คอลัมนิสต์

ปรับรุก 3 จว.ชายแดนใต้‘สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ’เขตเซฟตี้โซน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรับรุก 3 จว.ชายแดนใต้‘สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ’เขตเซฟตี้โซน : ตะลุยกองทัพ  โดยจิตตราภรณ์ เสนวงศ์

มีความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ที่ถูกคัดเลือกให้เป็น “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโนบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่านกลไกประสานประชารัฐ จะถูกเสนอให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การนำของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ว่าการดูแลรักษาความปลอดภัย 33 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอ จ.สงขลา จะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง แต่การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างครั้งต่อไปจะหยิบยกเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยมาพิจารณาและเห็นชอบร่วมกัน โดยเบื้องต้น คณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ ได้ให้คำจำกัดความพื้นที่ปลอดภัยว่า ไม่ควรกำหนดเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน แต่ควรสร้างความปลอดภัยให้แก่พื้นที่สาธารณะในทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ออกไปประกอบอาชีพ อาทิ พื้นที่เศรษฐกิจ ตลาด ห้างร้าน โรงเรียน ถนน เส้นทางรถไฟ โรงพยาบาล

โดย “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ประกอบด้วย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบในด้านอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านที่เชื่อมไปยังพื้นที่ธุรกิจ อุตสาหกรรม การค้าของ จ.สงขลา และยังเป็นเส้นทางหลักเพื่อผ่านไปยัง จ.ยะลา จ.นราธิวาส โดยเอกชนในพื้นที่มีความพร้อมและมีการลงทุนไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท และมีแผนการลงทุนในปี 2560-2561 อีกประมาณ 4,500 ล้านบาท

ส่วน อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาแบบพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน หรือเมืองท่องเที่ยว เพราะอยู่ปลายด้ามขวานของประเทศไทย ที่มีอัตลักษณ์ในความเป็นพหุสังคมสูงและสามารถเชื่อมต่อกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ตลอดจนถึงความปลอดภัยเนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดน้อยที่สุด อีกทั้งมีทรัพยากรที่สมบูรณ์และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามตามธรรมชาติ สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ โดยจะมีการพัฒนาท่าอากาศยานเบตงให้แล้วเสร็จในปี 2561

ขณะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จะเน้นเรื่องการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ จัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี เนื่องจากมีมูลค่าการซื้อขายโดยรวมสูงเป็นอันดับ 3 ของพื้นที่ภาคใต้ และยังเป็นเมืองชายแดนที่ประชากรทั้งสองประเทศไปมาหาสู่ในลักษณะเครือญาติ โดยมีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับโลกมุสลิม นอกจากนี้ หน่วยงานราชการมีความพร้อมและมีการสร้างสถานีรถไฟ เพื่อเป็นสถานีระหว่างประเทศ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล สถานศึกษา ที่ครบถ้วน โดยรัฐบาลมีความตั้งใจยกระดับให้เป็น สิงคโปร์ในประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทุกเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม

“การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย แต่หากไปตรงกับพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจก็นับว่าส่งเสริมกัน เนื่องจากหากเกิดความปลอดภัย คนก็จะลงทุนและทำให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ การดำเนินการใดๆ ก็ตามในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เรื่องความปลอดภัยเป็นปัจจัยแรกที่ต้องให้ความสำคัญและรัฐบาลก็เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าว โดยทางคณะการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เร่งรัดอยู่ เราเอาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นตัวกำหนดพื้นที่ปลอดภัย" พล.อ.อักษรา กล่าว

ทั้งนี้ หาก 3 เมืองต้นแบบมีความปลอดภัย จะกลายเป็นหมุดสำคัญในการขึงความเจริญให้เกิดขึ้นและเชื่อมโยงไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการนำประโยชน์และความสุขมาสู่ใจของประชาชน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ผ่านการแทรกซึมการทำงานที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีงาน มีรายได้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ