คอลัมนิสต์

เลื่อนเลือกตั้ง60! ไม่มีอะไรในกอไผ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อกระแสข่าวเรื่องเลื่อนเลือกตั้งดังกระหึ่มขึ้น เราจึงไปตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงได้หรือไม่ รายงานโดย ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น

 กระแสหยั่งเชิง ถึง การเลื่อนเลือกตั้งตามโร้ดแม็พ ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ภายในปี 2560  ที่มาจาก “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” ระดับคีย์แมน โดยให้เหตุผลที่ผูกโยงเข้ากับ กระบวนการของการตรากฎหมายหลายฉบับ ดูเหมือนจะสร้างความหวาดวิตกไม่น้อย สำหรับ นักการเมืองที่รอคอย วันลงสนามเลือกตั้ง

            ทำให้ “นักการเมือง” ออกโรง แสดงความเห็นจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของ รัฐบาล ประเด็นการสืบทอดอำนาจ และพยายามเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.”ประกาศความให้ชัด ว่า โร้ดแม็พเลือกตั้ง จะเป็นไปตามกรอบเดิม คือ ภายในปี 2560 หรือไม่

            โดยทันทีทีพ้นเทศกาลหยุดยาวส่งท้ายปี “พล.อ.ประยุทธ์” แถลงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “โร้ดแม็พยังคงเดิม!!

            แต่โร้ดแม็พในที่นี้ ถูกขยายความในแง่การปฏิบัติเท่านั้น คือ 1.มีรัฐธรรมนูญ 2.ทำกฎหมายลูก ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ หากทำเกินเวลาแสดงว่าไม่ทัน ถ้าทำเร็วกว่าหมายถึงว่าทำทัน ต่อจากนั้น คือ ขั้นตอนที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่เขียนกรอบไว้ภายใน 150 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ต้องจัดตั้งรัฐบาลภายใน 90 วัน

             ระยะเวลาทำกฎหมายลูก ที่อธิบายว่า “ทำเกินเวลา หมายถึง ไม่ทัน” นั้น!! ถูกมองว่า อาจสื่อถึงปัจจัยของสถานการณ์ ของการ เลื่อน หรือไม่เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปโร้ดแม็พ

                แต่สิ่งที่คาดเดาและกำลังถูกวิจารณ์นั้น กลับพบคำตอบที่ชัดเจน และเป็นคำยืนยันถึงโร้ดแม็พ ของ คสช. ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ที่ผ่านมาการเจรจา ตกลง และต่อรอง กันมาแล้วหลายรอบ จนได้จุดลงล็อค และลงตัวทุกฝ่าย

                โดยมาตรา 267 สาระมีอยู่ว่า เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ต้องจัดทำร่าง พ.ร.ป. จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึง 4 ฉบับที่จะเป็นตัวกำหนดวันเริ่มกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ให้เสร็จ ภายใน 240  วัน  หรือ 8 เดือนนับแต่มีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ และเมื่อทำเสร็จให้เสนอต่อ “สนช.” พิจารณาเห็นชอบ

                ซึ่งในกระบวนการนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.” ยืนยันโดยตลอดว่า เมื่อทำฉบับใดเสร็จ จะทยอยส่งให้ สนช. โดยไม่ต้องรอจน เวลา 240 วันหมดลง และตามคำยืนยันของ กรธ. ที่มีมา ทันทีที่ รัฐธรรมนูญใหม่มีผลใช้บังคับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. จะเป็น2ฉบับที่ส่งให้ สนช. ไปพร้อมๆ กัน

                ส่วนการทำงานของ “สนช.” หลังได้รับ ร่าง พ.ร.ป. จาก กรธ. แล้วถูกกำหนดไว้ในมาตรา 267 วรรคสี่ สาระความ คือ ต้องรับไว้พิจารณา และเข้ากระบวนการพิจารณาวาระสอง คือ พิจารณาแก้ไขถ้อยคำ-บทบัญญัติให้ตรงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นต้องลงมติเห็นชอบ รวมกระบวนการนี้ สนช. มีเวลาทำงาน 60 วันจะเกินไม่ได้

                เพราะหากเกินเวลา 60 วัน เท่ากับว่า ร่าง พ.ร.ป.ฉบับที่ กรธ. ส่งให้พิจารณานั้นได้รับความเห็นชอบ และเข้าสู่ขั้นตอนพิธีการที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายทันที

            หากมีคำถามว่า ในชั้นของสนช. จะลงมติคว่ำในวาระสาม ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้!! แต่ไม่มีผลกระทบใดต่อเงื่อนเวลาที่ล็อคไว้แล้ว

                สาระของ มาตรา 267 วรรคสี่ ยังเขียนกระบวนการของ สนช. ไว้ด้วยว่า เมื่อ ที่ประชุมสนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป. แล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กรธ. พิจารณาเนื้อหาว่ามีสิ่งที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่  ซึ่ง องค์กรและกรธ. มีเวลาพิจารณาเนื้อหา 10วัน หากไม่พบบทบัญญัติใดขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทันที

                แต่หากพบข้อขัดข้อง กรธ. หรือองค์กรต้องทักท้วงภายใต้กรอบ 10 วันต่อประธาน สนช. จากนั้น ต้องตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ร่วมกันระหว่าง กรธ. และ สนช. เพื่อทบทวนและแก้ไขสิ่งที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ภายใน 15  วัน เมื่อทำแล้วเสร็จ ต้องส่งให้ ที่ประชุม สนช. ลงมติ ว่า จะเอา หรือไม่เอา กับร่างพ.ร.ป. ที่แก้ไข โดย กมธ.

                ในขั้นตอนนี้ กำหนดรายละเอียดไว้ สรุปใจความง่ายๆ คือ หากที่ประชุมสนช. ไม่เอาเนื้อหาที่แก้ไข ต้องรวมเสียงให้เกิน 2ใน 3 ของสมาชิกสนช. ที่มีอยู่ หรือประมาณ 167 เสียงของสนช. ทั้งสิ้น 250  คน แต่หากรวมเสียงไม่เกินนั้น ถือว่า ร่าง พ.ร.ป. ฉบับที่ กมธ.ร่วมกัน ได้รับความเห็นชอบและเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้กฎหมาย

                หากสงสัยว่า เมื่อสนช. รวมเสียงแล้วโหวตร่างฉบับแก้ไข ของกมธ.ร่วมฯ จนตกไป จะเกิดอะไรขึ้น

                คำตอบนี้ ได้รับคำอธิบายจาก “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขานุการ กรธ.” ว่า เมื่อ สนช. ลงมติด้วยเสียงเกิน 2 ใน 3 ไม่เห็นชอบ จะทำให้ร่าง พ.ร.ป. นั้นเป็นอันตกไป หมายความว่าร่างกฎหมายประกอบที่ตกไป คือ ฉบับที่ผ่านการแก้ไขโดยกมธ.ร่วมกันระหว่าง สนช. และ กรธ. และเมื่อเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่า ที่ประชุมยืนยัน ร่าง พ.ร.ป.ฉบับที่ผ่านวาระสาม ของ สนช. เป็นกฎหมายใช้บังคับ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่การกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่  และแม้ประเด็นโหวตตกจะเกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีผลอะไรต่อโร้ดแม็พเลือกตั้ง

          อย่างไรก็ดี โร้ดแม็พจัดทำกฎหมายลูกนั้น จะเริ่มนับหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มีผลใช้บังคับแล้วเท่านั้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ