของกฎหมายได้ ดังนั้นหากจะยึดเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน ภาครัฐบาลควรนำไปพิจารณาและแก้ไขเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ