คอลัมนิสต์

พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ "ตั้งโรงงานผลิตอาวุธจีน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คอลัมน์ตะลุยกองทัพ) พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ตั้งโรงงานผลิตอาวุธจีน : จิตตราภรณ์ เสนวงค์ สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เป็นรูปธรรมในปีนี้ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หวังให้กองทัพพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ และทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นส่วนหนึ่งด้านเศรษฐกิจ สามารถส่งออกนำเงินเข้าประเทศได้ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางและแนวนโยบายความมั่นคงของโลกในอนาคต

            สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงกลายเป็นประเทศแรก ที่กระทรวงกลาโหมต้องการให้เข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธในไทยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนจำนวนไม่น้อยประจำการอยู่ในกองทัพไทย และบางส่วนมีการลงนามจัดซื้อ เช่นรถถัง VT- 4 จำนวน 28 คัน และเตรียมจะจัดหาต่อในระยะ 2  จนครบ 1 กองพัน (กองพันละ 49 คัน) ในปีงบประมาณ 2560 นี้ รวมถึงแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำของกองทัพเรือ

            ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากนโยบายทางการเมือง และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้ระยะหลังการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพมาจากจีนมากขึ้น ทั้งๆที่กองทัพบกมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับรถถังจากจีนรุ่น T69 ที่มีปัญหาด้านการซ่อมบำรุงจนต้องปลดประจำการและนำไปทำปะการังเทียม ส่วนกองทัพเรือเคยมีปัญหาระบบอาวุธจีนที่ติดตั้งในเรือหลวงเรือหลวงเจ้าพระยาและเรือหลวงนเรศวร

             พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ "ตั้งโรงงานผลิตอาวุธจีน"

            พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ "ตั้งโรงงานผลิตอาวุธจีน"

            "กองทัพไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนใช้ยุทโธปกรณ์ของจีนจำนวนมาก แต่มีปัญหาด้านการซ่อมบำรุง ต้องนำยุทโธปกรณ์ลงเรือไปซ่อมที่จีน ซึ่งยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร หากจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาวุธในประเทศไทย จะส่งผลดีทั้งในส่วนของกองทัพ เราจะได้เรียนรู้เทคโนโลยี และสามารถพึ่งพาตังเองได้ รวมถึงผลิตจำหน่ายส่งต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ เนื่องจากจีนคงไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงให้ ซึ่งตรงนี้เราต้องพัฒนาหาความรู้กันต่อไป" แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมกล่าว

            ขณะนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมาบให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จัดสัมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพ กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านทหาร จำนวน 4 ครั้ง โดยการสัมนาจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2560 นี้ ก่อนจะเสนอแนวทางเป็นรูปธรรมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และส่งเสริมให้เอกชนเป็นผู้ผลิตแทนภาครัฐ รวมถึงความต้องการให้เกิดความร่วมมือกับมิตรประเทศ การจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหาร

            "สำหรับพื้นที่ตั้งโรงงานผลิตอาวุธที่จีนจะเข้ามาลงทุนนั้น กำลังพิจารณาพื้นที่เศรษจกิจพิเศษในการจัดตั้งโรงงาน เนื่องจากมีพื้นที่รองรับเพียงพอ เบื้องต้นการดำเนินการจะตั้งคณะทำงานพูดคุยระหว่างไทย-จีน ว่าสามารถ ดำเนินการอะไรได้ยังไง รวมถึงแผนระยะยาวเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้องพิจารณาละเอียดถี่ถ้วน" แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมกล่าว

            นอกจากนี้สภากลาโหม กำลังพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(สทป.)ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน เดิมที สทป.อยู่บนพื้นฐานของพระราชกฤษฎีกา(พรฎ) ซึ่งมีข้อจำกัดห้ามร่วมทุน ลงทุน ผลิตขายได้ จึงต้องดำเนินการให้ สทป.ออกจาก พรฎ.และปรับเป็น พรบ. เชื่อมโยงและอยู่ภายใต้บอร์ดเดียวกันกับ พรบ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศตัวใหม่ และขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ