คอลัมนิสต์

"ส่อง กก. ป.ป.ช. “กติกาใหม่” ใคร? ขาดคุณสมบัติ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภายใต้กติกาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ องค์กรอิสระหลายแห่งอาจได้รับผลกระทบ เฉกเช่นเดียวกับ ป.ป.ช.


          ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คุณสมบัติของ" คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุริตแห่งชาติ "( ป.ป.ช.) ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 232 ว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติ อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 
          (1 ) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า อธิบดีผู้พิพากษา มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี  นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
          ( 2 ) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
          ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 216 ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
          (3 )  ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา202
          ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในมาตรา 202  ได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ปปช. ไว้ ดังนี้
         (1) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
         ...(4) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา  
         และเมื่อนำเอาคุณสมบัติของ กรรมการ ป.ปช.และคุณสมบัติต้องห้ามตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาส่องดู กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน พบว่า มีหลายคนอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ และต้องพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ป.ป.ช. มีการยกเว้น ไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้บังคับกับกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ดังนี้
      1. พล.ต.อ วัชรพล  ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. น่าจะเข้าข่ายต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช.  เนื่องจาก เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 202 (4 ) ที่บัญญัติว่า เคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. 
       2. ปรีชา เลิศกมลมาศ  เนื่องจากนายปรีชา ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553  ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2552 นายปรีชา ได้เป็น เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ จะเห็นได้ว่านายปรีชา เป็นระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.  จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช  ตามมาตรา 232 (2 ) ที่ระบุว่า  รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
         3 .พล.ต.อ สถาพร หลาวทอง   เป็นจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2553  ซึ่งเทียบเท่าอธิบดี และในปี 2555  ได้รับเลือกเป็น กรรมการ ป.ป.ช. จะเห็นได้ว่า พล.ต.อ. สถาพร เป็นระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.  จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช ตามมาตรา 232 (2 ) ที่ระบุว่า รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
          4. นายณรงค์ รัฐอมฤต  เป็น เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเมื่อปี2555 และได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2556  แต่เมื่อนายณรงค์  เป็นระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช ตามมาตรา 232 (2 ) ที่ระบุว่ารับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
          5.น.ส. สุภา ปิยะจิตติ   แม้ว่า น.ส.สุภา จะเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552  ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ แต่เมื่อ น.ส. สุภา  ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อ  9 เมษายน 2557 จึงต้องถือว่า น.ส.สุภา รับราชการในตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ เพียง 4 ปี เศษเท่านั้น  จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช ตามมาตรา 232 (2 ) ที่ระบุว่ารับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
        6.นายวิทยา อาคมพิทักษ์  เคยดำรงตำแหน่ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557  จึงเข้าลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.   เพราะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามคนที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ตามมาตรา   216 (3 )และมาตรา 202 (1 ) ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่
        7. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ  เนื่องจาก น.ส.สุวณา เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่ปี 2549 และได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช เมื่อปี 2558  นางสุวณา จึงดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.  ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด นางสุวณา จึงดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ต่อไปได้ 
        8.นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร  เนื่องจากนายสุรศักดิ์ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2551  และได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 นายสุรศักดิ์  จึงดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการ ป.ป.ช. จึงมีคุณสมบัติเข้าข่ายที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช  ต่อไปได้ ตามมาตรา 232 (1)

        9. พล.อ บุณยวัจน์ เครือหงส์  เป็น ผอ. สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ เมื่อ ปี 2554 แต่เมื่อ พล.อ.บุณยวัจน์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 จึงดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ปปช. จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช ตามมาตรา 232 (2 ) ที่ระบุว่ารับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
          ทั้งหมดคือ ภาพรวมของ กรรมการ ปปช. ชุดปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากกติกาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่

        กลุ่มเสี่ยง
        พล.ต.อ วัชรพล ประสารราชกิจ
        ปรีชา เลิศกมลมาศ
        พล.ต.อ สถาพร หลาวทอง
        ณรงค์ รัฐอมฤต
       สุภา ปิยะจิตติ
       วิทยา อาคมพิทักษ์
        พล.อ บุณยวัจน์เครือหงส์
        กลุ่มไม่เสี่ยง
       สุวณา สุวรรณจูฑะ
       สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร
 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ