คอลัมนิสต์

เสี้ยวชีวิต'ม้ง':รบแลกที่ดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสี้ยวชีวิต'ม้ง':รบแลกที่ดิน : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

 
          กรณีชาวม้งทับเบิก ออกมาคัดค้านการเข้ารื้อถอนรีสอร์ท ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการเพราะกระทำผิดกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังทุกฝ่าย

          จริงอยู่ การรื้อถอนรีสอร์ทผิดกฎหมายครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับชาวม้งที่อาศัยอยู่บนภูทับเบิก ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่อย่างใด เพราะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2509

          การประกอบธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ก็มีทั้งที่เป็นชาวม้งทับเบิก และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนนายทุนจากภายนอก ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง

          ดังที่ทราบกัน ชาวม้งอาศัยอยู่บนเทือกเขา บริเวณรอยต่อพิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย มานานกว่า 50 ปีแล้ว

          “ม้ง 3 จังหวัด” มิใช่มีแต่คอมมิวนิสต์ หรือ “สหายม้ง” หากแต่ยังมี “อาสาสมัครนักรบม้ง” ที่ช่วยกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 ทำการสู้รบกับคอมมิวนิสต์

          ปี 2513 รัฐบาลจอมพลถนอม เปิดยุทธการถล่มฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์บนภูหินร่องกล้า พร้อมกับการรุกทางการเมือง โดยเปิดพื้นที่บ้านเข็กน้อย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นฐานสนับสนุนการทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน”

          กองทัพภาคที่ 3 ได้ชักชวนชาวม้งเข้าร่วมเป็น “ชาวเขาอาสาสมัครช่วยรบ” (ชขส.) ช่วยเหลือทางราชการในการต่อสู้กับ “สหายม้ง” ในสมรภูมิภูหินร่องกล้า, ภูลมโล, ภูทับเบิก และเขาค้อ

          ฝ่ายทหารให้คำมั่นสัญญาแก่ชาวม้ง “ชขส.” ว่า หากการสู้รบสิ้นสุดลงเมื่อใด จะให้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน

          บ้านเข็กน้อย จึงเป็นที่ตั้งของกองร้อยชาวเขาอาสาสมัครที่ 31 และเป็นศูนย์อพยพชาวม้ง ที่หลบหนีออกมาจากฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์

          ชาวม้งยอมเอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าร่วมเป็น “ชขส.” ทำการต่อสู้กับสหายม้งแดง จนกระทั่งสิ้นสุดการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาล และกองทัพปลดแอกประชาชนไทย ในปี 2527

          ปี 2515 กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้พื้นที่ 2 หมื่นไร่ เพื่อความมั่นคง โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติขณะนั้น มีการนำชาวม้งที่อาสาสมัครช่วยรบมาอยู่อาศัย และทำกิน ตามยุทธศาสตร์ทางทหาร

          ปี 2518 มีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ กำหนดให้ที่ดินในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ เป็นที่ราชพัสดุ และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ รวมถึงที่ดินเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาคที่ 3

          ปี 2525 สงครามประชาชนสิ้นสุดลง กองทัพภาคที่ 3 ทำเรื่องขอส่งคืนพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ให้แก่กรมธนารักษ์ โดยมิได้มีการปรึกษาหารือกับราษฎรในพื้นที่ โดยเฉพาะ ชขส. ที่ทางกองทัพภาคที่ 3 เคยให้คำมั่นว่า เมื่อการสู้รบยุติแล้ว ทุกคนจะได้สิทธิอยู่อาศัยและทำกินชั่วลูกชั่วหลาน

          นี่เป็นกรณีตัวอย่างของชะตากรรมชาวม้ง ที่ช่วยฝ่ายรัฐบาลสู้รบกับคอมมิวนิสต์

          อีกด้านหนึ่ง “สหายม้ง” ที่แปรสภาพเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามนโยบาย 66/23 กองทัพภาคที่ 3 จัดให้ชาวม้งบางส่วนไปอยู่ตามพื้นที่เดิมเช่นบ้านทับเบิก

          นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวม้งทับเบิกได้กลับมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา หรือปัจจุบันคือ ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 38 จ.เพชรบูรณ์ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

          ชาวม้งทับเบิก ทำไร่กะหล่ำปลีส่งขายตลาดไทกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

          จวบจนคำว่า “การท่องเที่ยว” เข้ามาสู่ชุมชน เพราะนโยบายการท่องเที่ยว “อันซีนไทยแลนด์” ที่ จ.เพชรบูรณ์ เปิดจุดขายใหม่ของภูทับเบิก ด้วยสโลแกน “สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” นักท่องเที่ยวจึงหลั่งไหลมาเที่ยวดูไร่กะหล่ำปลีกันมากมาย

          ไม่นานนัก ชาวม้งทับเบิกก็สร้างบ้านพักให้บริการนักท่องเที่ยว ตามมาด้วยกลุ่มทุนนอกพื้นที่ จนเกิดปัญหารีสอร์ทสีลูกกวาดเต็มภูทับเบิก

          น้อยคนนักที่จะทราบว่า ต้นตอของปัญหาภูทับเบิกคืออะไร? หรือในวันนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องขอที่ดินทำกินจากชาวม้งเข็กน้อย

          “ผิดตั้งแต่เกิดมาเป็นคนม้ง” ถ้อยวลีที่ฟังแล้วสะใจ อาจไม่ใช่คำพูดที่ฟังแล้วผ่านเลยไป อยากให้ทุกฝ่ายตั้งสติในการแก้ไขความขัดแย้งกรณีภูทับเบิก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ