คอลัมนิสต์

ลุ้นดีเอสไอ ฟ้อง “พานทองแท้ - กาญจนาภา - มานพ” ฟอกเงิน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยคดีเงินกู้ "กรุงไทยฯ" ให้ "กฤษฎามหานคร" รอลุ้น “พานทองแท้ - กาญจนาภา - มานพ” โดนฟอกเงินหรือไม

ถือเป็นมหากาพย์อีกหนึ่งคดี สำหรับ “คดีปล่อยกู้กรุงไทยฯ” หรือที่มีชื่อเต็มๆว่า “การทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้บริษัทกฤษฎามหานคร”

 

หลายคนอาจสงสัยว่าคดีนี้จบไปแล้วใช่หรือไม่เนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยมีผู้ที่ต้องโทษจำคุกถึง 16 คน และในนั้นมีถึง 4 คนที่ต้องโทษถึง 18 ปี

โดยหนึ่งในผู้ที่ต้องโทษ 18 ปี คือ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฏ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (เสียชีวิตก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา) นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และ นายไพโรจน์ รัตนโสภา ประธานกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย

 

 ลุ้นดีเอสไอ ฟ้อง “พานทองแท้ - กาญจนาภา - มานพ” ฟอกเงิน?

 

ขณะที่  “ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานะจำเลยที่ 1 นั้น ยังอยู่ในสถานะหลบหนีคดี ศาลจึงให้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหนีคดี ไม่มารายงานตัวต่อศาล

 

ส่วนผู้ที่เหลือที่ถูจำคุกก็มีทั้งพนักงานของธนาคารกรุงไทย และ เจ้าของบริษัทกฤษฎามหานครอย่า นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ก็ถูกจำคุกคนละ 12 ปี

สำหรับพฤติการณ์ของคดีนี้ คือ ธนาคารกรุงไทยที่มีมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทในเครือกฤษฎามหายคร โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ ธปท.ที่ ธ.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อที่กำหนดให้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อ

 

ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า บริษัทในเครือของกฤษฎามหานคร อยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่มีรายได้ต่อเนื่องหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น ขาดทุนสะสมหลายปี ทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้

 

 ส่วนที่เสนอขอสินเชื่ออ้างทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 แต่ก็ไม่มีแผนงาน พิมพ์เขียว รายงานแสดงงบประมาณ แต่เพิ่งมาทำก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

  

ขณะที่ภายหลังมีการอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์ที่บริษัทเป็นหนี้กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีการเจรจาหนี้จนลดลงที่ต้องชำระ 4,500 ล้านบาท และจะนำเงิน 500 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน และอีก 1,000 กว่าล้านบาทนำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ 

 

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินที่มีการอ้างว่าจะทำโครงการนั้น มีชื่อบุคคลภายนอกถือครองกรรมสิทธิ์กว่า 100 ไร่ และภายหลังยังยื่นขอสินเชื่อเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ โดยขอเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่า ไม่ตั้งใจทำโครงการตามที่อ้างขอเสนอสินเชื่อ ซึ่งโครงการที่ขอสินเชื่อนั้นถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินสูง แต่กลับไม่มีรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการ

การปล่อยกู้ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเร่งด่วนเพื่อปล่อยกู้ให้ทัน เป็นการเปิดช่องให้นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินอื่นและซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้คืนเพื่อให้กลับมามีอำนาจการบริหารในอนาคต จากเดิมที่มีสถานะไม่มั่นคง

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครใน 3 กรณี 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท

 

2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท)

 

3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นประโยชน์ส่วนตนกับพวก

 

ทั้งนี้ในการพิจารณาของดีเอสไอในครั้งนี้มิใช่เป็นกรณีการทุจริตเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของศาล หากแต่เป็นการพิจารณาในส่วนของการนำเงินกู้ไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือที่เรียกกันว่าการฟอกเงินนั่นเอง

 

ซึ่งในจำนวนนี้มีการระบุว่าเงินที่ถูกกู้มานั้นมีการมีการโอนเงินผ่านมือเครือข่ายนักการเมือง ซึ่งปรากฏชื่อของ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหินเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร และ นายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี

 

ทั้งนี้ในส่วนของผู้บริหารกฤษฎามหานครนั้น “ดีเอสไอ” นั้นต้องดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินอยู่แล้ว แต่ในส่วนของนักการเมืองนั้น ขณะนี้มีรายงานข่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะอาจจะสั่งไม่ฟ้อง เพราะขณะนี้หลักฐานยังไม่โยงไปถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก คณะกรรมการและป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ที่เคยระบุว่ามีหลักฐานและพร้อมที่จะเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางดีเอสไอ

 

ซึ่งครั้งนี้ ดีเอสไอก็ยังรอการเข้ามาให้ข้อมูลของ ป.ป.ง. ว่ามีหลักฐานที่เชื่อมโยงหรือไม่ เพื่อที่จะใช้ ป.ป.ง. เป็นหลังพิง ซึ่งหาก ป.ป.ง. ไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยง หรือเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ พวกเขาก็อาจจะไม่ฟ้องโดยอ้างว่าไม่มีหลักฐาน

 

แต่หาก ป.ป.ง. มีหลักฐาน ดีเอสไอก็จะตัดสินอีกครั้ง ว่าจะฟ้องหรือไม่ เพราะหากถูกฟ้องกลับในภายหลังก็จะระบุว่าฟ้องตามหลักฐานที่ ป.ป.ง. ทำมา

 

ถ้า “ดีเอสไอ” สั่งไม่ฟ้อง “พานทองแท้ - กาญจนาภา - มานพ” เรื่องก็ใช่ว่าจะสิ้นสุดเสียทีเดียว เพราะยังมีอีกกลุ่มที่ ดีเอสไอ จะสั่งฟ้องคือกลุ่มผู้บริหารกฤษฎามหานคร ซึ่งในชั้นอัยการก็อาจจะพิจารณาสั่งฟ้องเพิ่มหรือไม่ก็ได้

 

เช่นเดียวกับที่ อัยการเคยสั่งไม่ฟ้องมาก่อนหน้านี้ แม้คณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากภาครัฐหรือ คตส. จะเคยเสนอชื่อคนเหล่านี้มาเป็นจำเลยร่วมสู่คดีอาญาเรื่องการทุจริตก็ตาม

 

ต้องลุ้นกัน เพราะอีกไม่นานคดีนี้ก็จะหมดอายุความลงในปี 2561

------

อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ