คอลัมนิสต์

อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อมตะแห่งศาสตร์พระราชา “เรือผลักดันน้ำ ร.9” ช่วยกู้ทุกวิกฤติน้ำท่วม : จิตตราภรณ์ เสนวงศ์ สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            “เรือผลักดันน้ำ คืออีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำสู่ทะเล เนื่องจากประเทศไทยมีบางพื้นที่ที่มีลักษณะลุ่มต่ำ คอขวด ทำให้น้ำไหลช้า เป็นตัวช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติอุทกภัยมาแล้วหลายครั้ง

            พล.ร.ต.ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี นายทหารเรือผู้สืบสานพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ เล่าว่า ที่ผ่านมาเรือผลักดันน้ำเป็นตัวช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติอุทกภัยมาหลายครั้ง รวมทั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ครั้งล่าสุด ปัจจุบันกรมอู่ทหารเรือ มีเรือผลักดันน้ำ จำนวน 100 ลำ ปกติจะเก็บไว้ที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

น้ำท่วมกรุงเทพฯปี 38 คือจุดเริ่ม

            นายทหารเรือท่านนี้ ย้อนไปถึงความเป็นมาของเรือผลักดันน้ำตามแนวพระราชดำริ ว่า เมื่อครั้งที่กรุงเทพมหานครประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2538 ทรงพระราชดำริว่า “ทหารเรือมีรถสายพานลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก(AAV) และเรือลาดตระเวนลำน้ำ (PBR) ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ วอเตอร์เจ็ต จะช่วยเร่งน้ำให้ไหลเร็วขึ้นจะทำให้น้ำไหลไปสถานีสูบน้ำที่ปลายคลองต่างๆ ได้ปริมาณมากขึ้น”

            ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้นจึงสนองพระราชดำริ โดยสั่งการให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นำรถสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 2 คัน ไปช่วยเหลือผลักดันน้ำ และผลจากการผลักดันน้ำของกองทัพเรือในครั้งนั้น ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่กรมอู่ทหารเรือผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการซ่อมสร้างเรือให้กองทัพเรือ ดำเนินการออกแบบและสร้างเรือดันน้ำชุดแรกจำนวน 9 ลำ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541

            “เครื่องผลักดันน้ำ หรือเครื่องเร่งน้ำตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน กองทัพเรือได้พัฒนาและจัดสร้าง เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล สำหรับประสิทธิภาพสามารถผลักดันน้ำได้ 6,000 แกลลอนต่อนาที ใช้เครื่องยนต์ 220 แรงม้า นับเป็นก้าวแรกของกรมอู่ทหารเรือในการสร้างเครื่องเร่งน้ำครั้งแรกตามรอยพระราชดำริของพระองค์”

            พล.ร.ต.ดร.สมัย เล่าต่อว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ เดินหน้าพัฒนาเรือผลักดันน้ำเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้พัฒนาเรือผลักดันน้ำที่มีประสิทธิภาพ สะดวกในการขนย้ายและติดตั้ง เมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่จำกัด ซึ่งเครื่องผลักดันน้ำนั้น เป็นเครื่องมือเร่งความเร็วของน้ำไหล เพื่อผลักเอาน้ำตรงพื้นที่ที่เครื่องตั้งอยู่ ให้ไหลไปยังปลายทางอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาอุทกภัย โดยกรมอู่ทหารเรือ ได้ดัดแปลงเครื่องผลักดันน้ำด้วยระบบเครื่องพ่นน้ำ หรือวอเตอร์เจ็ต เป็นอุปกรณ์ในระบบขับเคลื่อนเรือ ทำหน้าที่เหมือนใบจักร ปกติจะใช้ในระบบการขับเคลื่อนเรือตรวจการณ์ลำน้ำของกองทัพเรือ

 

ศักยภาพเรือผลักดันน้ำ

            ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี ยังบอกถึงประสิทธิภาพเครื่องพ่นน้ำ หรือวอเตอร์เจ็ต คือ ดูดน้ำจากภายนอกเรือแล้วพ่นไปยังท้ายเรือด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมมวลน้ำ ส่งผลให้เกิดแรงผลักเรือแล่นไปข้างหน้า หลักการทำงานของระบบขับเคลื่อนดังกล่าว เป็นเครื่องสูบน้ำชนิด Mixed-flow หรือ Axial-flow pump ที่นำมาติดตั้งในเรือแทนระบบใบจักร โดยกองทัพเรือใช้ระบบขับเคลื่อนชนิดนี้ในเรือตรวจการณ์ลำน้ำสมัยสงครามเวียดนาม และกรมอู่ทหารเรือได้พัฒนาดัดแปลงเครื่องพ่นน้ำ มาใช้ในภารกิจผลักดันน้ำ

            ในปี 2554 เรือผลักดันน้ำ ถูกสร้างเพิ่มเติมและได้โชว์ศักยภาพอีกครั้งในมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนานตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงเดือนมกราคม 2555 โดย พล.ร.ต.ดร.สมัย เล่าว่า ในมหาอุทกภัยครั้งนั้น เรือผลักดันน้ำที่สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ได้ถูกนำมาใช้ในการเร่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริที่พระองค์ท่านเคยพระราชทานไว้ เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยป้องกันพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร

            “ในวันที่ 18 ตุลาคม 2554 รัฐบาลมีหนังสือถึงกรมอู่ทหารเรือ แต่งตั้งผมเข้าเป็นคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง และจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ ระดมสรรพกำลังสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นมาใหม่ ให้ทันต่อการใช้งานในมหาอุทกภัยครั้งนี้ นำไปติดตั้งตามจุดเร่งน้ำต่างๆ จำนวน 37 ลำ ทำให้ กทม.ชั้นใน ถนนพระราม 2 รอดพ้นจากมวลน้ำครั้งนี้”

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

สร้างเรือผลักดันน้ำครบ 100 ลำ หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

            หลังจากมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้แก่กองทัพเรือจัดสร้างเรือผลักดันน้ำให้ครบ 100 ลำ ที่อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ พร้อมเครื่องมือสนับสนุน มีกำลังคนที่รู้กระบวนการขนย้าย การติดตั้ง การดูแลเครื่องยนต์

            พล.ร.ต.ดร.สมัย ยังบอกด้วยว่า การสร้างเรือผลักดันน้ำในครั้งนั้น ยังสนองแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือ 1.ขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2.ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน 3.ขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน

            “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีรับสั่งว่าประเทศไทยมีที่ลุ่มต่ำ เช่น กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ส่วนในพื้นที่ภาคใต้คือ แอ่งชะอวด แอ่งเชียรใหญ่ พรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช โดยพื้นที่เช่นนี้จะทำให้น้ำไหลช้าและจะไหลอย่างรวดเร็วหากน้ำเพิ่มระดับสูงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงต้องใช้เรือผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ในเส้นทางที่สั้นที่สุด”

            พล.ร.ต.ดร.สมัย ยังเปรียบเทียบให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำ ที่ช่วยลดระดับปริมาณน้ำในไม่กี่ชั่วโมง หากเทียบกับการปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ ภายหลังมีโอกาสลงพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ว่า พื้นที่ตรงนี้วิกฤติมาก ซึ่งกองทัพเรือตั้งจุดสังเกตการณ์โดยใช้เครื่องวัดระดับน้ำ จึงทำให้ทราบว่ามีจุดรับน้ำ ซึ่งน้ำทุกพื้นที่จะไหลมารวมตัวกันใน 2 อำเภอ ของ จ.นครศรีธรรมราช คือ อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด ก่อนที่น้ำจะทะลักมาสู่ อ.ปากพนัง โดยเราเลือกใช้สถานีวัดน้ำที่ อ.เชียรใหญ่ เป็นตัววัด เมื่อเริ่มสูบน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเล ผ่านคลองระบายน้ำที่พระองค์ท่านเคยรับสั่งให้ขุดคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปรากฏว่า หลังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไป 6 ชั่วโมง ระดับน้ำที่ อ.เชียรใหญ่ ลดระดับลงทันที เมื่อเทียบกับน้ำท่วมรอบแรกในต้นเดือนธันวาคม 2559 โดยปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาถึง 4 วัน กว่าน้ำจะลดระดับ จะเห็นว่า การใช้เครื่องผลักดันน้ำกระชากหัวน้ำลงสู่ทะเลได้ผลทันที

            “พระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำชัดเจนที่สุด ทั้งแนวพระราชดำริเรือผลักดันน้ำ ที่ไปสอดรับกับโครงการลุ่มน้ำปากพนังตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่รับสั่งให้ขุดคลองระบายน้ำลงทะเลเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ถือเป็นพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เห็นผลชัดเจนมาก และถ้าความทราบถึงใต้ฝ่าพระบาท คงจะชื่นพระราชหฤทัยว่าคลองที่มีพระราชดำริให้ขุดในปี 2521 เริ่มสร้างปี 2542 สร้างเสร็จในปี 2548 และได้ใช้ระบายน้ำปี 2560 ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้ว ถึงแม้ว่าพระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว แต่งานของพระองค์ท่านแสดงผลให้เห็นชัดเจนถึงพระราชปณิธาน ความทุ่มเท การเสียสละ การมองการณ์ไกลของพระองค์ท่าน ที่มีพระราชประสงค์แก้ปัญหาให้แก่ประชาชน”

             อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

 

เรือผลักดันน้ำ ท้ายน้ำไม่เดือดร้อน

            พล.ร.ต.ดร.สมัย ยังชี้แจงถึงความเข้าใจผิดของประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำบางส่วน ที่กังวลจะได้รับผลกระทบต่อการผลักดันน้ำของกองทัพเรือว่า การผลักดันน้ำของกองทัพเรือยึดหลัก 2 ประการ คือ 1.จะไม่ผลักดันน้ำใส่ชาวบ้าน แต่จะผลักดันน้ำลงสู่ทะเลผ่านคลองลัดที่พระองค์ท่านรับสั่งให้สร้างไว้ 2.การวางเรือผลักดันน้ำในพื้นที่คอขวด เพื่อเร่งความเร็วน้ำให้เต็มขีดความสามารถของคลอง ไม่เช่นนั้นพื้นที่คอขวดเหล่านั้นจะเก็บน้ำและยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

            “ยืนยันว่าการผลักดันน้ำจะไม่ทำให้คนท้ายน้ำเดือดร้อนแน่นอน นอกจากนี้เรือผลักดันน้ำไม่เพียงแต่ช่วยผลักดันน้ำลงทะเลเท่านั้น แต่ยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำในอนาคต”

“มีหลายอย่าง ในบ้านเมืองเรานี้ที่บรรพบุรุษท่านสร้างทำไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังอยู่อาศัย ได้ปลอดภัย มีสุข พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังเช่นพระเจ้าอยู่หัวในรัชสมัยก่อนๆ จนตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ การทำงานของเรือผลักดันน้ำ เป็นการทำหน้าที่เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ยังมิใช่การแก้ปัญหาอย่างเต็มรูปแบบ ยังต้องมีงานในบ้านเมืองเรานี้อีกมากมายที่ทุกหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชน ควรต้องให้ความสำคัญ สนใจ และสามัคคีกันในการทำให้บรรลุผลที่ดี ให้ได้ตามที่พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างแก่พวกเรา” ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กล่าวทิ้งท้าย

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

+++++

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

 “เรือผลักดันน้ำกับภารกิจช่วยกู้วิกฤติน้ำท่วมใต้

            พล.ร.ต.สมัย กล่าวถึงภารกิจ “เรือผลักดันน้ำ” ในสถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคใต้ครั้งล่าสุด ว่ากองทัพเรือได้นำเรือผลักดันน้ำเกือบเต็มจำนวนเข้าช่วยเหลือ ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยนำไปติดตั้งใน 5 พื้นที่วิกฤติ คือ จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำคลองชะอวด–แพรกเมือง อ.หัวไทร มีเรือผลักดันน้ำ 30 ลำ ผลักดันมวลน้ำรวม 14.75 ล้านลูกบาศก์เมตร สะพานคลองระบายน้ำฉุกเฉิน อ.ปากพนัง มีเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ ผลักดันมวลน้ำรวม 3.88 ล้านลูกบาศก์เมตร สะพานคลองหน้าโกฏิ อ.ปากพนัง มีเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ ผลักดันมวลน้ำรวม 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าภายใน 6 วันหากฝนไม่ตกซ้ำจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

            แต่สำหรับ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี นั้น พล.ร.ต.ดร.สมัย แสดงความเป็นห่วงในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มระดับน้ำสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากอำเภออื่นก่อนไหลออกทะเล จึงมีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 2 จุด คือ สะพานจุลจอมเกล้า 2 จำนวน 16 ลำ (ทร. 10 ลำ กทม. 6 ลำ) ผลักดันมวลน้ำรวม 359,840 ลูกบาศก์เมตร ความสูงระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้น 4 ซม. เนื่องจากมวลน้ำด้านเหนือไหลลงมาและมีน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าต้องใช้เวลาถึง 21 วันกว่าระดับน้ำจะเข้าสู่สภาวะปกติ และสะพานข้ามคลองพุนพิน มีเรือผลักดันน้ำ 10 ลำ ผลักดันมวลน้ำรวม 720,000 ลูกบาศก์เมตร ความสูงระดับน้ำในพื้นที่ลดลง 3 ซม.และยังไม่สามารถคาดการณ์ห้วงเวลาที่ระดับน้ำจะเข้าสู่สภาวะปกติได้

            ทั้งนี้ พล.ร.ต.ดร.สมัย ยังสรุปภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ขณะนี้ แม้ว่าบางพื้นที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ภายหลังนำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้ง แต่กำลังพลกองทัพเรือยังวางกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึง จ.นราธิวาส เนื่องจากในระหว่างวันที่ 16–20 มกราคม กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอีก ทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ให้ชุดเฉพาะกิจเรือผลักดันน้ำ จากอู่ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ เตรียมความพร้อม รวมทั้งแจ้งให้กำลังพลเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เพื่อให้มีการเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยต่อไป

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”  

            อมตะแห่งศาสตร์พระราชา : “เรือผลักดันน้ำ ร.9”

            (พล.ร.ต.ดร.สมัย ใจอินทร์)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ