คอลัมนิสต์

บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(รายงาน)บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่ : จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            หลายคนคงยังจำเหตุการณ์ตึกโชว์รูมเก่าสูง 8 ชั้น ย่านสุขุมวิท 87 ถล่มระหว่างการรื้อถอน เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วได้ เหตุการณ์นั้นสร้างความอลม่านให้กับผู้คนแถวนั้น และส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 3 ราย

             บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

            ความจริงก่อนหน้านี้ทาง กทม. ได้สั่งระงับการรื้อถอนดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เนื่องจาก ได้รับการร้องเรียนว่า มีเศษหินกระเด็นไปถูกชาวบ้านใกล้เคียง ในระหว่างการรื้อถอน โดยให้ผู้ทำการรื้อถอนไปทำแผนการรื้อถอนมาใหม่ก่อนที่จะทำการรื้อถอนต่อไป แต่ก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเสียก่อน

            ใครที่สัญจรผ่านแถวนั้น จะยังเห็นซากปรักหักพังของอาคารหลังถล่มอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่มีเพิ่มเติมคือ โดยรอบอาคารมีการขึงผ้าใบ รวมถึงมีการตั้งนั่งร้านโดยรอบ ตามกำแพงรอบอาคาร มีติดคำสั่งของ กทม. ขอให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าเข้าใกล้พื้นที่ดังกล่าว พร้อมมีคำสั่งระงับการรื้อถอนชั่วคราว แต่ภายในพื้นที่ดังกล่าวนั้น กลับมีรถแบคโฮและคนงานอยู่ในพื้นที่ แลดูเหมือนว่ากำลังดำเนินการรื้อถอนอีกรอบ

            อย่างไรก็ตาม “ผู้ช่วยวิศวกร” ที่ดูแลงานในพื้นที่ดังกล่าว อธิบายว่า พวกเขาไม่ได้เข้ามารื้ถอนอาคารต่อ หากแต่วางระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยการวางเสาค้ำยัน ซึ่งถ้ามองเข้าไปดีๆจะเห็นเสาเหล็กจำนวนมาก ถูกต่อเติมเข้าไป รวมถึงตั้งนั่งร้านโดยรอบพื้นที่ เพื่อรอให้ทาง กทม. อนุมัติแผนรื้อถอนอาคารต่อไป ซึ่งผู้รับเหมารื้อถอนรายนี้เป็นคนละรายกับรายเดิม นอกจากนี้ยังเก็บเศษหินที่เกิดจากการถล่มครั้งก่อนและเสี่ยงจะตกลงมาสร้างอันตรายออกด้วย

             บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

กทม. แจงขั้นตอนการบรรเทาเบื้องต้น

            นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร กล่าวเหตุการณ์นี้ว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าผู้รับรื้อถอนรายก่อนได้ทำการรื้อถอนในส่วนรายละเอียดยิบย่อยควบคู่กับการวางระบบความปลอดภัยในระหว่างที่ กทม. สั่งหยุดการรื้อถอน เพื่อให้เขาส่งแผนความปลอดภัยอีกรอบก่อน ซึ่งเขาคงไม่คิดว่าตึกจะถล่มลงมา  ตอนนี้เราให้บริษัทรายใหม่เข้ามาบรรเทาเหตุเบื้องต้นด้วยการติดตั้งนั่งร้าน ทำเสาค้ำยันโครงสร้างทั้งหมด และนำผ้าใบมาขึงคลุมป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองกระจายออก พร้อมกับรื้อเศษหิน ที่เกิดจากเหตุการณ์ตึกถล่ม เพื่อป้องกันอันตราย หลังจากนั้นก็เป็นการทำแผนการรื้อถอนอาคารจริง ซึ่งจะมีวิศวกรคอยตรวจสอบอย่างละเอียด 

            ผอ.กองควบคุมอาคาร กล่าวว่า ตามแผนงานที่ได้ดูเบื้องต้น คาดว่าการรื้อถอนจะเสร็จสิ้นภายในใน 2 เดือน ซึ่งน่าจะมีการอนุมัติแผนการรื้อถอนไม่เกินสัปดาห์นี้ โดยตลอดการดำเนินการบรรเทานั้นเราก็ได้ส่งวิศวกรของเราเข้าไปตรวจสอบทุกวัน แต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็น 2 วันครั้ง เพราะการบรรเทาเหตุเบื้องต้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยทาง กทม. เองก็เป็นห่วงเรื่องนี้มาก กลัวจะเกิดเหตุซ้ำรอยอีก 

            “ทั้งนี้ที่ผ่านมาทาง กทม. ก็ได้ประชาสัมพันธ์กับคนในละแวกนั้น และให้ความมั่นใจว่าจะดูแลเรื่องเป็นอย่างดี และให้มั่นใจว่าบริษัทที่จะเข้ารับช่วงต่อจะมีความพร้อมทั้งแผนงาน และเครื่องมือ และจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ซึ่งต้องบอกก่อนว่าในระหว่างการบรรเทาภัยช่วงต้นๆคนละแวกนั้นให้ความร่วมมือดีมาก บ้างก็อนุญาตให้ตั้งนั่งร้านใกล้กำแพงพื้นที่ของเขา ซึ่งเราจะอนุมัติแผนรื้อถอน ไม่เกินสัปดาห์นี้”

บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

เครื่องมือที่ดีในการป้องกันเหตุร้าย คือ บ้านใกล้เรือนเคียง

            นายนพดล กล่าวอีกว่า จากเรื่องที่เกิดขึ้น ทางกทม.จะนำไปเป็นบทเรียน เรื่องการออกกฎหมายและให้ความรู้กับผู้รับเหมาที่จะมาทำการรื้อถอนอาคาร จริงๆแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความคาดไม่ถึงของผู้รับเหมารายก่อน ที่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ที่จริงแล้วมาตรการดูแลที่ดีที่สุด คือการที่คนข้างบ้าน หรือคนรอบข้าง ให้ความร่วมมือแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ทราบ อย่างกรณีที่เราสั่งระงับการรื้อถอนอาคารนี้ ก็ได้รับแจ้งจากคนในละแวกนั้น ว่ามีเศษวัสดุร่วงลงมา มีเศษฝุ่น ปลิวออกมา 

            “ทุกวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งเขาก็มีสื่อโลกออนไลน์ที่เข้าถึงกันหมด  ทำให้เรารู้เท่าทันและเข้าถึงได้รวดเร็วขึ้น เพราะ กทม. เป็นเมืองใหญ่ เป็นเรื่องยากที่เราจะดูแลครอบคลุมได้ทุกเวลา ดังนั้นเครื่องมือที่ดีที่สุดคือคนที่อยู่รอบข้าง เดี๋ยวนี้เราทำงานได้เร็วขึ้นเพราะพอได้รับแจ้งมาเราก็ไปทันที”

            “การร้องเรียนเป็นสิ่งที่ดี เพราะบางครั้งก็ทำให้รู้ในสิ่งที่คาดไม่ถึงได้ อย่างการต่อเติมอาคาร ถ้าเราได้รับแจ้งมาและพบว่าผิดกับแบบที่แจ้งไว้ เราก็ส่งดำเนินคดีหมด ซึ่งแต่ละเขตก็มีคดีอาคารจำนวนมาก อุบัติเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมา หรือไม่มีคนคุมงานจริงๆจังๆแอบทำเอง ถ้ามีวิศกรคุมงานจริงๆ เหตุการณ์ตึกถล่มก็อาจจะไม่เกิด ผมว่าต่อไป เราจะออกเป็นกฎหมายเคร่งครัดกว่าเดิม จากนี้ไปเรื่องของการรื้อถอนจะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรื้อถอนเดี๋ยวนี้ เริ่มเป็นการรื้อตึกอาคารสูงแล้ว เราจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้กับผู้รับเหมา รื้อถอนอาคาร ว่าจะต้องทำแบบไหน ต้องใช้เครื่องมืออย่างไรบ้าง” ผอ.กองควบคุมอาคารกล่าวทิ้งท้าย

             บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

            สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตหรือต้องสัญจรเดินผ่านละแวกพื้นที่อาคารแห่งนี้เป็นประจำ หลายคนก็มีความกังวลว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นอีกหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ เพราะตึกดังกล่าวมีความสูงมาก เมื่อเทียบกับอาคารรอบข้าง 

            ผู้ปกครองรายหนึ่ง  กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของโรงเรียน ซึ่งภายหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ทางผู้บริหารก็ได้หาวิธีแก้ไขปัญหาเท่าที่เขาจะทำได้ซึ่งส่วนตัวก็พอใจกับการดำเนินการดังกล่าวของโรงเรียน แต่เมื่อยังเห็นอาคารดังกล่าวซึ่งอยู่ในสภาพซากปรักหักพัง ก็ยังมีความกังวลใจ 

            “ที่เรากังวลคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้ว ทางผู้รับเหมา หรือเจ้าของพื้นที่จะทำอย่างไรต่อไป  มีแผนอย่างไรบ้าง ถ้าดำเนินการทุบต่อจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลเสียแบบที่ผ่านมา อยากให้ระบุให้ชัดเจนเลยว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร ถ้าหาก กทม.จะยื่นมือออกมาแสดงความรับผิดชอบก็ได้ นั่นก็หมายความว่า ถ้าหากเราพบอะไรผิดปกติก็ต้องแจ้งกับทาง กทม. เป็นต้น” ผู้ปกครองรายนี้กล่าว

            แน่นอน ไม่มีใครต้องการเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นมาอีกในการรื้อถอนครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่จะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้น และนำมาปฏิบัติจริง

             บทเรียนตึกถล่ม... กับการรื้อถอนครั้งใหม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ