คอลัมนิสต์

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำไม?...สะดุด!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รถไฟฟ้าสาย(สีเขียว)ล่าสุด ทำไม?...มีเหตุต้องสะดุด : ธนัชพงศ์ คงสาย สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            เป็นอะไรที่คนกรุงเทพฯ เริ่มจะชินๆ ชาๆ กันแล้ว กับปัญหาความไม่ลงตัว ของโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสี ที่กว่าจะได้นั่งได้ใช้บริการกันแต่ละที มีอันให้ต้องร้องเพลงรอ รอแล้วรอเล่า แทบทุกคราวที่เมื่อถึงกำหนดเปิดหวูด ก็ต้องเลื่อนออกไป ด้วยข้ออ้าง “ขัดข้องทางเทคนิค”

            ยุ่งยากกันถึงขนาด นายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 คลี่ปมมาแล้ว อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)

            ล่าสุด มีข่าวปวดแปลบหัวใจคนกรุงเทพฯ และชานเมืองอีกแล้ว ตามที่แว่วมาว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว(ใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ไม่สามารถออกวิ่งให้บริการได้ตามกำหนด(จริงๆ ก็เลยมานานแล้ว และอาจจะต้องตั้งตาคอยกันเหงือกแห้งต่อไปอีก)

            เพราะติดปัญหาตรงที่ หน่วยงานที่จะรับโอนมาบริหารงานต่อคือกรุงเทพมหานคร(กทม.) ไม่มีเงินจ่ายให้หน่วยงานที่ลงทุนสร้างอย่างรฟม. สิริรวมทั้งค่าโครงสร้าง และค่าติดตั้งระบบประมาณที่ตัวเลขกลมๆ 21,000 ล้านบาท

            โครงการรถไฟฟ้าในกรุุงเทพฯ และชานเมือง มีเจ้าของโครงการหลายราย คือ กทม.(เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส) รฟม.(เจ้าของรถไฟฟ้าหลากหลายสี แต่ที่ให้บริการแล้วคือรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินบางซื่อ-หัวลำโพง และรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางซื่อ-บางใหญ่) รฟท.เป็นเจ้าของแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งที่กำลังสร้าง และสร้างเสร็จนานแล้วแต่ไม่มีขบวนรถมาวิ่ง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน เกาะแนวรถไฟสายใต้)

             รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำไม?...สะดุด!!

            โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 2 ช่วง คือส่วนเหนือ ขยายจากสถานีหมอชิตของบีทีเอส ไปยังสะพานใหม่ คูคต ส่วนใต้ ต่อขยายจากสถานีแบริ่ง ไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งโครงสร้างงานโยธา ทางวิ่ง ระบบราง สถานี อาคารจอดแล้วจร และศูนย์ควบคุมการเดินรถ ทั้งสองโครงการนี้เริ่มต้นงานโยธาโดยรฟม. แต่ก็เหมือนกับมาเติมเต็มเพื่อให้บริการคนเมืองและปริมณฑลได้ใช้บริการกันแบบเต็มระบบ ระยะทางยาวกว่า 63 กิโลเมตร

            แต่สุดท้าย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ กลับทำให้คนปากน้ำ คนกรุงเทพฯ ต้องรอเก้อ จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มทดลองวิ่งนำร่องจากสถานีแบริ่งไปสำโรงในวันที่ 1 มีนาคม 2560 มีอันต้องเลื่อนออกไป ย่อมกระทบถึงแผนวิ่งตลอดสายส่วนใต้อย่างไม่ต้องสงสัย

            เพราะเกิดข้อพิพาทระหว่างรฟม.กับกทม. เนื่องจาก กทม. “บ่จี๊” ไม่มีเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาจ่ายให้แก่รฟม. ขณะที่รฟม.เองก็ฮึ่มๆ ว่าจะเข้ามาดำเนินการเอง โดยอาจจะให้บีทีเอสเข้ามาเดินรถต่อเลย

            เรื่องนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ ว่าด้วยความไม่ลงตัวของรถไฟฟ้า

            ในการที่ประชุมสภากทม.สมัยสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2560 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ฝ่ายบริการกทม. จะเสนอญัตติ ขอความเห็นชอบในหลักการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พร้อมขอจัดสรรงบประมาณกับทางสภากทม. เพื่อให้สำนักการจราจรและขนส่ง นำเงินสะสมกทม. ไปใช้จ่ายในการรับโอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จากรฟม.โดยเร็ว

            เมื่อเปิด “ไทม์ไลน์” การดำเนินการรถไฟฟ้าเส้นนี้ มีจุดเริ่มต้นจากคณะผู้บริหารกทม.ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องการนำส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ มาให้กทม.บริหารจัดการเองจากเดิมที่เคยเป็นสิทธิของรฟม. เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการเชื่อมต่อจากเส้นทาง “สายสุขุมวิท” ที่มีอยู่เดิม (ตามสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี จะหมดสัญญากับกทม.ในปี 2572 ก็จะทำให้กทม.สามารถบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เต็มทั้งระบบ)

            กทม.จึงขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กระทั่งที่ประชุมคจร. มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้กทม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ภายหลังจากรฟม.ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกทม. กระทรวงคมนาคม และรฟม. ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2559 “อมร กิจเชวงกุล” รองผู้ว่าฯ กทม. ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น ได้เห็นชอบและมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจกทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถทั้ง 2 โครงการ รวมทั้งจัดการติดตั้งระบบเดินรถ

            สำหรับภาระทางการเงินของกทม. หากรับมอบ 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 60,815.72 ล้านบาท ซึ่งกทม.ต้องชำระคืนให้กระทรวงการคลังและค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 23,702 ล้านบาท โดยกทม.เป็นผู้ดำเนินการเองเมื่อจำแนกในเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ มีค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 21,085.47 ล้านบาท และค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท ส่วนเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีมูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 39,730.25 ล้านบาท มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท

            รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำไม?...สะดุด!!

            เมื่อสำรวจความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทั้งระบบ 13 สถานี ระยะทาง 13 กิโลเมตร “สุรเชษฐ์ เหล่าพลสุข” ผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธา ระบบราง รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ถือว่าเร็วกว่าแผนที่กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 4 มกราคม 2560 หลังจากเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รฟม.จะรับมอบงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ และจะเปิดให้บริการเดินรถจากแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามแผนที่กำหนดไว้ คือเดือนธันวาคม 2561

            สุรเชษฐ์บอกว่า รฟม.จะรอมติจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อมอบให้รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเอง จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556 แต่คาดว่าจะเดินรถตลอดเส้นทางในเดือนธันวาคม 2561

            “สุธน อาณากุล” รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากทม.วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ฝ่ายบริหารจะเสนอหลักการและเหตุผลเพื่อขออนุมัติงบประมาณนำใช้จ่ายให้ทางรฟม. เพื่อให้ทันในช่วงที่กำหนดไว้ไม่เกินเดือนมีนาคม ซึ่งกทม.อยากจะให้เปิดใช้บริการให้เร็วที่สุด 1 สถานีแรกช่วงแบริ่ง-สำโรง แต่หากยังไม่สามารถโอนได้ก็ต้องหารือกับรฟม.ว่าจะให้มีการเดินรถไปก่อนเพื่อประชาชนได้หรือไม่ แต่ทางรฟม.มีระเบียบว่าหากมีหน่วยงานอื่นมาใช้พื้นที่ของรฟม. ก็ต้องมีค่าเช่า ดังนั้นคงต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องการบริการประชาชน

            “ทั้งหมดก็ต้องรอการอนุมัติจากสภากทม. เพราะการใช้จ่ายเงินต้องผ่านสภากทม. แต่ยังเชื่อว่าจะโอนแล้วเสร็จเพื่อจะเดินรถให้ทันในเดือนมีนาคม”

            “นิรันดร์ ประดิษฐกุล” สมาชิกสภากทม. ในฐานะรองประธานสภากทม. ระบุว่า หากฝ่ายบริหารกทม.ต้องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ต้องนำข้อมูล หลักการและเหตุผลมาเสนอต่อที่ประชุมสภากทม.ให้รับทราบ เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก สภากทม.ก็ต้องรับทราบรายละเอียดของโครงการ ว่าจะต้องมีงบประมาณผูกพันเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมแผนการใช้งบประมาณของกทม.ในปีต่อไปได้ โดยไม่กระทบกับการใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ

            “ทางออกเรื่องนี้ต้องทำให้ถูกกฎหมายรองรับไว้ ฝ่ายบริหารจะต้องมาชี้แจงทั้งหมด ไม่ใช่แค่เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปิดเผยว่ากทม.ต้องมีงบประมาณผูกพันด้านใดอีกหรือไม่” รองประธานสภากทม. ระบุ

            ทั้งหมดคือ ที่มาและที่ไปของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว(ใต้) ที่กำลังประสบปัญหาการโอนงาน และปัญหาการเงินของกทม. ซึ่งคนกรุงเทพฯ และชานเมืองก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า การเจรจาหาทางออกจะจบลงอย่างไร 

            โดยเฉพาะคนปากน้ำที่ต้องใช้น้ำอดน้ำทนจากปัญหารถติดในระดับวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2555 ที่ “ช.การช่าง” ลงตอม่อแรกของโครงการ ด้วยความหวังที่ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายนี้สร้างเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจร และได้ใช้บริการรถไฟฟ้าเต็มระบบ นั่งยาวตั้งแต่ “สถานีเคหะสมุทรปราการ” ไปถึง “สถานีหมอชิต” และอนาคตอีก 2-3 ปีก็จะนั่งยาวต่อจากหมอชิตไปเยี่ยมญาติที่สะพานใหม่ คูคต ลำลูกกา ได้สบายใจเฉิบ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ