คอลัมนิสต์

อุบัติเหตุรถตู้ ภาพสะท้อนปัญหาขนส่งไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์.... รู้ลึกกับจุฬาฯ


          หลายคนคงทราบกันดีว่า ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันน่าสลด เมื่อมีข่าวว่า รถตู้สายจันทบุรี–กรุงเทพฯ วิ่งข้ามเลนและชนประสานงากับรถกระบะ เกิดประกายไฟลุกท่วมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะรายที่ต้องใช้รถตู้ขนส่งเป็นประจำ ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากชาวจันทบุรีว่าไม่มีทางเลือก เลยต้องนั่งรถตู้

          ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “แนวทางปฏิรูปหลังโศกนาฏกรรมรถตู้” โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เช่น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ มาร่วมอภิปรายเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา

          จากการพูดคุยกับ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาและได้ทำงานวิจัยเพื่อเสนอปรับปรุงรถตู้ ระบุว่า ในระยะสั้น หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพความปลอดภัย เช่น เพิ่มประตูหนีภัย ติดตั้งให้หน้าต่างรถตู้เปิดง่าย มีถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก การจัดที่นั่งเป็น 12 ที่ ไม่ใช่ 15 ที่ เพื่อไม่ให้แออัด รวมถึงการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและบังคับใช้ให้ดีกว่าเดิม

          นอกจากนี้คงต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการคิวรถตู้ โดยต้องมีนิติบุคคลมาควบคุม ให้คนขับรถมีลักษณะเป็นลูกจ้าง เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ความรับผิดชอบหากคนขับกระทำผิด และต้องเปลี่ยนรูปแบบรถ การวิ่งระยะไกลมากกว่า 100 กิโลเมตร ควรใช้รถประเภทอื่น ไม่ใช่รถตู้เช่นนี้

          อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ชี้ว่า ในระยะยาว สังคมไทยจะต้องมองระบบขนส่งมวลชนในแบบใหม่ ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายขนส่งเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคน เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุรถตู้ที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนปัญหาการขนส่งสาธารณะของไทยที่ไม่ครอบคลุม และไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

          “ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐยื่นมือเข้ามาจัดการขนส่งสาธารณะอย่างมหาศาล เพราะเขารู้ว่ารายได้จากการเก็บค่าโดยสารไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งค่ารถ ค่าจ้างคนขับ ค่าน้ำมัน การบำรุงรักษา แต่ของไทย รัฐช่วยน้อยมาก เอกชนต้องทำเองหมด” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ระบุ มิหนำซ้ำรัฐก็เลือกที่จะใช้นโยบายควบคุมราคา ทำให้คนขับมีพฤติกรรมการขับขี่ไม่ปลอดภัย

          รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ระบุว่า เราไม่สามารถคุมไปได้ทุกอย่าง ถ้าจะคุมคุณภาพขนส่งให้ดีก็ต้องยอมรับราคาค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้น เพราะมีต้นทุนความปลอดภัยที่ต้องจ่าย แต่ถ้าจะเอาราคาถูก คุณภาพก็จะน้อยลง ยกตัวอย่างจากรถประจำทางร่วมบริการบางสาย ที่ขับขี่รวดเร็วจนมีคนร้องเรียนมาก เพราะว่ารถสายนี้เป็นของเอกชนที่คนขับต้องไปเช่ารถมาเอง และเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายเองหมด เช่นเดียวกับรถตู้

          “ต้องเข้าใจว่า คนขับรถเขาก็ต้องดิ้นรนให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เพราะเขาไม่มีสวัสดิการ เงินเดือนใดๆ เป็นหลักประกัน รายได้ของเขามาจากการวิ่งรอบ ซึ่งพอรัฐคุมค่าโดยสารแล้ว เขาก็อยากวิ่งให้ได้รอบมากๆ เพื่อให้ได้เงินมาก” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ชี้ พร้อมยกตัวอย่างรถโดยสารของ ขสมก.ที่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าพนักงานขับรถมีเงินเดือน สวัสดิการ สหภาพแรงงานคอยคุ้มครอง

          รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า การขนส่งสาธารณะของรัฐไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัวเพียงวิธีเดียว ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ถึงจะทำรถไฟความเร็วสูงก็ไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศได้ เพราะว่ามีมิติทางพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากรมาเป็นตัวแปร

          “ต้องบอกว่า การสร้างรถไฟจะให้คุ้มทุนต้องสร้างในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากพอ ซึ่งในไทยยังมีพื้นที่อีกมากที่มีความหนาแน่นน้อย เราไม่เหมือนญี่ปุ่นที่คนอยู่กระจุกตัวกันมากกว่า ผมว่าความหนาแน่นของเขามากกว่าเราสัก 10 เท่า ทำให้สร้างระบบรางแล้วคุ้มค่า” รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์อธิบาย พร้อมกล่าวว่า ที่ผ่านมามีบทพิสูจน์แล้วว่า การจัดการโดยเอกชนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังเสียงสะท้อนจากชาวจันทบุรีว่า ไม่มีทางเลือก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่หนาแน่นน้อย ทำให้มีรถวิ่งน้อยไปด้วย

          รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ยกตัวอย่างประสบการณ์ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การเปิดสัมปทานเส้นทางเดินรถ คนที่ได้เส้นทางกำไรดี หนาแน่นมาก ต้องเอาเส้นทางที่กำไรน้อย คนน้อยไปด้วย และไม่จำเป็นที่รัฐจะตั้งกรมและจัดหารถเอง แต่ใช้วิธีการจ้างเดินรถให้เอกชนแข่งกันประมูลค่าโดยสาร อย่างรถโดยสารภายในจุฬาฯ หรือรถปอพ.ก็ใช้วิธีจ้างเอกชนเดินรถ

          รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อเสนอว่า รัฐควรคำนึงถึงรูปแบบรถโดยสารที่คุ้มค่า และควรลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง อู่รถ สถานีขนส่งเพื่อลดภาระผู้โดยสาร ไม่ใช่มีแต่นโยบายควบคุมการขนส่ง แต่ต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือประชาชนมากกว่านี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ