คอลัมนิสต์

ตรวจการบ้านตำรวจแก้รถติด 21 สาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่านมาหลายวันแล้วโครงการแก้ปัญหาการจราจรเขตกรุงเทพและปริมณฑล วันนี้เรามาตรวจการบ้านกันว่าถนน 21 สายการจาจรดีขึ้นกว่าวันวานไหม

          ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงปัญหาการจราจรติดอย่างหนักในกรุงเทพฯและปริมณฑล จนหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องขยับตัวกระตือรือร้นทำงานจากสภาวะนิ่งเงียบกับปัญหาดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ และมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ ล่าสุดมีการประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไล่ไปตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขให้สภาพรถติดคลี่คลายลงไป

          ปัญหารถติดในเมืองกรุงได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่หลายฝ่ายต้องออกมาส่งสัญญาณแก้ไข โดยเฉพาะตำรวจจราจร ซึ่งถือเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องแก้ไขบริหารจัดการปัญหาจราจรให้เข้าที่เข้าทาง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และมีความพยายามกับปัญหานี้ผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่เหมือน “เกาไม่ถูกที่คัน” ปัญหารถติดยังคงเกิดขึ้นและนับวันจะยิ่งทวีคูณ เพราะปริมาณรถในเมืองกรุงเพิ่มขึ้นทุกวัน จนกระทั่งการจราจรติดขัดถือเป็น “ปัญหาคาราคาซัง” ที่แก้ไม่ได้อย่างถาวร

          ล่าสุดในยุคของผู้นำตำรวจนครบาล โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ที่ต้องเป็น “แม่ทัพ” ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ให้ความสนใจลงมาแก้ปัญหาจริงจัง และต้องให้ได้ผลลัพธ์ที่คลี่คลายอย่างเร็วที่สุด เริ่มจากโครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน (Before...and After : Will be better)” จุดประสงค์แรก คือต้องการลดค่าเฉลี่ยปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นทั้งหมด 21 ถนนสายหลักทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นแผนแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน

          โครงการนี้เหมือนเป็นใบเบิกทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาให้ได้ในระยะเวลา 1 เดือน พร้อมกับลงนามคำสั่ง บช.น.ที่ 268/2559 ลงวันที่ 7 กันยายน 2559 เรื่อง แต่งตั้งชุดปฏิบัติการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางสายต่างๆ เพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ดีขึ้นแบบบูรณาการอย่างรวดเร็วถูกต้องตรงกับปัญหา และมีผู้รับผิดชอบแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน พร้อมทั้งแต่งตั้งชุดปฏิบัติการบริหารจัดการจราจรบนถนนสายต่างๆ โดยมีผู้บัญชาการสถานการณ์การจราจรคอยสั่งการควบคุม มีอำนาจบริหาร สั่งการกำลังพลด้านการจราจรของหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดสายและมีอำนาจปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นบนท้องถนน อีกทั้งจัดชุดสนับสนุนและชุดเผชิญเหตุ ชุดเคลื่อนที่เร็ว คอยสังเกตการณ์ กวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจร

          จากรายงานสถิติจำนวนปริมาณสายประชาชนร้องเรียนปัญหาจราจร จากศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร 1197 (บก.02) พบว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีประชาชนได้แจ้งปัญหาสภาพการจราจรเข้ามา 800-1,200 สาย จากจำนวนประชาชนที่โทรเข้ามา 25,357 สาย ขณะที่เดือนกันยายนมีค่าเฉลี่ยร้องเรียนปัญหารถติดเฉลี่ยวันละ 247 สาย จนกระทั่งเมื่อวันที่่ 19-21 กันยายน พบว่ามีสายร้องเรียนลดลงเหลือตามลำดับเหลือเพียงร้อยกว่าสายเท่านั้น

          สำหรับถนนสายหลักจำนวน 21 สาย ที่มักมีประชาชนโทรเข้ามาแจ้งปัญหาจราจรติดขัด ประกอบด้วย 1.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณถนนพระราม 7 ข้ามแยกมาถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา 2.ถนนงามวงศ์วาน-ถนนแจ้งวัฒนะ มักจะมีปัญหาบริเวณศูนย์ราชการ และบริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าในช่วงเย็นและวันหยุด 3.ถนนวิภาวดี มีปัญหาบริเวณสนามบินดอนเมือง และบริเวณด้านหน้าโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โรงเรียนเซ็นต์จอห์น ซึ่งจะมีปัญหาในชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงเวลาหลังเลิกเรียนเวลาประมาณ 16.00 น. 4.ถนนพหลโยธิน มีปัญหาในช่วงบริเวณแนวการก่อสร้าง 5.ถนนรามอินทรา บริเวณวงเวียนบางเขน 6.ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนประดิษฐ์มนูธรรม จะติดต่อเนื่องจากช่วงมักกะสัน-ถนนพระราม9-ถนนรามคำแหง 7.ถนนลาดพร้าว ปัญหาหนักที่บริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ ซอยลาดพร้าว 80 ช่วงโชคชัย 4

          8.ถนนสุขุมวิท บริเวณแยกพระโขนง 9.ถนนสาทร บริเวณกรุงธนบุรีข้ามสะพานตากสิน 10.ถนนพระราม 4 มีปัญหาบริเวณถนนวิทยุไปศาลาแดง 11.ถนนเพชรเกษม บริเวณฝั่งขาเข้า ส่วนถนนอื่นๆ มีสภาพการจราจรเคลื่อนตัวได้ดี เมื่อตรวจสอบสายร้องเรียนจากประชาชนที่โทรเข้ามาแจ้งผ่านสายด่วน 1197 ของศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่แจ้งว่าสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดน้อยลง สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการจราจรคลี่คลายดีขึ้นเกี่ยวกับการเร่งระบายรถท้ายแถวสะสมในชั่วโมงเร่งด่วน บางส่วนที่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในพื้นที่มีฝนตกและมีปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น

          ขณะที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาจราจรติดขัดมาโดยตลอด พร้อมกับหารือถึงปัญหาวิเคราะห์สาเหตุในถนนสายหลักแต่ละสาย โดยพบว่าปัญหาหลักเกิดจากการขาดวินัยของผู้ขับขี่ ทั้งการขับขี่เบียดแทรก ขับขี่รถย้อนศร จอดรถกีดขวางการจราจร มีเกิดอุบัติเหตุ มีน้ำท่วมขัง และปริมาณรถกับเส้นทางคมนาคมในกรุงเทพฯที่รองรับรถมีไม่เพียงพอและมีการขยายเพิ่มได้น้อย

          ข้อมูลกรมขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 พบว่ามีปริมาณรถจดทะเบียนกว่า 9 ล้านคัน แต่พื้นที่สามารถรองรับรถได้ประมาณ 2 ล้านคัน ดังนั้นเห็นได้ว่าปริมาณถนนมีน้อยกว่าจำนวนรถอย่างมาก จึงมาถึงโจทย์ใหญ่ว่าจะแก้ไขอย่างไรให้การจราจรไหลลื่นไม่ติดขัดหยุดนิ่งสนิทได้ และการที่จราจรติดหนึบยังเป็นส่วนหนึ่งของการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแต่ละปีต้องเผาผลาญไปกับการเสียเวลาบนท้องถนนก็นับเป็นตัวเลขมหาศาลอยู่

 

ตรวจการบ้านตำรวจแก้รถติด 21 สาย

          พล.ต.ท.ศานิตย์ ให้มุมมองถึงการแก้ปัญหารถติดว่า อีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาจราจรในบางพื้นที่ คือ การเพิ่มช่องทางพื้นที่ถนนให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้ โดยจะต้องขอความร่วมมือประสานงานเพิ่มช่องทางจราจรในเส้นทางที่ทำได้ เช่น ถนนทองหล่อ สามารถขยายพื้นผิวการจราจรให้เพิ่มขึ้น การสร้างถนนตัดผ่านทางรถไฟฟ้าสายแม่น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหารถขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางเชื่อมต่อถนนพระราม 3 โดยมีกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยยินดีที่เร่งดำเนินการออกแบบสร้าง จุดไหนควรขยายเส้นทาง จุดไหนควรสร้างสะพานลอยคนข้าม หรือจุดไหนมีปัญหาอะไรก็ต้องแก้ไปทีละเส้นทาง

          ขณะเดียวกัน กลยุทธ์การสื่อสาร ก็ถูกงัดออกมาใช้ โดยได้หารือว่าจะเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารกับประชาชน อาจเปิดเพจเฟซบุ๊ก ไลน์แอคเคาน์ เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้โทรแจ้งที่ บก.02 โทร 1197 ส่วนการวัดประเมินผลงานการแก้ไขปัญหาจราจร จะดูที่ความเร็วเฉลี่ยรถติดขัดในแต่ละพื้นที่ ค่าเฉลี่ยปริมาณการเร่งระบายท้ายแถวสะสมในช่วงโมงเร่งด่วน และการร้องเรียนของประชาชน

ตรวจการบ้านตำรวจแก้รถติด 21 สาย

          สำหรับถนนสายหลัก 21 สาย ที่ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาจราจร คือ 1.ถนนพระราม 9, 2.ถนนเพชรบุรี, 3.ถนนแจ้งวัฒนะ, 4.ถนนงามวงศ์วาน, 5.ถนนพหลโยธิน, 6.ถนนรามอินทรา, 7.ถนนประเสริฐมนูกิจ, 8.ถนนประดิษฐ์มนูธรรม, 9.ถนนลาดพร้าว, 10.ถนนรามคำแหง, 11.ถนนรัชดาภิเษก, 12.ถนนสุขุมวิท, 13.ถนนสาธร, 14.ถนนพระราม 4, 15.ถนนบรมราชชนนี, 16.ถนนจรัญสนิทวงศ์, 17.ถนนเพชรเกษม, 18.ถนนพระราม 2, 19.ถนนวิภาวดี, 20.ถนนคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี และ 21.ทางด่วนเฉลิมมหานคร ทางด่วนอโศก ทางด่วนศรีรัช ทางพิเศษอุตราภิมุข

          การที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างพร้อมใจปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ ผนวกกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่งผลให้ในหลายเส้นทางที่การจราจรเคยติดหนึบกระดื๊บไปแต่ละเมตรใช้เวลานาน คลี่คลายขึ้นบ้าง แม้จะไม่สามารถพลิกตลบสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ดังเนรมิต แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

          ล่าสุดข้อมูลการระบายจราจร 21 เส้นทางที่ติดขัดตามโครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน” จากการรายงานเมื่อวันที่ 22 กันยายน มีหลายเส้นทางดีขึ้น ประมาณ 12 เส้นทางในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อาทิ 1.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 07.40 น. จากเดิม 08.40 น. ถือว่าเร็วขึ้น 2.ถนนงามวงศ์วาน ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.22 น.จากเดิม 08.40 น. ถือว่าเร็วขึ้น 3.ถนนแจ้งวัฒนะช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 07.08 น.จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น 4.ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 07.46 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น 5.ถนนประเสริฐมนูกิจ ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.03 น. จากเดิม 08.45 น. ถือว่าเร็วขึ้น 6.ถนนประดิษฐ์มนูธรรมช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.29 น.จากเดิม 09.00 น. ถือว่าเร็วขึ้น 7.ถนนเพชรบุรี ช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.12 น.จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น 8.ถนนพระราม 2 ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.05 น. จากเดิม 08.55 น. ถือว่าเร็วขึ้น 9.ถนนเพชรเกษมช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.41 น.จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น

          10.ถนนจรัญสนิทวงศ์ช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 07.41 น.จากเดิม 08.30 น. ถือว่าเร็วขึ้น 11.ถนนบรมราชชนนีช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.04 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น และ 12.ทางด่วนมหานคร ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.00 น.จากเดิม 08.55 น.ถือว่าเร็วขึ้น /ทางด่วนอโศก ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.44 น.จากเดิม 08.50 น. ถือว่าเร็วขึ้น.ทางพิเศษศรรัช ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.27 น. จากเดิม 08.30 น.ถือว่าเร็วขึ้น และ ทางยกระดับอุดรฯ ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.30 น. จากเดิม 08.15 น.ถือว่าช้าลง

          ส่วนเส้นทางที่ยังคงติดขัดในระดับเดิม อาทิ 13.ถนนพหลโยธิน ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.51 น.จากเดิม 08.50 น.ถือว่า ปกติ 14.ถนนรามอินทรา ช่วงเช้าระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.52 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าปกติ 15.ถนนสาทรช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.56 น.จากเดิม08.55 น. ถือว่าปกติ 16.ถนนพระราม 4 ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.49 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าปกติ และ17.คู่ขนานคู่ลอยฟ้าช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.30 น. จากเดิม 08.30 น. ถือว่าปกติ

          อย่างไรก็ตาม ในบางเส้นทางกลับพบว่าจราจรติดขัดแย่ลง เช่น 18.ถนนลาดพร้าวช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.53 น. จากเดิม 08.30 น. ถือว่าช้าลง 19.ถนนรามคำแหงช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 09.20 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าช้าลง 20.ถนนพระราม 9 ช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 09.00 น.จากเดิม 08.30 น. ถือว่าช้าลง และ21.ถนนสุมขุวิทช่วงเช้า ระบายการจราจรหมดตั้งแต่เวลา 08.55 น. จากเดิม 08.50 น. ถือว่าช้าลง

          หากตรวจการบ้านก็จะพอสรุปได้ว่า “ดีขึ้น” เกือบถึงครึ่งของจำนวนเส้นทางที่มีปัญหาจราจรอย่างหนัก แม้บางเส้นทางอัตราเฉลี่ยความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนช้าลงก็ตาม

          เพราะในความเป็นจริงมีปัจจัยองค์ประกอบอีกหลายด้านที่ต้องเข้าไปศึกษาและแก้ไขควบคู่ไปด้วย ทั้งเรื่องความแออัดของจำนวนประชากรและยานพาหนะในเมืองหลวง ซึ่งต้องใช้การวางแผนระยะยาว รวมถึงโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพฯก็ยังเป็นเรื่องที่หาทางออกยาก หรือบางคนใช้คำว่า “แก้ไม่ได้หรอก”

          แต่อย่างน้อยการลงมือปฎิบัติเพื่อแก้ไข...ก็ยังช่วยให้สถานการณ์ปัญหาจราจรไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ